ตลาดเล็งยกเลิก 'อาเซียนลิงค์'

ตลาดเล็งยกเลิก 'อาเซียนลิงค์'

ตลาดเล็งยกเลิก “อาเซียนลิงค์” ค่าใช้จ่ายสูง-นักลงทุนสนใจน้อย

ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว ทำให้การลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้น ซึ่งตลาดที่ได้รับความนิยมส่วนใหญ่ ยังเป็นตลาดหุ้นที่พัฒนาแล้ว ทั้งสหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น และฮ่องกง ปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้การเติบโตอยู่ระดับที่ดี คือ การเปิดให้นักลงทุนสามารถนำเงินไปลงทุนต่างประเทศได้อย่างอิสระ ทำให้นักลงทุนหันไปซื้อขายในตลาดหุ้นโดยตรง

เกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยให้ความเห็นว่าการลงทุนในต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นนั้น เป็นไปตามการเติบโตของนักลงทุนในประเทศที่เริ่มมีกำลังการลงทุน และต้องการกระจายความเสี่ยงไปยังต่างประเทศ ทำให้เห็นการเติบโตยังอยู่ระดับที่ดี โดยเฉพาะการลงทุนกลุ่มประเทศขนาดใหญ่

ส่วนการลงทุนในอาเซียนนั้น นักลงทุนก็ให้ความสนใจเพิ่มขึ้นตามลำดับแต่อาจต้องใช้ความระมัดระวัง เพราะต้องยอมรับว่าทำบทวิเคราะห์หุ้นประเทศต่างๆในอาเซียนอาจจะไม่ครอบคลุมเพียงพอ มีนักวิเคราะห์เผยแพร่งานวิจัยค่อนข้างน้อย ต่างจากไทยที่มีบทวิเคราะห์ให้กับนักลงทุนน่าจะได้ว่าสูงสุดในอาเซียน

สำหรับการเชื่อมโยงตลาดหุ้นในอาเซียน หรือ อาเซียน ลิงค์เกจ ปัจจุบันมีการให้บริการ 3 ประเทศคือไทย มาเลเซีย และ สิงคโปร์ เป็นทางเลือกของนักลงทุนช่วงที่ผ่านมาให้สามารถซื้อขายหุ้นใน 3 ตลาดได้ แต่ยอมรับว่าอาจจะมีค่าใช้จ่ายที่สูง ซึ่งตลาดหลักทรัพย์มีแนวคิดที่จะหารือ เพื่อยกเลิกการทำโครงการดังกล่าวในอนาคต

ปริญญ์  พานิชภักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ซี แอล เอส เอ (ประเทศไทย) จำกัด ให้ความเห็นว่า ปัจจุบันการซื้อขายหุ้นตลาดหุ้นในต่างประเทศมีการเติบโตค่อนข้างมาก เมื่อเทียบกับอดีต ทางหน่วยงานของภาครัฐโดยเฉพาะธนาคารแห่งประเทศไทยเริ่มเปิดกว้างให้การลงทุนต่างประเทศนั้น สามารถทำได้ง่ายขึ้นและสามารถบอกได้ว่า การลงทุนต่างประเทศไม่มีอุปสรรค

การลงทุนต่างประเทศตอนนี้ทำได้ง่ายมีความสะดวกมากขึ้น นักลงทุนสามารถนำเงินออกไปลงทุนต่างประเทศได้อย่างอิสระ เพราะธนาคารแห่งประเทศไทยอำนวยความสะดวกให้นักลงทุนได้ดีขึ้น"

ทั้งนี้ การลงทุนต่างประเทศเกิดขึ้น นักลงทุนส่วนใหญ่จะลงทุนผ่านรูปแบบกองทุนรวมหุ้น สาเหตุหลักมองว่า นักลงทุนอาจไม่มีความเชี่ยวชาญหรือรู้จักตลาดต่างประเทศมากพอ ซึ่งประเทศที่นักลงทุนเข้าลงทุนส่วนใหญ่จะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว

ส่วนการลงทุนในตลาดอาเซียนปัจจุบันเริ่มเห็นมากขึ้น หลาย บลจ.เริ่มขายกองทุนที่เข้าลงทุนในตลาดหุ้นอาเซียน และนักลงทุนก็ให้การตอบรับที่ดี และเข้าซื้อกองทุนรวมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งประเทศที่ได้รับความนิยมเข้าไปลงทุนคือ เวียดนาม เนื่องจากตลาดหุ้นมีขนาดที่ใหญ่พอจะเข้าไปลงทุน และเป็นประเทศที่มีการเติบโตสูง

ส่วนช่องทางที่นักลงทุนเข้าลงทุนด้วยตนเองนั้น ส่วนใหญ่จะลงทุนในโบรกเกอร์ไทยหรือต่างชาติ ที่มีเครือข่ายต่างประเทศ มากกว่าการลงทุนผ่านกระดานอาเซียนลิงค์ และจะเห็นว่า มูลค่าการซื้อขายผ่านกระดานดังกล่าวไม่มาก แต่ก็มองว่าเป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้นักลงทุนมีความสะดวกในการลงทุนเท่านั้น 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นในการลงทุนตลาดหุ้น กลุ่มอาเซียน คือ การอนุญาตให้กองทุนขนาดใหญ่ เช่น กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ(กบข.) กองทุนประกันสังคม ออกไปลงทุนในตลาดหุ้นอาเซียนมากขึ้น เนื่องจากกองทุนประเภทดังกล่าวเป็นกองทุนขนาดใหญ่ และต้องการหาตลาดหุ้นที่ให้ผลตอบแทนสูง ซึ่งกลุ่มประเทศดังกล่าวมีการเติบโตของจีดีพีระดับสูง จึงเหมาะกับกลุ่มสถาบันที่ต้องการถือครองหุ้นเป็นเวลานาน

ภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย บอกว่า ทิศทางการไปลงทุนในต่างประเทศช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ต้องบอกว่ามีการเติบโตที่ดีมาก หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทยผ่อนคลายให้นักลงทุนไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น จากเดิมที่อาจมีการกำหนดวงเงินให้ออกไปลงทุน แต่ในระยะหลังสามารถออกไปลงทุนได้เสรี เพียงแต่นักลงทุนต้องทำธุรกรรมผ่านธนาคารพาณิชย์เท่านั้น

“การลงทุนในต่างประเทศนั้น มีการเติบโตที่ดี หลังจากธปท.ให้การสนับสนุนนักลงทุนออกไปลงทุนต่างประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นทางเลือกให้ลงทุนสามารถหาผลตอบแทนได้”

ทั้งนี้ ตลาดหุ้นที่นักลงทุนให้ความนิยมจะเป็นตลาดหุ้นสหรัฐ เพราะมีผลการดำเนินงานเติบโตดี ขณะที่สหภาพยุโรปเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวขึ้น และญี่ปุ่นที่มีความแข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นอาเซียนนั้น ยังได้รับความนิยมน้อย เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านอย่าง อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ระดับราคาหุ้นสูง

ประกอบกับมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันยังต่ำกว่าไทย ทำให้การซื้อขายหุ้นในไทยน่าจะเป็นโอกาสที่ดีกว่าประเทศอื่นๆ ส่วนการเชื่อมต่อของบริษัทหลักทรัพย์ไทย กับตลาดหุ้นต่างประเทศ ขณะนี้มีให้บริการครบถ้วนในทุกประเทศ รวมถึงในตลาดหุ้นอาเซียน ซึ่งนักลงทุนสามารถใช้ช่องทางดังกล่าวในการซื้อขายได้ ส่วนอาเซียนลิงค์นั้น ก็ถือเป็นทางเลือกให้กับผู้ลงทุน ซึ่งอาจจะมีค่าธรรมเนียมการซื้อขายที่สูงกว่า

การเติบโตของการลงทุนต่างประเทศอนาคต เชื่อว่าจะมีอัตราการเติบโตลดลง เนื่องจากภาวะตลาดหุ้นยังไม่ดึงดูดให้เข้าลงทุน ทำให้นักลงทุนอาจมีการชะลอการลงทุนไปบ้าง สำหรับกฎเกณฑ์การลงทุนต่างประเทศที่มองว่า น่าจะมีการปรับเปลี่ยน เพื่อให้เกิดความคล่องตัวมากขึ้นนั้น สมาคมบล.มองว่า ควรจะเปิดให้บริษัทหลักทรัพย์สามารถบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนได้ เพราะปัจจุบันธปท.ไม่อนุญาตให้ดำเนินการ ทำให้การบริการนักลงทุนมีอุปสรรคพอสมควร