เจาะขุมทรัพย์จีนเที่ยวไทย ดันรายได้8แสนล้านใน6ปี

เจาะขุมทรัพย์จีนเที่ยวไทย ดันรายได้8แสนล้านใน6ปี

"ม.มหิดล" เผยนักท่องเที่ยวจีนเยือนไทยใช้จ่ายเฉลี่ย 2.5-5 หมื่นบาทต่อคนต่อทริป คาดรายได้นักท่องเที่ยวจีนเพิ่มเกือบเท่าตัวเป็น 8 แสนล้าน ใน 6 ปีจากนี้

วานนี้ (11 พ.ค.) วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดเสวนาการตลาด “Ni Hao marketing...หนีห่าว มาร์เก็ตติ้ง” เพื่อหาเคล็ดลับมัดใจนักท่องเที่ยวแบบอิสระชาวจีน (FIT) ที่หลั่งไหลมาเที่ยวไทยจำนวนมาก โดยปี 2559 พบว่านักท่องเที่ยวจีนมาไทยเป็นอันดับ 1 เมื่อเทียบกับนักท่องเที่ยวชาติอื่น จำนวนกว่า 8.22 ล้านคน สร้างรายได้ 4.45 แสนล้านบาท และคาดการณ์ว่าปี 2566 หรือในอีก 6 ปีจากนี้ รายได้จากนักท่องเที่ยวจีนมาไทย จะเพิ่มเป็น 8.29 แสนล้านบาท

นางสาวขวัญหทัย เมืองสุวรรณ นักศึกษาปริญญาโท วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล เผยผลสำรวจพฤติกรรมนักท่องเที่ยวแบบอิสระชาวจีน 403 ราย ช่วงอายุุ 18-36 ปีขึ้นไป พบว่า สาเหตุที่มาเที่ยวเมืองไทย เพราะบรรยากาศแหล่งท่องเที่ยวหลากหลาย มองเห็นถึงความคุ่มค่ากับเงินทุกหยวนที่จ่ายไป ชื่นชอบอาหารไทย ต้องการดื่มด่ำกับวัฒนธรรม ประเพณีไทย โดยการเดินทางมาเที่ยวไทยแต่ละครั้งจะมีระยะเวลา 5-7 วัน มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 2.5-5 หมื่นบาทต่อคนต่อทริป

ทั้งนี้ การใช้จ่ายในแต่ละครั้งเมื่อมาเที่ยวไทยจะเป็นค่าที่พักสัดส่วน 27% ชอปปิง 27% ค่าอาหาร 18% กิจกรรมผ่อนคลาย 11% เดินทาง 9% แหล่งท่องเที่ยว 5% และอื่นๆ 3%

ซื้อสินค้าคุณภาพ-น่าเชื่อถือ

ขณะที่การซื้อสินค้าไทยจะพิจารณาในเรื่องของคุณภาพสินค้าเป็นหลัก คุณภาพต้องดีและเชื่อถือได้ จากนั้นสินค้าจะต้องทำโปรโมชั่นเพื่อดึงดูดการตัดสินใจซื้อ เช่น การลดราคา 50% เป็นต้น สินค้ายังต้องมีภาษาจีนบ้างเพื่อให้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจซื้อ ที่สำคัญต้องเป็นสินค้าของประเทศไทย หรือ Product of Thailand ขณะที่สินค้าที่ซื้อไปเพื่อใช้เอง จะเป็นกลุ่มอาหาร ขนมทานเล่น และเครื่องสำอาง

ส่วนวิธีการชำระเงิน ปัจจุบันพฤติกรรมผู้บริโภคชาวจีนจะใช้การจ่ายเงินอิเล็กทรอนิกส์หรือ e-Payment โดยผ่านอาลีเพย์ 42% วีแชท 22% และเงินสดเพียง 11% ขณะที่การทำตลาดสินค้าและบริการ จะเป็นเว็บไซต์ โซเชียลมีเดียต่างๆ เช่น วีแชท (WeChat), ไป่ตู้ (Baidu), เหว่ยปั๋ว(Weibo), โหยวคู่(Youko), ซีทริป(Ctrip) เป็นต้น

แนะใช้กลยุทธ์ T-H-A-I

ทั้งนี้ จากพฤติกรรมดังกล่าว มองว่านักธุรกิจหรือผู้ประกอบการไทยควรมีกลยุทธ์มัดใจนักท่องเที่ยวชาวจีน โดยใช้แนวคิด T-H-A-I ซึ่ง T : Trust คือการรักษามาตรฐานสินค้าและบริการให้มีคุณภาพ เพื่อสร้างความมั่นใจ ให้เกิดการซื้อซ้ำและบอกต่อ H:Hospitality ดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานความจริงใจ ให้บริการแบบไทย สร้างความไว้วางใจ รักษาความสัมพันธ์ต่อเนื่อง

A: Awareness สร้างการรับรู้ กระตุ้นจุดสนใจ ดึงดูดด้วยภาษาจีน สื่อสารผ่านช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ I: Identity สร้างอัตลักษณ์ของแบรนด์ให้ชัดเจน โดดเด่นและแตกต่าง มีคุณค่า

จีนออกนอกประเทศ122ล้านคน

นายซาง อี้ ผู้อำนวยการฝ่ายขาย บริษัท ไป่ตู้ แอคเซส กล่าวว่า ปี 2559 ชาวจีนเดินทางออกนอกประเทศเพื่อท่องเที่ยวจำนวน 122 ล้านคน และใช้จ่ายมากถึง 1.09 แสนล้านดอลลาร์ โดยมีไทยเป็นจุดหมายปลายทางอันดับ 1 ตามด้วยญี่ปุ่น และสหรัฐ โดยไทยยังได้รับการโหวตเป็นประเทศยอดนิยมสูงสุด และชาวจีนต้องการมาเที่ยวมากสุด แต่ยอมรับว่าในการหาข้อมูลเกี่ยวกับการท่องเที่ยวของไทยจากหน่วยงานภาครัฐยังค่อนข้างน้อยกว่าญี่ปุ่น สหรัฐ ส่วนใหญ่ข้อมูลจะมาจากผู้บริโภคเป็นฝ่ายรีวิวมากกว่า

สินค้าต้องโฟกัสตลาดให้ชัด

ทั้งนี้ หากแบรนด์สินค้าต้องการทำตลาดเจาะกลุ่มเป้าหมายชาวจีน อย่างแรก ต้องโฟกัสตลาดให้ดี ไม่ใช่เจาะผู้บริโภคทั้งประเทศ 1,400 ล้านคน เพราะถือเป็นการหว่านมากเกินไป โดยสินค้าและบริการอาจแบ่งกลุ่มเป้าหมายเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.คนที่หาข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าและบริการไทย 2.คนที่วางแผนจะมาเที่ยวไทย และ 3.คนที่มาท่องเที่ยวในไทยแล้ว ซึ่งการทำตลาดแบบนี้จะช่วยให้ได้ผลลัพธ์มากกว่าทำตลาดแบบหว่าน

“ปัจจุบันนักท่องเที่ยวจีนที่มาไทยไม่ได้มองแค่เรื่องต้นทุนต่ำเท่านั้น แต่ให้ความสำคัญกับบรรยากาศ สถานการณ์การเมือง มีการรวบรวมข้อมูลทุกอย่างให้พร้อมเดินทาง ไม่ได้ซื้อสินค้าไทยเพราะราคาถูกอีกแล้ว โดยคนที่จะมาซื้อก็จะมีข้อมูล การรีวิวจากบล็อกเกอร์เรียบร้อยแล้ว”

ระวังสินค้าลอกเลียนแบบ

สำหรับการทำตลาดเจาะนักท่องเที่ยวจีนยังมีปัจจัยที่ต้องระวัง โดยเฉพาะสินค้าลอกเลียนแบบ เพราะจะทำลายความน่าเชื่อถือ ความเชื่อมั่นที่มีต่อแบรนด์ไทยในอนาคต โดยที่ผ่านมาจีนมีปัญหาร้องเรียนเกี่ยวกับสินค้าเลียนแบบถึง 40 ล้านคดี

นายจรุงศักดิ์ เฟื่องฟูสิน ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัทดู เดย์ ดรีม จำกัด(มหาชน) ผู้ทำตลาดผลิตภัณฑ์ดูแลผิวพรรณ หรือ สกินแคร์แบรนด์สเนลไวท์ กล่าวว่า บริษัทมีการนำสินค้าสกินแคร์ไปทำตลาดที่จีนเมื่อปี 2558 โดยใช้พันธมิตรชาวไทยที่ทำธุรกิจในจีนเป็นผู้กระจายสินค้า เบื้องต้นจำหน่ายเฉพาะช่องทางออนไลน์ อย่าง Tmall เท่านั้น

สำหรับการทำตลาดสกินแคร์ในจีน ต้องยอมรับว่า ตลาดแข่งขันดุเดือด มีทั้งแบรนด์ท้องถิ่น (Local) แบรนด์ระดับโลก บริษัทจึงต้องชูเรื่องคุณภาพสินค้าเป็นหลัก พร้อมทั้งผลิตสินค้าที่ตอบโจทย์กับผู้บริโภคชาวจีนอย่างแท้จริง เช่น สกินแคร์ที่ทำตลาดนิชมาร์เก็ต คือผลิตเพื่อชาวจีนโดยเฉพาะ เป็นต้น

ผุดแอพตรวจสอบสินค้าก็อปปี้

นอกจากนี้ บริษัทยังมีมาตรการแก้ปัญหาสินค้าลอกเลียนแบบ ด้วยการมีคิวอาร์โค้ดเพื่อให้สแกนของจริงผ่านแอพลิเคชั่นวีแชท ซึ่งยังช่วยสร้างฐานลูกค้าต่อยอดแบรนด์ด่วย เพราะเมื่อลูกค้าสแกนคิวอาร์โค้ด จะถูกเพิ่มเป็นเพื่อนในวีแชททันที

นางสาวณชา จึงกานต์กุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท คันนา โกรเซอรี่ส์ จำกัด เจ้าของผลิตภัณฑ์ผลไม้แปรรูปแบรนด์คันนา(KUNNA) กล่าวว่า บริษัทได้พัฒนาสินค้าใหม่ๆ เพื่อสร้างความตื่นเต้นหรือว้าวให้กับผู้บริโภคชาวจีนอยู่เสมอ และการขายจะมีพนักงานคอยบริการลูกค้าเป็นภาษาจีน และยังทำหน้าที่สอบถามความต้องการของลูกค้าเชิงลึกอยู่เสมอเพื่อนำไปปรับปรุงผลิตภัณฑ์

สำหรับการจำหน่ายสินค้าสแน็คผลไม้เพื่อสุขภาพคันนา ปัจจุบันมียอดขายประมาณ 200 ล้านบาท เติบโต 30% ต่อเนื่องทุกปี ขณะที่สัดส่วนยอดขายจะมาจากชาวจีน 70% เกาหลี 20% และอื่นๆ เช่น ญี่ปุ่น 10% โดยสินค้าขายดีอันดับ 1 จะเป็นมะม่วงอบแห้ง ทุเรียนอบกรอบ แบะมะพร้าวอบแห้ง เป็นต้น