เกษียณแล้ว ทำไรดีวะ?

เกษียณแล้ว ทำไรดีวะ?

ถ้ายังไม่ถึงวัยต้องเกษียณ ลองคิดเล่นๆ ว่า ถ้าเกษียณแล้วจะทำอะไร...

 “ตอนอายุ 60 แนวคิดที่คนเกษียณ คิดไว้ก็คือ ปลูกต้นไม้ อ่านหนังสือ ไปเที่ยว สังสรรค์” ครูรัตน์- วิรัตน์ สมัครพงศ์ เจ้าของเพจ เกษียณแล้ว ทำไรดีวะ? By KruRat เล่า

เขาใช้ชีวิตแบบนั้น 3 ปี แล้วพบว่า เบื่อเป็นบ้าเลย...

จึงต้องหาทางเลือกใหม่ให้ชีวิต

ก่อนหน้านี้ ครูรัตน์เป็นอาจารย์สอนหนังสือที่วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราชและสงขลา เมื่อเกษียณแล้ว ยังมีธุรกิจที่ครอบครัวทำด้วยกัน โดยช่วงแรกๆ เขาก็ทำตามสูตรคนเกษียณ คือ ใช้ชีวิตสบายๆ 

 “ชีวิตที่มีความสุข ไม่ใช่ชีวิตสบายๆ ลันล้าไปวันๆ ผมทำสวนที่บ้าน เหนื่อยก็นอน แต่ทำมาสักระยะ รู้สึกว่าชีวิตอยู่กับที่ หรือเวลาออกไปสังสรรค์ ร้องคาราโอเกะ นั่งแช่นานๆ ผมก็ไม่มีอารมณ์แบบนั้นแล้ว ถ้าจะให้ไปทำธุรกิจ ก็ไม่ได้เติมเต็มให้ชีวิต เมื่อลองใช้ชีวิตแบบนั้นแล้ว ก็พบว่า ชีวิตที่มีความสุข ต้องเป็นชีวิตที่ต้องใช้เต็มที่ เต็มศักยภาพกับตัวเอง ได้ทำในสิ่งที่เรารัก สิ่งที่เราชอบและอยู่กับมัน จนจากโลกนี้ไป "ครูรัตน์ เล่า เมื่อค้นพบว่า คนเราเกิดมาไม่ได้หมายว่า อยู่สบายๆ แล้วมีความสุข

เขายกตัวอย่างลีกวนยูที่ไม่เชื่อเพื่อนของเขาบอกว่าเกษียณแล้วไปตีกอล์ฟ พักผ่อนสบายๆดีกว่า แต่ลีกวนยูบอกว่า ทำแบบนั้นจะตายเร็ว หรือเจ้าสัวซีพีมีเงินเป็นแสนๆ ล้าน อายุจะ 80 แล้ว ก็ยังทำงานอยู่

“ลีกวนยูต้องพาตัวเองไปประเทศนั้น ประเทศนี้ บางทีเขาก็เบื่อเหมือนกัน แต่เขารู้ว่า ทำให้ชีวิตมีคุณค่า”

หลังจากใช้ชีวิตสบายๆ ตามสูตรเกษียณ ครูรัตน์เห็นว่าไม่ดีต่อตัวเอง จึงหันมาทำสิ่งที่อยากทำไปเข้าคอร์สอบรมสัมนาทั้งในประเทศและต่างประเทศ ไม่เว้นแม้กระทั่งการใช้เครื่องมือออนไลน์ การตัดต่อวิดีโอ

ในวัย 67 ปี เขากลายเป็นคนที่มีกิจกรรมหลากหลาย เป็นนักพูด นักเขียนที่สร้างแรงบันดาลใจให้คนมากมาย เป็นเจ้าของเพจที่มีคนติดตามหลักหมื่น เป็นเจ้าของ website :www.KruRat.com และยังมีแนวคิดเรื่องการอบรมการเกษตร (เพจ : สวนมะเดื่อฝรั่งครูรัตน์ KruRat Fig Smart-Farm) รวมถึงตั้งชมรมผู้เชี่ยวชาญชีวิต และชมรมออนไลน์คุณภาพเพื่อคนวัยเกษียณ

หลักง่ายๆ ที่ครูรัตน์เล่าให้ฟัง ก็คือ ใช้ชีวิตที่เหลือ อย่างมีคุณค่า อยากทำอะไรก็ทำ

“ผมอยากมีส่วนช่วยพัฒนาคนในประเทศนี้ เคยเห็นประเทศที่เจริญแล้ว นักธุรกิจของเขาเชื่อถือได้ แต่นักธุรกิจไทยเผลอไม่ได้ เราก็พยายามหาแนวทาง อยากมีส่วนทำให้บ้านเราเปลี่ยนแปลง คิดว่าน่าจะเริ่มต้นที่ตัวเราก่อน ผมคิดว่าชีวิตที่จะประสบความสำเร็จได้จริงๆ ต้องทุ่มเท ขยันขันแข็ง และรู้จักพัฒนาทักษะในชีวิต”

ลองนึกดู เมื่อชีวิตผ่านช่วงวัย 60 แล้วชีวิตที่เหลืออีก 10-30 ปี จะเป็นยังไง

ครูรัตน์ บอกว่า ต้องคำนวณว่า เงินที่มีอยู่พอเพียงไหม เพราะค่าใช้จ่ายในบั้นปลายชีวิตสูงมาก คนสูงวัยจะมีปัญหาเรื่องสุขภาพเยอะ

“ถ้าเรายังมีชีวิตอยู่ ร่างกายและสมองต้องถูกใช้ ตรงไหนไม่ถูกใช้ ก็จะหมดสมรรถภาพ สังคมไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย ถ้าผู้สูงวัยไทยจะใช้ชีวิตลัลล้ากันทั้งประเทศจะเป็นยังไง ในขณะที่คนญี่ปุ่นอายุ70-80 ยังทำงานอยู่ คนขับแท็กซี่ในสิงคโปร์อายุ 70 ทั้งนั้น ผมก็เลยคิดว่า ต้องหาอะไรทำที่ตอบโจทย์ชีวิต ทำสิ่งที่เรารักและถนัด และขณะเดียวกันก็ตอบโจทย์สังคมและตอบโจทย์การตลาด ”

เมื่อได้ทำสิ่งที่ตัวเองรัก และรู้จักใช้สื่อออนไลน์ ทุกๆ วันเขาจะแชร์ความคิดในเพจเกษียณแล้วทำอะไรดีว่ะ เพื่อกระตุ้นให้คนคิดว่า ชีวิตที่เหลืออยู่ จะทำอะไรดี

“มีความฝันอะไรที่คาใจอยู่ แล้วไม่ได้ทำ ก็ไปเรียนรู้แล้วทำมัน เพราะช่วงวัยนี้ เป็นโอกาสใหม่ๆ มีอิสระ ไม่มีเจ้านาย ตัวผมเอง อยากเห็นประเทศเราพัฒนากว่านี้ ผมคิดว่าการศึกษาไม่ได้เริ่มต้นที่เด็กอย่างเดียว ต้องเริ่มต้นที่คนทุกวัย การศึกษาที่แท้จริงคือ การศึกษาตลอดชีวิต "

 หลังจากครูรัตน์เปิดเพจ แบ่งปันความคิด เพื่อให้เห็นว่า ชีวิตมีอะไรให้ทำอีกมากมาย  โดยโพสต์ทุกวัน จนคนเชิญไปออกทีวี

“เมื่อสังคมเห็น เราก็ปรารถนาว่าจะทำตัวให้เป็นแบบอย่าง ถ้าอายุ60 แล้วหวังพึ่งลูกหลาน ไม่ทำอะไรเลย แล้วจะเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรได้ไง ก็เป็นได้แค่ทากเกาะลูกหลาน “ครูรัตน์ เล่าอย่างอารมณ์ดี

“ตราบใดที่เรายังมีชีวิต ภาระกิจแห่งความเป็นมนุษย์ยังไม่จบ เราเกิดมาเพื่อทำอะไร หาตัวเองให้เจอ เราเป็นใคร เราจะทำอะไร เราจะไปต่อยังไง เราจะเรียนรู้พัฒนาทักษะยังไง เราจะพัฒนาจิตวิญญาณยังไง เพื่อไม่ให้อายุมากแล้วเป็นเฒ่าหัวงู”

ครูรัตน์เอง ยอมรับว่า กว่าจะออกจาก Comfort Zone ก็ใช้เวลาหลายปี ที่ยอมออกจากชีวิตสบายๆ ก็เพราะไม่อยากใช้เวลาให้หมดไปวันๆ อย่างไร้ความหมาย

 “คนเราต้องออกจากคอมฟอร์ทโซนไปสู่จุดที่เราเรียนรู้ ที่เราไม่เคยชิน ผมเลือกที่จะไปเรียนการใช้โซเชียลมีเดียกับคนรุ่นลูก แรกๆ ก็อึดอัด แต่เมื่อบอกว่าทำนั่นทำนี่ไม่เป็น พวกเขาก็ช่วยกันสอน จนผมตัดต่อวีดีโอขึ้นยูทูบได้”

นอกจากเป็นนักพูด และวิทยากรให้ความรู้ในเรื่องต่างๆ เขายังมีกิจกรรมอีกอย่าง ทำสวนมะเดือฝรั่ง และเมื่อออกผลเป็นที่น่าพอใจ จึงคิดว่า น่าจะเปิดคอร์สสอนด้านการเกษตร

“เดิมทีคิดว่าทำสวน ต้องรดน้ำเอง แต่ถ้าทำเป็นสมาร์ทฟาร์ม เราตั้งเวลารดน้ำต้นไม้ได้ เราต้องรู้จักใช้เทคโนโลยี ผมก็พยายามปลูกอะไรที่คนไม่รู้จัก มะเดือฝรั่ง ใช้เวลา 5 เดือน ขายได้และมีคนจอง จนต้องปิดจอง “ ครูรัตน์เล่าและย้ำว่า 

“ชีวิตผมตอนนี้ลงตัวแล้ว ไม่เคยมีความสุขแบบนี้มาก่อน เต็มไปด้วยความหวัง ความมัน เพราะผมมีประสิทธิภาพเท่าไหร่ ผมใช้เต็มที่เลย "