‘เจนเอ็ม’ แห่ช้อปออนไลน์สูงสุด

‘เจนเอ็ม’ แห่ช้อปออนไลน์สูงสุด

จากกระแสการเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่แข่งขันกันอย่างดุเดือดตั้งแต่ต้นปี 2560 ส่งผลให้ผู้บริโภคให้ความสนใจ และหันมาซื้อสินค้าออนไลน์กันมากขึ้น

“ไพรซ์ซ่า” พบไตรมาสแรกปี 2560 มีผู้สนใจเข้ามาค้นหาสินค้าและเปรียบเทียบราคาผ่านเว็บไพรซ์ซ่าเพิ่มขึ้น 145% เทียบกับปี 2559 หรือมีผู้เข้ามาใช้งานค้นหาสินค้าเพื่อเปรียบเทียบราคาถึงเดือนละกว่า 9 ล้านราย

ข้อมูลไพร์ซซ่า ระบุว่า จากยอดค้นหากว่า 9 ล้านครั้งต่อเดือน พบข้อมูลที่น่าสนใจ โดยประเภทสินค้าที่มีการค้นหามากที่สุด 5 อันดับแรกช่วงไตรมาสแรกปี 2560 ได้แก่ ของสะสมและของเก่า 16.3% เสื้อผ้า และแฟชั่น 8.1% เครื่องใช้ไฟฟ้า 6.1% โทรศัพท์ อุปกรณ์สื่อสาร 5.9% อาหารและสุขภาพ 5.5% ร้านค้าที่ถูกค้นหามากที่สุด 5 อันดับแรก คือ Lazada.co.th, 11STREET.co.th, thainitashop.com, Cmart.co.th และ Central.co.th

นายธนาวัฒน์ มาลาบุปผา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และหนึ่งในผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ ไพรซ์ซ่า (Priceza.com) กล่าวว่า จากจำนวนผู้เข้าใช้บริการเว็บไซต์ไพร์ซซ่ากว่า 9 ล้านครั้งต่อเดือน มีการกระจายไปยังมาร์เก็ตเพลสทั้งกลุ่มผู้ค้าที่เป็นคอร์ปอเรท และผู้ค้าเอสเอ็มอี ขึ้นกับผู้บริโภคอยากเลือกซื้อสินค้าจากใคร

"ทุกวันนี้รูปแบบการขายในธุรกิจอีคอมเมิร์ซมีความหลากหลายมากขึ้น มีผู้เล่นหน้าใหม่จำนวนมากกระโดดเข้ามาในการแข่งขันนี้อย่างดุเดือด และส่งผลกระทบที่สำคัญต่อภาพรวมของตลาดในแง่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคดิจิทัล ผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดก็ตามควรให้ความสำคัญในการอยู่ร่วมกันของสังคมอีคอมเมิร์ซ (Ecosystem) ที่ต้องช่วยผลักดันซึ่งกันและกัน เพื่อมอบผลประโยชน์สูงสุดให้กับผู้บริโภค”

ไพร์ซซ่า ยังพบด้วยว่า กลุ่มนักช้อปที่ขับเคลื่อนธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่ใหญ่ที่สุด คือ กลุ่มเจน เอ็ม หรือคนยุคมิลเลนเนียล (Millennials) อายุระหว่าง18-34 ปี ซึ่งซื้อสินค้าออนไลน์มากที่สุดถึง 61.92% รองลงมา คือ กลุ่มเจน เอ็กซ์ อายุระหว่าง 35-54 ปี 32.69% และ กลุ่มเบบี้บูมเมอร์ อายุ 55 ปีขึ้นไป 5.39% ตามลำดับ ดังนั้น แบรนด์ควรปรับกลยุทธ์เพื่อให้เข้าถึงและครองใจผู้บริโภคมากขึ้น

นายธนาวัฒน์ แนะว่า เมื่อแบรนด์รู้ว่าลูกค้ากลุ่มมิลเลนเนียล คือ กลุ่มที่เป็นลูกค้าหลักของตลาดอีคอมเมิร์ซ เพื่อให้แบรนด์ประสบความสำเร็จในการทำการตลาด เพื่อเข้าถึงคนกลุ่มนี้มากขึ้น ควรทำการศึกษาพฤติกรรมของคนกลุ่มนี้ เพื่อวางแผนและปรับกลยุทธ์ให้ตอบโจทย์ความต้องการของพวกเขา ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี ไม่ว่าเป็นการทำการตลาดเฉพาะบุคคล ที่นอกเหนือจากการระบุชื่อลูกค้าแล้ว ยังรวมถึงการแนะนำสินค้าหรือบริการสำหรับที่เหมาะสำหรับลูกค้าแต่ละบุคคล การมอบประสบการณ์ที่ดีและแตกต่างจากคู่แข่งหรือแบรนด์อื่นๆในท้องตลาด รวมถึงการใช้ช่องทางที่หลากหลายในการเข้าถึงกลุ่มลูกค้า ภายใต้แนวคิดลูกค้าอยู่ที่ไหนไปที่นั่น

“เมื่อแบรนด์สามารถทำความเข้าใจและปรับตัวได้ตามพฤติกรรมและตามความต้องการของผู้บริโภค ก็จะมีความสามารถในการแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดและเป็นผู้เล่นที่แข็งแกร่งในยุคอีคอมเมิร์ซได้แน่นอน” นายธนาวัฒน์ กล่าว

ข้อมูลจากสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือเอ็ตด้า คาดการณ์ มูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซโดยภาพรวมปี 2559 อยู่ที่ 2 ล้านล้านบาท ขณะที่ ปี 2560 จะเพิ่มขึ้นเป็น 2.5 ล้านล้านบาท โดยบีทูซีมีมูลค่าราว 4 แสนล้านบาท ขณะที่ กลุ่มบีทูบี 1.2 ล้านล้านบาท กลุ่มค้าปลีกออนไลน์ออนไลน์ เป็นกลุ่มที่แข่งขันกันรุนแรงมากขณะนี้อยู่ในกลุ่มบีทูซี

ขณะที่การซื้อขายสินค้าผ่านโซเชียล หรือโซเชียล คอมเมิร์ซ ปี 2560 จะเติบโตเพิ่มขึ้น 20% หรือเพิ่มขึ้นอีก 1 หมื่นล้านบาท จากยอดปี 2559 ที่อยู่ราว 2 แสนล้านบาท