‘แผ่นปิดแผล’จากเส้นใยจุลินทรีย์ จุฬาฯ-ปตท.ช่วยผู้ติดเชื้อ

‘แผ่นปิดแผล’จากเส้นใยจุลินทรีย์  จุฬาฯ-ปตท.ช่วยผู้ติดเชื้อ

นักวิจัยจุฬาฯ คิดค้นกรรมวิธีผลิตแผ่นปิดแผลจากเส้นใยจุลินทรีย์ ชูคุณสมบัติพิเศษรักษาความชุ่มชื้นให้กับแผล จึงไม่ติดแผลเมื่อลอกออก ทำให้เนื้อเยื่อที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ไม่ถูกทำลายและลดการเกิดแผลเป็นที่เป็นรอยนูน นำร่องทดสอบในสุนัข-แมวในรพ.สัตว์เล็กจุฬาฯ

ด้าน ปตท.สนับสนุน 4 ล้านบาทให้พัฒนาแผ่นใหญ่ขึ้นสำหรับใช้กับช้าง รวมทั้งผลิตแจกจ่ายผู้ติดเชื้อในกิจกรรมซีเอสอาร์

“ก่อนหน้านี้ มีนักวิจัยได้นำไบโอเซลลูโลสคอมพอสิตหรือแผ่นปิดแผลจากเส้นใยจุลินทรีย์ มาทดลองใช้กับอาสาสมัครผู้ป่วยอยู่แล้ว อีกทั้งผลการทดสอบในหนูทดลองก็ประสบผลสำเร็จตามโจทย์วิจัย เราจึงสนใจที่จะนำมาวิจัยใช้กับสัตว์เลี้ยง เพื่อหาคำตอบว่า สรีระที่แตกต่างระหว่างคนกับสัตว์จะใช้ได้ผลหรือไม่” รศ.รัตนา รุจิรวนิช อาจารย์ประจำวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าว

นำร่องจากสัตว์สู่คน

ไบโอเซลลูโลส คือเส้นใยที่ผลิตโดยจุลินทรีย์ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเล็กระดับนาโนเมตร มีโครงสร้างสามมิติทำให้สามารถอุ้มน้ำได้ดี มีสมบัติเป็นไฮโดรเจลเหมาะนำไปทำเป็นวัสดุปิดแผลสำหรับบาดแผลที่ผ่านการรักษาถึงระยะ Proliferation ที่ไม่มีการอักเสบและไม่มีการติดเชื้อแล้ว

โครงการวิจัยนี้เป็นการใช้จุลินทรีย์สร้างเซลลูโลส แล้วทำให้แข็งแรงด้วยการเสริมเส้นใย สามารถผลิตเป็นผืนใหญ่เพื่อรองรับการผลิตในระดับอุตสาหกรรมได้ นอกจากนี้สามารถเติมสารต่างๆ ลงไป เช่น สารสมุนไพรที่มีคุณสมบัติต่างๆ หรือสารอนุภาคเงิน โปรตีนจากไหมและเจลาติน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาบาดแผล โดยงานวิจัยนี้ได้ร่วมมือกับ ปตท. และโรงพยาบาลสัตว์เล็กจุฬาฯ เพื่อนำมาทดสอบในสัตว์เล็กอย่างสุนัขแมว ที่มีอาการเป็นแผลที่ผิวหนัง ซึ่งมาจากสาเหตุที่ต่างกัน พบว่า ใช้ได้ผลขณะที่มีรายงานทางวิชาการระบุว่า สามารถใช้กับคนได้ผลในกลุ่มที่ไฟไหม้น้ำร้อนลวก” รศ.รัตนา กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในงานวิจัยดังกล่าวโฟกัสนำร่องที่สัตว์ พร้อมทั้งจดสิทธิบัตรกรรมวิธีการผลิตที่สามารถผลิตในระดับอุตสาหกรรม โดยได้รับการสนับสนุนจาก ปตท. 4 ล้านบาทเพื่อให้ที่จะผลิตเป็นผืนขนาดใหญ่สำหรับนำไปใช้กับสัตว์ใหญ่อย่างช้างที่ได้รับบาดเจ็บ
ผลจากการทดสอบพบว่า วัสดุปิดแผลไบโอเซลลูโลสคอมพอสิตทำให้แผลดีขึ้น ขนาดแผลลดลง ลดการเกิดแผลเป็นที่เป็นรอยนูน เพราะมีลักษณะเป็นเจล มีแรงที่จะไปกดตรงบริเวณบาดแผลทำให้การสร้างคอลาเจนไม่เกิดรอยแผลเป็น จึงนำไปรักษาผู้ป่วยไฟไหม้ น้ำร้อนลวก และเหมาะจะนำไปทำเป็นวัสดุปิดแผลสำหรับบาดแผลในระยะฟื้นฟูแล้ว ที่ไม่มีการอักเสบและติดเชื้อ ช่วยเร่งการสร้างเนื้อเยื่อใหม่ขึ้น ช่วยสามานแผลได้เร็วกว่าแผ่นแปะแผลในท้องตลาด ในจำนวนวันที่เท่ากัน

นวัตกรรมเพื่อผู้ติดเชื้อ

ขั้นต่อไป นักวิจัยกำลังหารือ ปตท.สำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อผู้ติดเชื้อที่มีภูมิคุ้มกันต่ำกว่าคนทั่วไปออกมา ช่วยทำให้คุณภาพชีวิตผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อดีขึ้นจากปัญหาทางผิวหนัง เบื้องต้นพบว่า ปตท.ให้ความสนใจที่จะให้การสนับสนุนต่อยอดงานวิจัยนี้ ให้สามารถผลิตออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้งานได้จริง เพื่อช่วยเหลือคนในสังคมในลักษณะการทำซีเอสอาร์ไม่ใช่ทำเชิงการค้าแจกจ่ายตามโรงพยาบาลที่มีผู้ป่วยเอดส์ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายใหม่

“รุ่นแรกสังเคราะห์อนุภาคเงินเข้าไปช่วยฆ่าเชื้อทำให้เกิดการตื่นตัวในวงการและได้รับการสนับจาก ปตท.มาแล้ว 3 เฟสในการพัฒนาให้เป็นระดับอุตสาหกรรม ในอนาคตจะพัฒนาสู่คนแต่ต้องร่วมกับแพทย์ที่สนใจทำวิจัยร่วมกันในการพัฒนาวัสดุปิดแผลไบโอเซลลูโลสคอมพอสิตสำหรับผู้ติดเชื้อ ซึ่งจะช่วยลดการนำเข้าวัสดุทางการแพทย์ ส่งผลให้คนไทยได้ใช้สินค้าในราคาถูกด้วย” รศ.รัตนา

ทั้งนี้ ในอนาคตจะวิจัยเติมสารสำคัญเข้าไปในแผ่นปิด เช่น สารสมุนไพรที่มีคุณสมบัติต่างๆ หรือสารอนุภาคเงิน โปรตีนจากไหม หรือสารพวกเจลาติน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาบาดแผล