'รายได้เกษตรกร' ขยับ หนุน ‘บริโภคเอกชน’ ฟื้น

'รายได้เกษตรกร' ขยับ หนุน ‘บริโภคเอกชน’ ฟื้น

"รายได้เกษตรกร" ขยับ ช่วยฟื้น"บริโภคเอกชน"

รายงานแนวโน้มธุรกิจในไตรมาส 2 ปี 2560 ซึ่งสำรวจโดย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สะท้อนภาพที่ดีต่อเนื่องในทุกด้าน โดยผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นที่ดีขึ้นต่อแนวโน้มธุรกิจ รวมทั้งคาดว่าสถานการณ์คำสั่งซื้อจะปรับดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนมีทิศทางฟื้นตัวต่อเนื่องจากรายได้เกษตรกรในหลายกลุ่มมีแนวโน้มดีขึ้นตามลำดับ

ประกอบกับมีเม็ดเงินจากภาครัฐเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจฐานรากซึ่งช่วยเพิ่มกำลังซื้อให้กับครัวเรือนในวงกว้างขึ้น และเชื่อมั่นว่าศักยภาพการท่องเที่ยวยังดีและจะขยายตัวดีต่อเนื่อง รวมทั้งการส่งออกน่าจะขยายตัวได้ต่อไป ส่วนการลงทุนเอกชนโดยรวมน่าจะฟื้นตัวอย่างช้าๆ โดยมีธุรกิจในภาคการค้าและบริการ มีการลงทุนต่อเนื่อง

จากการสำรวจของ ธปท. โดยการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการธุรกิจสาขาต่างๆ ทั่วประเทศในโครงการ Business Liaison Program (BLP) ประจำไตรมาส 1 ปี 2560 รวม 227 ราย พบว่า ในไตรมาสแรกที่ผ่านมา ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มองว่า การบริโภคภาคเอกชนฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่ยังไม่เข้มแข็งนัก ต้องอาศัยการกระตุ้นจากธุรกิจเพื่อสร้างยอดขาย

โดยเห็นว่าลูกค้าระดับกลาง-บน ยังมีกำลังซื้อที่ดี จึงต้องสร้างแรงจูงใจให้มีการใช้จ่ายมากขึ้น ขณะที่กำลังซื้อของลูกค้ากลุ่มกลาง-ล่าง ยังไม่เข้มแข็งนัก

ประกอบกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่กลับคืนมาบ้างแล้วตามแนวโน้มเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ขณะที่ยอดขายเครื่องใช้ไฟฟ้ายังไม่ดีนัก ยกเว้นกลุ่มสินค้าระดับกลาง-บนที่เพิ่มขึ้นจากการจัดโปรแกรมส่งเสริมการขาย

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการเห็นว่า สาเหตุที่การบริโภคภาคเอกชนยังฟื้นไม่เต็มที่ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากรายได้เกษตรกรปรับดีขึ้นเพียงบางกลุ่มและบางพื้นที่เท่านั้น เช่น ชาวสวนผลไม้ในภาคกลาง ชาวสวนยางพาราและชาวไร่อ้อยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขณะที่ชาวนา ชาวไร่ข้าวโพด ไร้มันสำปะหลังยังได้รับผลกระทบจากราคา ส่งผลให้การฟื้นตัวของการบริโภคแตกต่างกันระหว่างภูมิภาค โดยเฉพาะภาพเหนือฟื้นตัวช้ากว่าภาคอื่นๆ

ส่วนแนวโน้มไตรมาส 2 ปี 2560 ผู้ประกอบการมองว่า อยู่ในทิศทางฟื้นตัวต่อเนื่อง เพราะรายได้เกษตรในหลายกลุ่มมีแนวโน้มดีขึ้นเป็นลำดับ ประกอบกับผลจากการผลักดันการใช้จ่ายของภาครัฐซึ่งมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจฐานรากกว่า 2 ล้านล้านบาท ช่วยเพิ่มกำลังซื้อให้กับครัวเรือนในวงกว้าง

สำหรับการลงทุนภาคเอกชน ยังกระจุกตัวอยู่ในธุรกิจการค้าและบริการ โดยเริ่มเห็นสัญญาณที่ดีในธุรกิจการผลิตที่เน้นส่งออกแต่ยังไม่เป็นวงกว้าง โดยผู้ประกอบการส่วนใหญ่ในภาคการค้าและบริการยังขยายการลงทุนต่อเนื่องจากปีก่อน

อย่างไรก็ตามแม้ผู้ประกอบการบางรายไม่มีแผนลงทุนในประเทศ และบางรายลดเม็ดเงินลงทุนในประเทศลง แต่กลับมีการลงทุนในต่างประเทศ โดยเป็นผู้ประกอบการในหลากหลายสาขามากขึ้นทั้งในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่มีการลงทุนในสหรัฐ และธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภคและอาหารฟาสต์ฟู๊ส ธุรกิจน้ำบรรจุขวด ธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้าและเฟอร์นิเจอร์ รวมทั้งอัญมณีที่หันไปลงทุนในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านเพื่อขยายโอกาสในตลาดที่มีการเติบโตสูงและลดต้นทุนการผลิต

ระยะถัดไป การลงทุนภาคเอกชนน่าจะค่อยๆ ดีขึ้นเป็นลำดับ แม้สัดส่วนผู้ประกอบการที่คาดว่าจะคงและเพิ่มการลงทุนในอีก 12 เดือนข้างหน้า จะลดลงบ้างเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่เป็นกลุ่มธุรกิจที่ต้องลดการลงทุนเนื่องจากมีปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบอาหารทะเล และอีกส่วนเป็นธุรกิจที่ลงทุนไปแล้วช่วงก่อนหน้า โดยผู้ประกอบการที่คาดว่าจะเพิ่มการลงทุนเป็นกลุ่มการค้าและบริการ ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มเป็นหลัก

“ผู้ประกอบการภาคการค้าประเมินว่า ธุรกิจการค้าปลีกจะลงทุนขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง โดยทิศทางการลงทุนในอีก 5 ปีข้างหน้า คาดว่าผู้ประกอบการกลุ่มโมเดนเทรดรายใหญ่ จะออกไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น ขณะที่ผู้นำเข้าร้านค้าปลีกในต่างจังหวัดมีแนวโน้มออกไปลงทุนในจังหวัดอื่นๆ เพิ่มขึ้น”

ส่วนการส่งออก ในไตรมาส 2 ปี 2560 ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ คาดว่า การส่งออกจะขยายตัวต่อเนื่องสะท้อนจากการคาดการณ์คำสั่งซื้อในไตรมาสหน้าของธุรกิจส่วนใหญ่ที่ปรับเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของความต้องการจากต่างประเทศเป็นสำคัญ และอีกส่วนหนึ่งจากการขยายฐานลูกค้าใหม่และพัฒนาคุณภาพสินค้าของบางกลุ่มธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรแปรรูป อาหารทะเลแปรรูป เครื่องประดับ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และชิ้นส่วนยานยนต์

ส่วนภาคอสังหาริมทรัพย์ในไตรมาส 2 ปี 2560 ผู้ประกอบการ คาดว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์ระดับกลาง-บน ยังขยายตัวได้ จึงมีแผนขยายการลงทุนทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัดใหญ่ๆ อย่างไรก็ตาม คาดว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ระดับกลาง-ล่าง จะยังซบเซา โดยประเมินว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์ โดยรวมในต่างจังหวัดจะฟื้นตัวได้ช้ากว่าในกรุงเทพฯ และปริมณฑล

ซึ่งผู้ประกอบการมองว่า หากรัฐบาลสามารถดำเนินการในโครงการลงทุนขนาดใหญ่ภาครัฐและหากระบบคมนาคมสามารถเชื่อมต่อประเทศเพื่อนบ้านได้ตามแผนที่วางไว้ จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและภาคอสังหาริมทรัพย์ได้อีกครั้ง