ยกโมเดล 'สิงค์โปร์' คุมสื่อ ช่วยรัฐบาลมีเสถียรภาพ

ยกโมเดล 'สิงค์โปร์' คุมสื่อ ช่วยรัฐบาลมีเสถียรภาพ

"พล.อ.อ.คณิต" มั่นใจ "สปท." เห็นชอบร่างกม.สื่อฯแน่นอน ย้ำไม่ขัดรธน.พร้อมยกโมเดล "สิงค์โปร์" คุมสื่อมวลชน ช่วยรัฐบาลมีเสถียรภาพ

พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่สปท. เตรียมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ในวันที่ 1 พ.ค. โดยเชื่อว่า สปท. จะให้ความเห็นชอบ แต่ในกระบวนการจัดทำกฎหมายยังมีหลายขั้นตอน อาทิ ผ่านรัฐบาล, สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งสามารถปรับแก้ไขหรือปรับเปลี่ยนได้ ทั้งนี้ผมยืนยันว่าเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว จะไม่ขัดกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ เนื่องจากระหว่างจัดทำนั้นมีนักกฎหมายที่คอยดูแลอยู่ แต่หากมีเนื้อหาใดที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ เช่น มาตราว่าด้วยการไม่ทำกฎหมายที่สร้างภาระหรือละเมิดสิทธิ เสรีภาพเกินความจำเป็นนั้น ก็อาจปรับแก้ไขในประเด็นที่ขัดดังกล่าวได้

“ผมเชื่อว่าร่างกฎหมายจะไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ เพราะหากทำขัด ก็เท่ากับว่า ผมเหนื่อยฟรี และเจ๊งไม่เป็นท่า ทั้งนี้ที่ผ่านมาการพิจารณาชั้นอนุกรรมาธิการฯ มีกรรมาธิการที่มาจากสายสื่อ สนับสนุนให้ออกใบอนุญาต เพราะมองว่าจะมีเกียรติและมีศักดิ์ศรีมากกว่า อีกทั้งจะสร้างความรักองค์กร และเกิดการสร้างสรรค์ และเชื่อว่าเมื่อมีใบอนุญาตแล้วจะทำให้เกิดการกำกับกันเองได้ดีระดับหนึ่ง ทั้งนี้สื่อมวลชนที่ผ่านมาแม้จะมีการกำกับกันเอง แต่ยังทำได้ไม่ดี ดังนั้นกรณีของใบอนุญาต และมาตรการตามกฎหมายนี้ จึงเป็นการจัดระเบียบสื่อมวลชน เหมือนกับประเทศสิงคโปร์ที่มีการจัดระเบียบการนำเสนอข่าวสาร ทำให้รัฐบาลเขามีเสถียรภาพ ประเทศเขาพัฒนา มีความเจริญ ซึ่งต่างจากประเทศไทย ” พล.อ.อ.คณิต กล่าว

พล.อ.อ.คณิต กล่าวถึงการกำหนดนิยามที่ครอบคลุมถึงบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่เปิดเว็บเพจ หรือ เพจเฟซบุ๊คเพื่อนำเสนอข่าวสารนั้น ถือเป็นการเขียนกฎหมายเพื่อให้เป็นมาตฐานสากล ไม่ล้าหลัง เพราะที่ผ่านมาการออกกฎหมายนั้นถูกมองว่าล้าหลัง ไม่ทันสมัย ตามไม่ทันเทคโนโลยีหรืออิเล็คทรอนิกส์ ดังนั้นการเขียนกฎหมายจึงต้องคิดเผื่อ อีกทั้งรัฐบาลปัจจุบันของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ต้องการพัฒนาประเทศให้เป็นยุค 4.0 ดังนั้นกรณีสื่อออนไลน์ที่นำเสนอข้อมูลและมีผลกระทบจำนวนมาก การเขียนกฎหมายด้านสื่อฯ ต้องเขียนให้ครอบคลุม

“สื่อออนไลน์ หรือ เฟซบุ๊คที่จะเข้าข่ายกฎหมายนี้ ต้องกลับไปดูคำนิยามในมาตรา 3 ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย หากไม่อยู่ก็ไม่ต้อง เช่น ผมมีเฟซบุ๊คและส่งข่าวปกติไม่ต้อง แต่หากเป็นธุรกิจและมีผลกระทบต่อสาธารณะ ต้องถูกกำกับ อีกทั้งเมื่อกฎหมายนี้บังคับใช้ เป็นหน้าที่ที่ทุกคนต้องรู้กฎหมายและเดินเข้ามาลงทะเบียนกับทางหน่วยงานหรือสภาวิชาชีพสื่อมวลชน แต่หากใครไม่ต้องการลงทะเบียนก็ให้รีบตั้งสื่อของตนเอง เพราะตามร่างกฎหมายจะอนุโลมให้สื่อที่ตั้งก่อนกฎหมายนี้ออก จะได้รับใบอนุญาตโดยอัตโนมัติ” พล.อ.อ.คณิต กล่าว