'เอ็นพีแอล' กรุงไทยพุ่ง 9 พันล้าน

'เอ็นพีแอล' กรุงไทยพุ่ง 9 พันล้าน

เอ็นพีแอล "แบงก์กรุงไทย" เพิ่มขึ้น 9 พันล้าน ผลพวงสินเชื่อรายใหญ่-เอสเอสเอ็มอี ราคาหุ้นแบงก์ดิ่งแรง นำโดยกรุงไทย เหตุนักลงทุนผวาหนี้เน่าแบงก์พุ่ง

กรุงไทยไตรมาสแรกกำไร 8.53พันล้าน  เพิ่มขึ้น 13.16% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ภาพรวมเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นกว่า 9.24 พันล้านบาท หรือ 10.1% จากสิ้นปีก่อน ผลจากลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่และเอสเอ็มอี ด้านธนชาตกำไร3.27 พันล้านบาท โต15%  

ธนาคารกรุงไทย รายงานผลประกอบการไตรมาส 1 ปี2560 กำไรจากการดำเนินงาน1.8หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 144 ล้านบาท หรือ 0.79%จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ภายหลังหักสำรองหนี้สูญและภาษีเงินได้ มีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร 8.53 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.16% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยรายได้หลักยังเติบโตต่อเนื่อง รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 479 ล้านบาท ธนาคารมีการบริหารต้นทุนอย่างเหมาะสม ขณะที่เศรษฐกิจช่วงต้นปีฟื้นจาก ส่งออก การบริโภคภาคเอกชนและท่องเที่ยวขยายตัว 

โดยไตรมาสแรก มีเงินให้สินเชื่อ 1.91 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.18 พันล้านบาท จากลูกค้าภาครัฐและธุรกิจขนาดใหญ่ ธนาคารและบริษัทย่อยได้กันสำรองหนี้สูญ และขาดทุนจากการด้อยค่าจำนวน7.46พันล้านบาท ลดลง1.16พันล้านบาท และมีอัตราส่วนเงินสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ เท่ากับ112.11%ลดลงจาก 121.57%ณ สิ้นปี2559

ด้านสินเชื่อด้อยคุณภาพ หรือเอ็นพีแอล (NPL) ในช่วงไตรมาสแรกมีเอ็นพีแอลกว่า 1 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.24พันล้าน บาท หรือเพิ่มขึ้น 10.15%จากสิ้นปี2559 จากลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่และลูกค้าเอสเอ็มอีในบางอุตสาหกรรม อัตราส่วน Net NPLอยู่ที่ 1.94%และgross NPL อยู่ที่ 4.36%เพิ่มขึ้นจาก 3.97%ในช่วงสิ้นปี2559 ทั้งนี้ธนาคารได้ดูแลคุณภาพสินทรัพย์อย่างใกล้ชิด มีระมัดระวังในการพิจารณาสินเชื่อ รวมทั้งให้ความสำคัญในการติดตามหนี้อย่างรวดเร็ว และปรับโครงสร้างหนี้ตามความเหมาะสม

ธนชาตกำไรโตเอ็นพีแอลลด

ด้านนายสมเจตน์ หมู่ศิริเลิศประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารธนชาต กล่าวว่า  ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรในช่วงไตรมาส 1 ปีนี้ 3.27 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 428 ล้านบาท หรือ 15.05%จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเติบโตต่อเนื่องติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 9 เป็นผลสำเร็จจากการปรับกลยุทธ์เพื่อรองรับภาวะเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัว การมุ่งเน้นรักษาความแข็งแกร่งของคุณภาพสินเชื่อ การบริหารค่าใช้จ่ายหนี้สูญ และหนี้สงสัยจะสูญอย่างมีประสิทธิภาพ

ไตรมาสแรกปีนี้ ธนาคารมีส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิ 2.89% จาก 2.70% จากงวดเดียวกันปีก่อน โดยมีเงินให้สินเชื่ออยู่ที่ 6.83 แสนล้านบาทลดลง 1.28% จากสินเชื่อธุรกิจลูกค้ารายใหญ่  แต่มีค่าใช้จ่ายหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญลดลง 50%หรืออยู่ที่ 897 ล้านบาท โดยมีสินเชื่อด้อยคุณภาพลดลง 798 ล้านบาท จากสิ้นปีที่ผ่านมา หรือมีเอ็นพีแอลอยู่ที่ 1.56 หมื่นล้านบาท ทำให้เอ็นพีแอลลดลงเหลือ 2.21% เฉพาะกิจการธนาคารเอ็นพีแอลลดลงเหลือ 1.82%

หุ้นแบงก์ดิ่งผวาหนี้เน่าพุ่ง

ส่วนการเคลื่อนไหวราคาหุ้นกลุ่มธนาคารปรับลดลงแรงวานนี้(19เม.ย.2560) หลังจากที่ทยอยประกาศผลประกอบการไตรมาสแรก โดยเฉพาะแบงก์กรุงไทยมีการตั้งสำรองสูงขึ้นทำให้นักลงทุนกังวลจึงเทขายออกมา และล่าสุดปิดตลาดที่ราคา 19.70 บาท บาทลดลง 5.29% และแบงก์ทหารไทย(TMB) ปิดตลาดที่ 2.18 บาท ลดลง 6.03%  ขณะที่แบงก์ใหญ่อื่นๆ ก็ปรับตัวลงเช่นกัน

นักวิเคราะห์ บล.ฟิลลิป กล่าวว่า ดัชนีหุ้นไทยผันผวนเนื่องจากได้รับแรงกดดันหลักจากการขายหุ้นใหญ่กลุ่มสื่อสาร และธนาคาร หลังการทยอยประกาศผลประกอบการออกมาแล้ว

บล.เอเซียพลัส ระบุว่าหลังจากรายงานงบไตรมาสแรกปีนี้ของแบงก์ทหารไทยต่ำกว่าคาด 6% และ แนวโน้มไตรมาส 2/2560 คาดยังทรงตัวใกล้เคียงกับงวดไตรมาสแรก โดยรวมปี 2560 คาดกำไรเติบโต 11.9%จากปีก่อน โดยคาดสินเชื่อสุทธิเติบโต 8-10% จากปีก่อน ซึ่งหลักๆ เน้นไปที่กลุ่มสินเชื่อ เอสเอ็มอี และรายย่อยมากขึ้น แต่ด้วยราคาหุ้นขยับขึ้นมาจนเกินมูลค่าพื้นฐานจึงแนะนำให้ย้ายไปหุ้นอื่น และ ตามด้วยทิสโก้ กำไรสุทธิงวดนี้เติบโตดี จากค่าใช้จ่ายสำรองหนี้ฯ ที่ลดลง และ การปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ และ SME ยังไปได้ดี

บล.โกลเบล็ก ประเมินว่าการที่แบงก์กรุงไทยได้ปรับเพิ่มเงินสำรองค่าเผื่อหนี้สูญเป็นเดือนละ 1,000 ล้านบาท ตั้งแต่ต้นปี 2559 จากเดิมเดือนละ 700 ล้านบาท ทำให้ Coverage Ratio ขึ้นมาที่ 122% ในสิ้นปี 2559 จาก 113% สิ้นปี 2558 แต่ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มแบงก์ใหญ่ที่ราว 130% ทำให้การตั้งสำรองปีนี้ 2560 มีแนวโน้มอยู่ในระดับสูง

บล.ฟินันเซีย ไซรัส รายงานว่า มองลบต่อหุ้นแบงก์กรุงไทย หลังงบไตรมาสแรกกำไรใกล้เคียงคาด แต่เอ็นพีแอลพุ่งขึ้นแรงราว 1 หมื่นล้านบาท จากไตรมาส 4/2559 จากกลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่และ เอสเอ็มอี