สำนักช่างสิบหมู่ ดำเนินการออกแบบของที่ระลึกและเครื่องสังเค็ด

สำนักช่างสิบหมู่ ดำเนินการออกแบบของที่ระลึกและเครื่องสังเค็ด

สำนักพระราชวัง แจ้งว่า ตามที่ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สำนักราชเลขาธิการ และสำนักพระราชวังดำเนินการจัดทำของที่ระลึกงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

     ถวายแก่พระสงฆ์บรรพชิตจีนนิกาย และอนัมนิกาย รวมทั้งถวายตามพระอารามหลวง ในการบำเพ็ญพระราชกุศลออกพระเมรุมาศถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ โดยของที่ระลึกและเครื่องสังเค็ดดังกล่าว จะต้องมีการออกแบบสร้างขึ้นโดยประณีตลวดลาย สีสันที่ใช้และปักประดับต้องมีความหมายเกี่ยวพันในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิอดุลยเดชนั้น

     สำนักพระราชวังได้มอบหมายให้กรมศิลปากร โดยช่างกลุ่มประณีตศิลป์ ช่างกลุ่มจิตรกรรม และช่างกลุ่มศิลปประยุกต์และเครื่องเคลือบดินเผา สำนักช่างสิบหมู่ ดำเนินการออกแบบของที่ระลึกและเครื่องสังเค็ด ประกอบด้วย พัดรอง –ผ้ากราบ-ย่าม ,ตู้สังเค็ด ,หีบปาฏิโมกข์ ,ธรรมาสน์ปาฏิโมกข์ ซึ่งนายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร นำขึ้นกราบบังคับทูลฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทอดพระเนตรและทรงมีพระราชวินิจฉัยเลือกแบบ โปรเดเกล้าฯให้สำนักพระราชวังรับไปดำเนินการจัดสร้างแล้ว ดังนี้

1.พัดรองสำหรับพระสงฆ์ในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลการออกพระเมรุมาศ ออกแบบโดย นายเจริญ ฮั่นเจริญ กลุ่มจิตรกรรม มีลักษณะเป็นพัดหน้านาง ปักลวดลายพระบรมโกศตั้งบนพระแท่น ประดับด้วยพระนามาภิไธยย่อ ภปร. และฉัตร 5ชั้น 2ข้าง พร้อมวันที่สวรรคต

2.พัดรองสำหรับพระจีนนิกายและอนัมนิกายในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลการออกพระเมรุมาศ ออกแบบโดย นายเกียรติศักดิ์ สุวรรณพงศ์ กลุ่มงานจิตรกรรม มีลักษณะคล้ายพัดเหลี่ยมมุมมน ปักลวดลาย ตราพระปรมาภิไธยย่อ ภ.ป.ร. ภายใต้อุณาโลมและพระมหาพิชัยมงกุฎ นมพัดทำเป็นรูปครุฑหล่อประดับ ปักปีพระสูติและปีสวรรคตซ้าย-ขวาของนมพัด

3.พัดรองสำหรับพระสงฆในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลฉลองพระบรมอัฐิ ออกแบบโดย นายอัครพล คล่องบัญชี กลุ่มศิลปะประยุกต์และเครื่องเคลือบดินเผา ลักษณะเป็นพัดหน้านาง ปักลวดลายพระบรมโกศตั้งบนพระแท่น ประดับด้วยฉัตร 7 ชั้น 2 ข้าง นมพัดทำเป็นรูปพระราชลัญจกรประจำรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นรูปพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ ประกอบด้วยวงจักร กลางวงจักรมีอักขระเป็น “อุ” หรือ “เลข 9” รอบวงจักรมีรัศมีเปล่งออกโดยรอบ เหนือจักรเป็นรูปเศวตฉัตร 7 ชั้น ฉัตรตั้งอยู่บนพระที่นั่งอัฐทิศ

4.ตู้สังเค็ด เป็นตู้กระจกสำหรับใส่หนังสือ มีขารองรับน้ำหนัก 4 ขา ขนาดสูง 170เซ็นติเมตร กว้าง 86เซนติเมตร และลึก44 เซนติเมตร หลังคาตู้ประดับกระจังลวดลายตราพระปรมาภิไธยย่อ ภ.ป.ร. ภายใต้อุณาโลมและพระมหาพิชัยมงกุฎ มีรูป “กระต่าย” และ “ลิง” สัตว์นักษัตรประจำปีประสูติ และปีสวรรคต ขนาบข้าง ช่องกระจกหน้าตู้ทั้ง 4ช่อง แกะลายพ่นทรายเป็นรูปพระพุทธรูปประจำวันประสูติ ,พระพุทธรูปประจำพระชนมวาร ,พระมหาชนก และนางมณีเมขลา ออกแบบโดย นายสุธี สกุลหนู กลุ่มงานช่างเขียนและลายรดน้ำ กลุ่มประณีตศิลป์

5ตู้พระปาฏิโมกข์ ออกแบบโดย นายธีรยุทธ คงเพชร์ กลุ่มงานศิลปะประยุกต์และเครื่องเคลือบดินเผา ซึ่งมีลวดลายคล้ายกับตู้พระปาฏิโมกข์ของวัดบวรนิเวศวิหาร

6.ธรรมมาสน์ปาฏิโมกข์ ลายเหลี่ยมเพชร ออกแบบโดย นายอัครพล คล่องบัญชี กลุ่มศิลปะประยุกต์และเครื่องเคลือบดินเผา

     ด้าน นายสมควร อุ่มตระกูล ผู้อำนวยการสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร กล่าวว่า ธรรมเนียมนิยมการสร้างถวายเครื่องสังเค็ด เริ่มขึ้นหลังจากงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา โดยเครื่องสังเค็ดจะถวายไปยังวัดวาอารามต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด มีหลายประเภทด้วยกัน เช่น ธรรมาสน์เทศน์ ธรรมาสน์สวด หนังสือปาติโมกข์พร้อมตู้ เทียนสลักพร้อมตู้ลายทอง หีบใส่หนังสือสวด หนังสือเทศน์ พัดรอง ย่าม ผ้ากราบ และภาชนะเครื่องใช้ต่างๆ ของสงฆ์ สำหรับแบบของที่ระลึกและเครื่องสังเค็ด ประกอบด้วย พัดรอง –ผ้ากราบ-ย่าม ,ตู้สังเค็ด ,หีบปาฏิโมกข์ ,ธรรมาสน์ปาฏิโมกข์ ที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้จัดทำนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงแบบร่วมกับสำนักพระราชวัง เพื่อทำไปผลิตจริง