คณบดีวิทยาลัยศิลปะ มช. ส่งหนังสือแจง4ข้อ-ไม่ได้ถูกปปช.ชี้มูล

คณบดีวิทยาลัยศิลปะ มช. ส่งหนังสือแจง4ข้อ-ไม่ได้ถูกปปช.ชี้มูล

"ผศ.ดร.ปิติพงษ์" คณบดีวิทยาลัยศิลปะ มช. ส่งหนังสือแจง4ข้อ-ไม่ได้ถูกปปช.ชี้มูล กรณียึดเงินสะสมอดีตอาจารย์ ย้ำทำเพื่อรักษาผลประโยชน์ของทางราชการ

ผศ.ดร.ปิติพงษ์ ยอดมงคล คณบดีวิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ส่งหนังสือชี้แจง ระบุว่า ตามที่เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ ได้นำเสนอข่าว "ปปช.ชี้มูลกรณีคณบดีวิทยาลัยศิลปะฯ มช. ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ-ยึดเงินสะสม" โดยมีรายละเอียดของข่าวตามเอกสารที่อ้างถึง ผศ.ดร.ปิติพงษ์ ยอดมงคล คณบดีวิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งขอชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว

ข้อ 1 นายพรเทพฯ ได้ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีภูพิงค์ราชนิเวศน์ กล่าวหาว่าข้าพเจ้า ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณียึดหน่วงเงินสะสมพนักงานจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จำนวน 80,714.93 บาท ของนายพรเทพฯไว้โดยมิชอบด้วยกฎหมายแต่เนื่องจากข้าพเจ้า ดำรงตำแหน่งคณบดีฯ ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องส่งเรื่องของข้าพเจ้ามายังป.ป.ช.จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงและชี้มูลว่ามีความผิดหรือไม่ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 หรือไม่

ข้อ 2 ป.ป.ช.ประจำจังหวัดเชียงใหม่ ได้ทำการแสวงหาข้อเท็จจริง และรวบรวมพยานหลักฐานในกรณีดังกล่าว และได้มีความเห็นโดยสรุป ดังนี้ (รายละเอียดปรากฎตามบันทึกข้อความ สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดเชียงใหม่ ลงวันที่ 5 พฤศจิกายน 2558)

ข้อ2.1 การยึดหน่วงเงินดังกล่าว เป็นการดำเนินการเพื่อรักษาผลประโยชน์ของมหาวิทยาลัย โดยมีความเห็นโดยสรุป ดังนี้ "พิจารณาแล้วเห็นว่าการที่นายพรเทพฯ ถูกวิทยาลัยวิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี ยึดหน่วงเงิน สะสมสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินเดือน และค่าตอบแทนอื่นๆ ของนายพรเทพฯ รวม 4 รายการข้างต้นมีสาเหตุมาจากนายพรเทพฯได้ยืมเงินมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จำนวน 1,100,000 บาท และไม่ส่งคืนภายในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งตามประกาศมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรื่องเงินยืมเงินทดรองจ่ายของมหาวิทยาลัย พ.ศ.2552 ข้อ11และข้อ15 มีข้อกำหนดชัดแจ้งว่า ในกรณีที่ผู้ยืมไม่ได้ชำระเงินคืนยืมภายในระยะเวลาที่กำหนดให้หัวหน้าส่วนงานมีหนังสือแจ้งเตือนให้ผู้ยืมเงินชดใช้ยืมอย่างช้าไม่เกิน 15 วัน หากผู้ยืมไม่มีการส่งใช้เงินคืน หัวหน้าส่วนงานสามารถหักเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง เงินค่าตอบแทน บำเหน็จ บำนาญ หรือเงินอื่นใดที่ผู้ยืมมีสิทธิได้รับจากทางมหาวิทยาลัย ในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 พร้อมดอกเบี้ยของยอดเงินรวมทั้งหมด เพื่อส่งใช้คืนตามสัญญายืมเงิน จนกว่าจะครบถ้วน ซึ่งข้อเท็จจริงวิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี ได้มีหนังสือติดตามทวงถามแล้ว จำนวน 2 ฉบับ แต่นายพรเทพฯไม่ส่งเงินใช้คืนภายในระยะเวลาที่กำหนด วิทยาลัยฯจึงมีสิทธิที่จะยึดหน่วงเงินรายได้ต่างๆ ของนายพรเทพฯ"

2.2 ความเห็นของพนักงานเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ประจำจังหวัดเชียงใหม่ ที่ทำการแสวงหาข้อเท็จจริงได้มีความเห็นว่า พิจารณาแล้ว "ไม่ปรากฎว่าผู้ถูกกล่าวหา (ผศ.ดร.ปิติพงษ์ ยอดมงคล) มีพฤติการณ์แห่งการกระทำผิดที่ชัดเจนเพียงพอที่จะดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงได้ ประกอบกับได้ขอทราบรายละเอียดตามคำกล่าวหาเพิ่มเติมจากนายพรเทพฯแล้ว นายพรเทพฯให้ถ้อยคำว่า ไม่มีข้อเท็จจริงอื่นใดเพิ่มเติม จึงเห็นควรไม่ต้องชี้แจงผลการแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานให้นายพรเทพฯ ทราบ และเห็นควรไม่รับเรื่องกล่าวหานี้ไว้ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง ตามระเบียบคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่าด้วยการแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐาน พ.ศ. 2554 ข้อ 13 วรรค 2 "

ข้อ 3 ป.ป.ช. ประจำจังหวัดเชียงใหม่ ไม่ได้มีการชี้มูลความผิดข้าพเจ้า ปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ในกรณีของการยึดหน่วงเงินสะสมดังกล่าวแต่อย่างใด แต่ในความเป็นจริง ป.ป.ช. ได้มีคำสั่งยุติเรื่องดังกล่าวโดยให้เหตุผลว่า "ข้าพเจ้าไม่ได้มีเจตนาพิเศษที่จะกลั่นแกล้งให้เกิดความเสียหายแก่นายพรเทพฯ แต่การกระทำดังกล่าวเป็นการรักษาผลประโยชน์ของทางราชการ"

ข้อ 4 หลังจากที่ ป.ป.ช. ประจำจังหวัดเชียงใหม่ ได้มีความเห็นว่าข้าพเจ้าไม่ได้กระทำผิดตามที่นายพรเทพฯกล่าวหา ตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ป.ป.ช. จะต้องมีหนังสือมายังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นหน่วงงานต้นสังกัดของข้าพเจ้า เพื่อให้ตรวจสอบว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่ผิดวินัยหรือไม่ โดย ป.ป.ช. จะปฎิบัติแบบนี้ทุกกรณีที่สั่งยุติเรื่องไม่ชี้มูลความผิด ดังนั้น ป.ป.ช.จึงมีหนังสือที่ ปช 0034 (ชม) / 1879 ลงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2559 ถึงมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงว่ากรณีดังกล่าวมีมูลความผิดทางวินัยหรือไม่ และทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้มีคำสั่งที่ 2883/2559 ตั้งกรรมการสืบสวนหาข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว โดยคณะกรรมการฯ มีความเห็นว่า การกระทำของข้าพเจ้าเป็นไปเพื่อรักษาผลประโยชน์ของมหาวิทยาลัย จึงเห็นควรยุติเรื่องและแจ้งผลให้ ป.ป.ช. ทราบ

ข้อ 4 นอกจากนี้ ป.ป.ช.ฯ ก็ยังได้มีหนังสือที่ ปช 0034 (ชม) / 1879 ลงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2559 แจ้งให้นายพรเทพ ฑีฆานนท์ ทราบว่าเรื่องดังกล่าว ป.ป.ช.ฯ มีมติให้ส่งเรื่องกลับมายังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อตรวจสอบว่าเป็นการกระทำที่ผิดวินัยหรือไม่ ซึ่งไม่ได้มีข้อเท็จจริงใดที่แสดงให้เห็นความข้าพเจ้ามีการกระทำความผิดทางอาญาและมีการชี้มูลความผิดจาก ป.ป.ช. แต่อย่างใด

จากข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น ข้าพเจ้าขอเรียนให้ทราบว่า ในการปฏิบัติหน้าที่คณบดีวิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี ของข้าพเจ้า ได้ดำเนินการอย่างถูกต้องเป็นไปตามระเบียบและที่เกี่ยวข้อง ตามรายละเอียดที่ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้เบื้องต้น โดยท่านสามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าวจาก สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดเชียงใหม่ โดยข้าพเจ้า มีความเห็นว่า จากการลงข่าวที่ผิดพลาดทำให้ข้าพเจ้าเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง จากบุคคลที่ไม่ทราบข้อเท็จจริง ดังนั้น ข้าพเจ้าในฐานะเป็นผู้เสียหายในเรื่องดังกล่าว ขอให้หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ พิจารณาดำเนินการ ดังต่อไปนี้

ประการที่ 1 พิจารณาแก้ข่าวในเรื่องดังกล่าวให้ถูกต้องต่อสาธารณชน รวมทั้งดำเนินการลบข่าวที่ไม่ถูกต้อง

ประการที่ 2 ทำหนังสือชี้แจงถึงสาเหตุความผิดพลาดในการลงข่าวดังกล่าวมายังข้าพเจ้าโดยตรงที่วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 239 ถนนห้วยแก้ว ตำบลสุเทพ อำเมืองเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50200

ข้าพเจ้าหวังว่าจะได้รับความร่วมมือจากท่านด้วยดี ขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้ ขอแสดงความนับถือ ผศ.ดร.ปิติพงษ์ ยอดมงคล คณบดีวิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่