ธปท.ลั่นดูแลบาทเมินผลการค้า

ธปท.ลั่นดูแลบาทเมินผลการค้า

"แบงก์ชาติ" ลุ้นสหรัฐประกาศรายชื่อปท.บิดเบือนค่าเงิน เชื่อไม่ติดโผ พร้อมยืนยันเข้าดูแลค่าเงิน ไม่ได้หวังผลการค้า ด้าน "สมคิด” พร้อมรับมือมาตรการสหรัฐ

จากกรณีที่ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐมีคำสั่งให้กระทรวงพาณิชย์และตัวแทนการค้าของสหรัฐ หาสาเหตุที่สหรัฐมียอดขาดดุลการค้าสูงถึง 5 แสนล้านดอลลาร์ ในปีที่ผ่านมากับอีก 16 ประเทศ ซึ่งมีรายชื่อของประเทศไทยรวมอยู่ด้วยนั้น

นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวว่า ภายในครึ่งหลังของเดือน เม.ย.นี้ คงมีรายงานออกมาว่า ประเทศไทยจะติดอยู่ในประเทศที่มีการบิดเบือนอัตราแลกเปลี่ยน(Currency Manipulator) หรือไม่ แต่ถึงแม้จะมีรายชื่อของไทยติดอยู่ด้วยจริง เชื่อว่าผลกระทบคงไม่ได้เกิดขึ้นในระยะสั้น เพราะยังต้องเข้าสู่กระบวนการเจรจาก่อน

“ครึ่งหลังของเดือนนี้คงมีรายงานออกมา แต่ผลกระทบจะมากหรือไม่นั้น คงไม่เกิดขึ้นเร็ว เพราะจริงๆ แล้ว การถูกกำหนดให้เป็น Currency Manipulator เขาจะให้เวลาในการเจรจา ซึ่งผลกระทบก็ต้องขึ้นอยู่กับการเจรจาด้วย โดยเขาจะดูว่าสินค้าไหนอะไรบ้างที่เราได้เปรียบโดยที่ไม่สมควร ผลกระทบจึงยังไม่เกิดขึ้นเร็ว”

ส่วนคำถามที่ว่าการเข้าดูแลอัตราแลกเปลี่ยนของ ธปท. รวมทั้งมาตรการลดซัพพลายด้วยการลดวงเงินการออกประมูลพันธบัตรที่ออกมาล่าสุด จะถูกมองว่า เป็นเครื่องมือในการดูแลค่าเงินเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบการค้าหรือไม่นั้น เรื่องนี้ นายจาตุรงค์ กล่าวว่า มาตรการเหล่านี้เป็นมาตรการที่ดูแลการไหลเข้าของเงินทุนมากกว่า ที่จะหวังผลในเชิงการค้า

ปัดดูแลค่าเงินหวังได้เปรียบการค้า

นายจาตุรงค์ ยืนยันว่า การเข้าดูแลสถานการณ์ด้านอัตราแลกเปลี่ยน เป็นการเข้าดูแลในช่วงที่มีเงินทุนต่างชาติไหลเข้ามาจำนวนมาก จึงไม่ใช่เป็นการเข้าแทรกแซงเพื่อให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง เพื่อหวังความได้เปรียบในเชิงของการค้า

“เราเป็นประเทศเศรษฐกิจเล็กและเปิด เงินที่ไหลเข้าออกค่อนข้างสะดวก จึงมีผลกระทบในเชิงราคาพอสมควร แต่เราก็ไม่ได้เข้าไปดูแลค่าเงินเพื่อหวังให้เกิดความได้เปรียบทางการค้า”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธปท.ได้เริ่มใช้มาตรการลดซัพพลายโดยการลดวงเงินการออกประมูลพันธบัตรธปท.ในรุ่นอายุ 3 เดือนและ 6 เดือนละ รุ่นละ 1 หมื่นล้านบาท เหลือวงเงินประมูลที่ 3 หมื่นล้านบาทต่อรุ่น จากเดิมที่ 4 หมื่นล้านบาทต่อรุ่น โดยเริ่มใช้เฉพาะในเดือน เม.ย.นี้ เพื่อหวังลดแรงจูงใจที่นักลงทุนต่างชาตินำเงินเข้ามาพักไว้ในพันธบัตรของธปท. และช่วยลดการแข็งค่าของเงินบาท

นายจาตุรงค์ กล่าวว่า มาตรการลดซัพพลายนี้ ยังไม่สามารถประเมินได้ชัดเจนว่ามีผลมากน้อยแค่ไหน เพราะถ้าดูเมื่อวันที่ 4 เม.ย.ซึ่งเป็นวันแรกของการประมูล แม้ว่าผลตอบแทนพันธบัตร(บอนด์ยีลด์) จะปรับลดลง แต่บอนด์ยีดล์ของสหรัฐเองก็ปรับลดลงเช่นกัน เช่นเดียวกับอัตราแลกเปลี่ยนแม้ว่าเงินบาทจะอ่อนค่าลง แต่ก็เป็นการอ่อนค่าที่สอดคล้องกับค่าเงินสกุลอื่นในภูมิภาค จึงยังไม่สามารถประเมินได้ชัดเจนว่ามาตรการดังกล่าวได้ผลมากน้อยแค่ไหน

ปิดช่องลดดอกเบี้ย

ส่วนคำถามที่ว่าหากเงินบาทยังแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง กนง.มีโอกาสที่จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงหรือไม่นั้น นายจาตุรงค์ กล่าวว่า เรื่องการปรับดอกเบี้ยนโยบายอยากให้ดูที่ตัวเลขเศรษฐกิจและเงินเฟ้อมากกว่า เพราะจะเป็นตัวที่กำหนดทิศทางของดอกเบี้ยว่าควรจะปรับไปในทิศทางใด ซึ่งถ้าดูตัวเลขเศรษฐกิจในขณะนี้ จะเห็นว่าเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีขึ้น

ด้านเงินบาทปิดตลาดวานนี้ (7 เม.ย.) อ่อนค่าที่ 34.62 บาทต่อดอลลาร์ จากเปิดตลาดที่ระดับ 34.60 บาทต่อดอลลาร์ หลังเงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าขึ้นจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ

ภาครัฐเร่งหารือรับนโยบายการค้า“ทรัมป์”

ด้านนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ จะตรวจสอบการขาดดุลการค้าของสหรัฐ กับ 16 ประเทศว่าเพื่อรับมือในเรื่องนี้ ตนเองได้มีการประชุมร่วมกับ ธปท. กระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยเพื่อประเมินสถานการณ์และเตรียมการสำหรับเรื่องดังกล่าวแล้ว

ทุกฝ่ายมีความเห็นตรงกันว่า ไม่ควรตื่นตกใจกับเรื่องดังกล่าวจนเกินไปนักเนื่องคำสั่งประธานาธิบดีที่ออกมาเป็นเพียงคำสั่งที่ให้ตรวจสอบประเทศที่เข้าข่ายเกินดุลการค้าสหรัฐ แต่ยังไม่มีการระบุชื่อประเทศที่สหรัฐจะมีมาตรการตอบโต้ ซึ่งคณะทำงานที่ประธานาธิบดีสหรัฐตั้งขึ้นมีเวลา 90 วันในการทำงานตรวจสอบ โดยเรื่องนี้ไทยพร้อมที่จะให้ข้อมูลและให้ความร่วมมือทุกด้านหากทางการสหรัฐร้องขอ

“ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่า เรายังไม่ควรตกใจเกินเหตุ เพราะยังไม่มีการระบุชื่อประเทศที่สหรัฐขาดดุลการค้าแล้วจะโต้ตอบ ทางการสหรัฐจะใช้เวลาในการตรวจสอบสาเหตุการขาดดุลเป็นเวลา 90 วัน ซึ่งไทยเองก็ยินดีให้ข้อมูล และอยากเชิญสหรัฐมารับรู้ข้อมูลด้วย ขณะนี้ทางการไทยได้ให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประสานและให้ข้อมูลอยู่”

นายสมคิด กล่าวว่า ในส่วนของไทยที่มีการเกินดุลการค้า สหรัฐนั้นต้องมองว่าแม้จะเป็นการเกินดุลการค้า แต่เมื่อเทียบประเทศอื่นแล้วยังน้อยมาก ที่สำคัญประเทศไทย เกินดุลการค้าสหรัฐด้วยความสามารถของภาคเอกชน โดยภาครัฐไม่ได้มีส่วนเข้าไปแทรกแซงหรือบิดเบือน เพราะเราตระหนักดีว่าหากแทรกแซงจะเข้าข่ายถูกจับตามองได้ โดยเฉพาะในเรื่องค่าเงิน ซึ่งมีหลักฐานว่าค่าเงินบาทปัจจุบันก็แข็งค่าขึ้นตามกลไกตลาด

ย้ำความร่วมมือลงทุน-ทหารยังเดินหน้า

สำหรับความร่วมมือระหว่างไทยกับสหรัฐในด้านต่างๆยังเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ของไทยที่มีแผนจะลงทุนในสหรัฐก็ยังคงมีแผนที่จะเดินหน้า นอกจากนี้ยังมีโครงการซื้อเครื่องบินจากบริษัทโบอิ้งของสหรัฐ รวมทั้งความร่วมมือด้านกองทัพที่มีสัมพันธ์ที่ยาวนานและลึกซึ้งและมีนัยในภูมิภาคซึ่งมีความร่วมมือเกี่ยวกับการจัดซื้ออาวุธได้ในอนาคต ซึ่งเรื่องนี้ทางการสหรัฐทราบดี

“หากยังจะมาเล่นเกมหมาป่าลูกแกะ หาเรื่องพาล เราเข้มแข็งพอและไม่มีอะไรต้องกลัว เราไม่ได้ทำผิดอะไร โครงสร้างเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะส่งออก กระจายตัวมาก การส่งออกไปสหรัฐคิดเป็นสัดส่วนเพียง 10% ที่สำคัญบริษัทอเมริกันเองด้านอิเล็กทรอนิกส์ ก็ผลิตในไทยส่งออกไปสหรัฐเพื่อผลิตต่อ ซึ่งช่วยการจ้างงานคนอเมริกัน อุตสาหกรรมอื่นๆหากแกล้งเราทั้งที่เราไม่ผิด เชื่อว่าเอกชนไทยหาตลาดอื่นได้ ด้านลงทุนและท่องเที่ยวก็ไม่มีปัญหา แต่ทั้งหมดนี้เราบริสุทธิ์ใจและพร้อมให้ข้อมูล ไม่ใช่เรื่องต้องตื่นตระหนก และรัฐบาลไม่ประมาท”

พาณิชย์ถกกลุ่มอาหาร-อิเล็กทรอนิกส์

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยในฐานะโฆษกกระทรวงพาณิชย์ โดยระบุว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมากระทรวงฯ ได้หารือร่วมกับภาคเอกชนที่ส่งออกสินค้าไปยังตลาดสหรัฐ เพื่อประเมินถึงมูลค่าการค้าและวางแผนรับมือโดยในเบื้องต้นได้ดำเนินการหารือกับภาคเอกชนในกลุ่มอาหาร และอิเล็กทรอนิกส์ พร้อมทั้งประสานงานไปยังหอการค้าไทย และ ส.อ.ท.เพื่อหารือข้อมูล ซึ่งพบว่าภาคเอกชนตื่นตัวและอยู่ระหว่างประเมินสถานการณ์

สัปดาห์หน้าหารือกลุ่มยานยนต์

นางสาวพิมพ์ชนก กล่าวว่าอยากให้มีการประเมินมูลค่าการลงทุนของนักธุรกิจสหรัฐให้ชัดเจน เพราะปัจจุบันข้อมูลที่รัฐบาลสหรัฐ มีอาจไม่ตรงกับข้อมูลที่มีการลงทุนในไทยจริง ทั้งนี้จากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นพบว่าปัจจุบันมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยไปสหรัฐ 2.45 หมื่นล้านดอลลาร์ มี 18% เป็นการส่งออกจากบริษัทของนักลงทุนชาวสหรัฐ

“ตอนนี้กระทรวงฯ กำลังเร่งหารือในทุกประเด็นที่คาดว่าสหรัฐ จะนำมาพิจารณาการขาดดุลการค้า โดยในรายการสินค้าส่งออกได้หารือร่วมกับภาคเอกชน โดยสัปดาห์หน้าจะทยอยหารือร่วมกับกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์เพิ่มเติม แต่ยังมองว่าเรื่องของการปรับตัวภาครัฐฯ ก็เป็นส่วนสำคัญที่สหรัฐจะพิจารณาอย่างปัญหาทรัพย์สินทางปัญญาส่วนนี้ภาครัฐฯ จำเป็นต้องตื่นตัว และอีกเรื่องสำคัญคือการรวบรวมข้อมูลการลงทุนที่เกิดขึ้นในขณะนี้ เพราะต้องยอมรับว่าสหรัฐ ก็เข้ามาลงทุนในไทย และมีการส่งออกกลับไปค่อนข้างมาก