'บิ๊กตู่' เบรก 'บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ'

'บิ๊กตู่' เบรก 'บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ'

"ประยุทธ์" ไม่เห็นด้วยตั้ง "บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ" ระบุซ้ำซ้อนกับการทำงานของบริษัทพลังงานที่คลังถือหุ้น รัฐบาลแค่ต้องการดันกฎหมายปิโตรเลียมรองรับลงทุน

หลังจากม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี ระบุว่ามีการแก้ไขร่างกฎหมายปิโตรเลียมที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) โดยเสนอให้มีการตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ และเปิดเผยรายชื่อนักวิชาการ ผู้บริหารหน่วยงานรัฐและรัฐวิสาหกิจที่ร่วมคัดค้านด้วย

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวไม่เห็นด้วยกับการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ที่มีการแก้ไขในร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียมที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)เช่นเดียวกัน

นายกรัฐมนตรีระบุว่ากฎหมายพ.ร.บ.ปิโตรเลียมมีการเสนอมาตั้งแต่ปี2557 ก่อนที่ตนจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและเมื่อมีการเสนอเรื่องนี้ในสมัยรัฐบาลของตนก็ได้เพิ่มการแบ่งปันผลผลิตเพิ่มเติมจากเรื่องระบบเดิมที่เป็นระบบสัมปทาน ซึ่งยังมีผู้ที่คัดค้านเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) และเรียกร้อง ที่นำโดยนางสาวรสนา โตสิตระกูล ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี และท่านอื่นๆ ก็พยายามที่จะเรียกร้องในประเด็นต่างมากมาย ซึ่งรัฐบาลก็รับฟังเพราะถือว่าเป็นข้อเสนอจากกลุ่มต่างๆ

เมื่อผ่านการพิจารณาจากรัฐบาลเป็นขั้นตอนของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งมีการตั้งคณะกรรมาธิการมาพิจารณา ก็ทราบว่ากลุ่มนี้ไปกดดันการทำงานของคณะกรรมาธิการอีกว่าจะต้องมีบรรษัทพลังงานแห่งชาติให้ได้

“ผมก็ได้พูดหลายครั้งแล้วว่าเรายังไม่พร้อม และไม่จำเป็นเพราะเรามีบริษัทเอกชนที่ถือหุ้นอยู่โดยกระทรวงการคลังเป็นจำนวนมาก ก็ถือว่าเป็นรัฐวิสาหกิจ การตั้งบรรษัทขึ้นมาก็อาจจะซ้ำซ้อน แต่ผมก็ให้เป็นหน้าที่ของ สนช.ในการพิจารณา รัฐบาลต้องการผลักดันเฉพาะเรื่องของ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ซึ่งเกี่ยวข้องกับการลงทุนขุดเจาะน้ำมัน ซึ่งมีหลายพื้นที่ที่ต้องตัดสินใจไม่ให้พลังงานขาดแคลนเพราะเอกชนต้องใช้เวลาในการวางแผน 5-6 ปี ซึ่งการตัดสินใจล่าช้าอาจทำให้พลังงานไม่เพียงพอและต่างประเทศไปลงทุนที่อื่น ซึ่งเมื่อมีปัญหาในส่วนของกฎหมายก็ไปว่าในสภาฯอย่ามาสงสัยว่าเป็นเรื่องที่ทหารอยู่เบื้องหลังเรื่องนี้”

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขอให้เข้าใจว่ามีการบรรจุมาตามขั้นตอนร่างกฎหมายที่ภาคประชาชนเรียกร้องเข้ามา มีการตั้งคณะกรรมการร่วมโดยมีข้อเสนอเรื่องนี้จากกลุ่มที่คัดค้านว่า พ.ร.บ.ปิโตรเลียมต้องมีบรรษัทพลังงานแห่งชาติ ซึ่งรับมาแล้วให้สนช. มีคณะกรรมาธิการเป็นผู้พิจารณา ต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ชาติเป็นหลัก

ยันทหารไม่มีหน้าที่ทำธุรกิจพลังงาน

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่ากรณีที่ได้แอบใส่เรื่องนี้เข้าไปในขั้นตอนของ สนช.และจะให้กรมพลังงานทหารไปทำหน้าที่ตรงนี้ก็ต้องบอกว่าทำไม่ได้เพราะหน่วยงานมีหน้าที่จำกัด ไม่ใช่มีหน้าที่มาประกอบการด้านธุรกิจนั้นทำไม่ได้ และไม่มีแนวคิดให้ไปขับเคลื่อนแล้วเอามาเป็นประโยชน์ต่อทหาร หากเสนอมาในรูปแบบนี้ก็ไม่เห็นด้วยให้ทำอยู่แล้ว

ส่วนการพิจารณาของ สนช.จะมีการพิจารณาออกมาอย่างไร ทำได้หรือไม่ได้ หรือจะทำให้ประเทศชาติเสียหายอย่างไรก็ขอให้รู้ว่าตนทำเต็มที่แล้ว และไม่เคยมีแนวความคิดจะให้ทหารเข้ามาดูแลเรื่องนี้อะไรทั้งสิ้น

“ก่อนหน้านี้มีการกดดันมาจากกลุ่มนี้ ว่าถ้าผ่านกฎหมายมาแล้วไม่มีเรื่องของบรรษัทพลังงานแห่งชาติ ก็จะมาล้อมสภา มาล้อมทำเนียบ มันถูกต้องไหมแบบนี้ มาใช้วิธีการกดดันแบบนี้ประเทศชาติก็เสียหายเสียประโยชน์ และคณะของกลุ่มนี้ก็ยึดโยงไปที่กลุ่มโรงไฟฟ้ากระบี่ เรื่องพลังงานไปทุกที่ ผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน” นายกรัฐมนตรี กล่าว

กฤษฎีกาชี้เกิดในกระบวนการสนช.

นายดิสทัต โหตระกิตย์เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวว่าการเพิ่มสาระสำคัญในเรื่องของการจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นระหว่างการพิจารณาของ สนช.ซึ่งในเรื่องนี้คณะกรรมาธิการก็มีหน้าที่ที่จะต้องชี้แจงความจำเป็นของการจัดตั้งให้สภารับทราบ รวมทั้งต้องรับผิดชอบข้อเสนอในเรื่องดังกล่าวด้วย

“เรื่องนี้ไม่อยากไปก้าวก่าย เพราะเมื่อพ้นจากรัฐบาลแล้วเรื่องนี้เป็นการทำงานของ สนช.ที่มีการทำงานในรูปแบบคณะกรรมาธิการ มีการพิจารณาหลายครั้ง ซึ่งก็ต้องชี้แจงต่อสภาให้ได้ว่าเรื่องนี้มีผลดีผลเสียต่อประเทศอย่างไร” นายดิสทัตกล่าว

คปพ.ค้านพรบ.ปิโตรเลียม

ด้านเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) นำโดย นางรสนา โตสิตระกูล อดีตสว. นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล และนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ พร้อมกลุ่มสหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ หรือ สรส. ได้เปิดแถลงจุดยืนคัดค้านร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียมและร่างพ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวันที่ 30 มี.ค.นี้

นายปานเทพ กล่าวว่า เนื้อหายังแก้ไขไม่ตอบโจทย์ตามที่ประชาชนเรียกร้อง ถึงแม้จะมีบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ มาจัดการเชื้อเพลิงธรรมชาติจริง แต่ไม่ได้กำหนดให้จัดตั้งทันที เท่ากับว่าเป็นการเปิดช่องให้บริษัทรายเดิม

“คปพ.จะไม่รับตำแหน่งใดๆทั้งสิ้นในบรรษัทน้ำมันแห่งชาติอย่างแน่นอน และในวันที่ 30 มี.ค. เวลา 08.00 น. จะเข้ายื่นหนังสือคัดค้านร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ ต่อประธาน สนช. แต่หาก สนช. ยังผ่านร่างกม. หากไม่ได้รับคำชี้แจงจากนายกฯ ก็จะปักหลักชุมนุมบริเวณหน้า กพร. จนกว่ารัฐบาลเลิกกฎหมาย”

“ธีระชัย”โต้“ปรีดิยาธร”

ด้านนายธีระชัย แถลงตอบโต้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ ว่า ที่ออกมาคัดค้านการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ โดยเฉพาะข้อกังวลจะมีกรมทหารเข้ามาบริหารจัดการน้ำมันนั้น เหตุใดจึงไม่ต้องการให้เชื้อเพลิงธรรมชาติมาตกอยู่ในมือของรัฐ เพราะการให้รัฐจัดการ จะทำให้รัฐและประชาชนได้รับผลประโยชน์อย่างแท้จริง 100% จึงไม่อยากให้กังวลว่าทหารจะเข้ามาจัดการ เพราะทหารก็น่าจะนึกถึงประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก

ทั้งนี้ การที่กรมพลังงานทหารเข้ามาหม่อมราชวงศ์ก็ยิ่งทำให้การจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติทำได้ทันที แต่การบริหารขึ้นอยู่กับโมเดล โดยบทบาทบรรษัทสามารถทำเป็นบันได 3 ขั้น ซึ่งขั้นที่ 1 ต้องมี 2 บทบาท คือ ขายปิโตรเลียมแทนเอกชน เพราะเอกชนมาจัดการ หน่วยงานรัฐไม่สามารถตรวจสอบเอกชนได้ และบทบาทในการถือกรรมสิทธิ์แทนรัฐ เช่น ท่อก๊าซ แท่นขุดเจาะ

หากใช้โมเดลแรกก็สามารถตั้งได้ทันที และไม่จำเป็นต้องใช้บุคคลที่มีความรู้ความสามารถทางเศรษฐกิจ และไม่ต้องกังวลว่าจะเป็นการรวมศูนย์อำนาจ หรือการเมืองจะเข้ามาแทรกแซง เพราะทุกอย่างต้องทำอย่างโปร่งใส

บันไดขั้นที่ 2 ต้องมีบุคลากรที่มีความรู้ ไม่ต่างจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กลต. หรือเอกชน และให้ผลตอบแทนน่าพึงพอใจ ซึ่งบันไดที่ 1-2 สามารถทำได้ โดยไม่ต้องใช้คนมาก ส่วนบันไดขั้นที่ 3 บรรษัททำธุรกิจเองทุกขั้นตอน แต่อยากให้ดูตัวอย่างจากประเทศเม็กซิโก เพื่อดูว่าประเทศไทยพร้อมถึงขั้นนั้นหรือไม่ ถ้าไม่ก็ไม่จำเป็น

“อยากเสนอ สนช.ไม่ต้องตัดมาตราเรื่องการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติออก แต่ขอให้แก้ไขให้สามารถจัดตั้งได้ทันที ก่อนจะมีการเปิดประมูลสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่ทั้งแห่งเอราวัณและบงกช”