‘ไดรฟ์บอท’ คัมแบ็ค ดูแลรถง่ายๆ ด้วยตัวเอง

‘ไดรฟ์บอท’ คัมแบ็ค  ดูแลรถง่ายๆ ด้วยตัวเอง

กลับมาอีกครั้งสำหรับไดร์ฟบอท(Drivebot) ภายหลังจากสร้างชื่อเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา

ในฐานะของสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จอย่างงดงามด้วยการระดมทุนผ่าน “คลาวด์ ฟันดิ้ง”


“เขมินทร์ คงจำเนียร” ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งไดร์ฟบอท บอกว่าการกลับมาในปีนี้ ไดร์ฟบอทจะผลิตสินค้าล็อตใหม่และโฟกัสที่ตลาดประเทศไทยก่อน เพราะได้ศึกษาพบว่ามีดีมานด์สูง เนื่องจากคนไทยที่ขับรถบนท้องถนนส่วนใหญ่ในเวลานี้ ไม่ว่าจะเป็นคนรุ่นใหม่ บัณฑิตจบใหม่ ที่พ่อแม่ ซื้อรถให้ขับไปทำงาน กลุ่มผู้หญิง ฯลฯ


หรือแม้กระทั่งตัวเขาเองซึ่งเรียนจบวิศวะ คอมพิวเตอร์ ก็ขับรถอย่างเดียวแต่ไม่รู้ถึงเรื่องการดูแลรักษารถเลย พอเวลารถเสียจึงไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร? เข้าทำนองที่ว่า สุขภาพของรถเป็นเรื่องสำคัญ แต่การดูแลมันอาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายนัก แต่ไดร์ฟบอทจะช่วยทำให้การดูแลรถเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น


มีอยู่หลายเหตุผลที่ทำให้ไดร์ฟบอทต้องโฟกัสชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากประสบการณ์ที่ผ่านมาที่ได้พบความเป็นจริงว่า ทีมงานที่มีจำนวนคนเพียงไม่กี่คนนั้นมีทั้งข้อดีและข้อจำกัด ทีมงานเล็กแม้สามารถเคลื่อนตัวไปข้างหน้าได้อย่างรวดเร็ว แต่ทางตรงข้ามก็ทำให้ขาดทักษะ ความสามารถการทำงานในหลายๆด้าน


"ผมมองว่าตลาดนี้ถือว่าดี มีอนาคต แต่การดูแลทำได้ค่อนข้างลำบาก ทีมของเราไม่ใหญ่ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเรากลับต้องซัพพอร์ตลูกค้าทั่วโลก ทุกภาษา และกับรถทุกรุ่นทุกแบบ เพราะในแต่ละประเทศรถจะไม่เหมือนกันเลย รถแบรนด์เดียวกัน รุ่นเดียวกันที่ประเทศไทยก็ไม่เหมือนกันกับที่รถประเทศอื่น เราต้องเข้าใจการทำงาน สเป็คของรถแต่ละแบรนด์ แต่ละรุ่น ยอมรับว่าค่อนข้างเหนื่อย"


หรือในเรื่องของโลจิสติกส์ เนื่องจากสินค้าที่ผลิตรุ่นแรกของไดร์ฟบอทมีตลาดหลักอยู่ที่ประเทศอเมริกาและยุโรปถึง 80-90% ทำให้เกิดความขลุกขลักในการขนส่งบ้างพอสมควร ซึ่งทีมงานในเวลานั้นก็เป็นบัณฑิตใหม่ 5 คน ที่เพิ่งเรียนจบจากคณะวิศวะฯ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และไม่มีใครในทีมที่มีความรู้ในเรื่องนี้เลย


"ที่สุดการทำธุรกิจแบบเต็มสตรีม นอกจากเราต้องพัฒนาต่อยอดฟีเจอร์ของโปรดักส์อยู่ตลอดเวลาแล้ว เรายังต้องอาศัยคนอีกหลากหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็นการเงิน การตลาด การขาย การที่มีคนน้อยเราเลยทำอะไรได้ทีละอย่าง"


แต่จำนวนคนที่เพิ่มขึ้นย่อมหมายถึงจำนวนเงินลงทุนที่เพิ่มขึ้นด้วย แน่นอนก็เป็นเรื่องยากสำหรับความเป็นสตาร์ทอัพ ในส่วนของทีมไดร์ฟบอทเองได้ใช้แนวทางด้วยการวางกรอบการทำงานให้แต่ละคนในทีม ใครคิดเรื่องโปรดักส์ การดีไซน์ การออกแบบก็ทำหน้าที่ของตัวเองไปโดยไม่ต้องมายุ่งเรื่องเงิน ให้คนที่ดูเรื่องเงินดูแลไป เป็นต้น


"เราจะแยกหน้าที่กัน ตัวผมเองก็ทำหน้าที่กึ่งๆเอ็นจิเนียร์กึ่งๆบิสิเนส เมื่อธุรกิจทำมาถึงระดับหนึ่ง ในการจะออกฟีเจอร์ใหม่ ๆ เทคโนโลยีอะไรใหม่ๆ ก็ต้องดูฝั่งบิสิเนสด้วยว่ามีลูกค้าใช้ไหม มีตลาดหรือมีคนต้องการหรือเปล่า ไม่ใช่คุณเก่งมากเลยทำชิฟตัวนี้ได้ รู้ทุกอย่างเกี่ยวกับรถเลยแต่พอทำออกมาแล้วไม่มีใครใช้ก็ไม่ได้ ต้องเอาทั้งสองเรื่องมาจูนกันให้ติด และโดยส่วนตัวผมสนใจเรื่องของมาร์เก็ตติ้ง เรื่องของบิสิเนสอยู่แล้ว"


และเวลานี้ยังมีหนึ่งคนในทีมได้บินไปศึกษาด้านการดีไซน์ต่อที่ประเทศอเมริกาด้วย ในเวลาเดียวกันเขาจะทำหน้าที่ดูลู่ทางเพื่อเป้าหมายของไดร์ฟบอทที่ต้องการจะขยายไปในตลาดนี้อย่างจริงจัง


"เขาจะไปดูในเรื่องของกระบวนการในการคิด การทำในแบบมืออาชีพจริงๆ เพื่อให้เข้ากับตลาดที่นั่นให้มากยิ่งขึ้น ถ้าคนในทีมทุกคนอยู่เมืองไทยก็มีข้อจำกัด เพราะเวลาที่ขายสินค้าไปที่ตลาดยุโรปหรือ อเมริกา ก็มีบางอย่างที่เราไม่เข้าใจ เข้าไม่ถึง มีเทคนิคการตลาดบางอย่างที่เราไม่เคยได้ยินมาก่อน มันไม่เวิร์คกับตลาดเอเชีย แต่กลับไม่เวิร์คกับตลาดที่อเมริกา ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าต้องตอบโจทย์อย่างไร"


ต้องบอกว่าตลาดอเมริกา ประเทศในกลุ่มยุโรป ประเทศที่เจริญแล้วค่อนข้างมีศักยภาพ เนื่องจากค่าแรงในการดูแลรักษารถมีราคาแพงมาก ลำพังแค่รถเสียยังไม่รู้ว่าเป็นอะไรพอเอาไปเช็คหาสาเหตุก็หมายถึงเงินจำนวนไม่น้อย ดังนั้นอะไรที่เจ้าของรถสามารถทำเองได้จึงต้องการจะทำเองทั้งหมด


ในขณะที่ คนไทยโชคดีกว่าเพราะค่าแรงถูกกว่า เวลาที่รถเป็นอะไร ก็แค่โทรศัพท์เรียกช่างให้เขานั่งมอเตอร์ไซค์มาดูให้ และเสียเงินไม่กี่ร้อยบาทเท่านั้น (หรือไม่ก็โทรเรียกให้พ่อ พี่ชาย หรือแฟนมาช่วยจัดการให้) อย่างไรก็ตาม ทีมไดร์ฟบอทก็เชื่อว่าเทรนด์การดูแลรักษารถด้วยตัวเองจะกระจายครอบคลุมทั้งโลกในที่สุด


"บอกตรงๆ เรายังไม่รู้ตลาดเมืองไทยดีนัก แต่มองว่าถ้าขายช่องทางออนไลน์อย่างเดียวคงไม่รอด เราอาจต้องมีขายหน้าร้านบ้าง ผ่านตัวแทนจำหน่ายบ้าง เรากำลังคุยกับหลายๆช่องทางจำหน่ายอยู่ สินค้าล็อตแรกของเราขายผ่านช่องทางออนไลน์เป็นหลัก ที่อเมริกาขายผ่านอะเมซอน ที่เมืองไทยเคยขายผ่านเซ็นทรัลออนไลน์ ก็ไม่ค่อยเวิร์ค คิดว่าช่องทางนี้ยังไม่ใช่ คนรุ่นใหม่อาจชอบปิ้งออนไลน์ แต่สินค้าของเราคนที่ตัดสินใจซื้อเป็นคุณพ่อซึ่งคนรุ่นนี้ต้องได้ไปเห็น จับต้อง ได้ไปคุยกับเซลล์เสียก่อน ลูกค้าอีกกลุ่มก็เป็นคนที่มีความรู้เรื่องรถอยู่แล้วซึ่งมักมีข้อสงสัยว่ามันจะช่วยอะไรได้บ้าง ต้องการการพูดคุย"


เขมินทร์ บอกว่า อาจมีบางคนบอกว่าไดร์ฟบอทสำเร็จเพราะโชค แต่สำหรับเขาแล้ว ไดร์ฟบอทเกิดจากการทุ่มเทคิดค้นที่เริ่มต้นมาจากศูนย์เพราะไม่มีใครในทีมงานที่รู้และเชี่ยวชาญเกี่ยวกับเครื่องยนต์กลไกของรถยนต์มาก่อน แต่ก็สามารถพัฒนาจนกลายเป็นสินค้าที่โดดเด่นกว่าสินค้าอื่น ๆในเซ็คเมนท์เดียวกันได้อย่างชัดเจน เนื่องจากแปลค่าการดูแลรถจากภาษาช่างมาเป็นภาษาที่คนทั่วไปอ่านแล้วสามารถเข้าใจได้ง่าย ๆบนมือถือ


"ก่อนจะเป็นไดร์ฟบอททีมเราเคยคิดพัฒนาอะไร ๆมาหลายต่อหลายอย่าง ซึ่งก็เฟล หาเงินไม่ได้ แต่สำหรับไดร์ฟบอทพอได้ทำและเห็นการตอบรับของลูกค้าว่ามันช่วยตอบโจทย์ปัญหาเขาได้จริง ๆ ก็เป็นกำลังใจทำให้เรามุ่งคิดค้นพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มองว่าความสำเร็จเกิดจากมีใจรัก คิดทำสินค้าที่ช่วยแก้ปัญหา ทำให้คนมีชีวิตที่ดีขึ้น ง่ายขึ้น และมันก็จะทำเงินให้กับเราได้ในที่สุด"


ทั้งยังมีข้อคิดว่า เรื่องของเทคโนโลยีดูเป็นอะไรที่สามารถก้อบปี้กันได้ง่ายๆ เป็นเรื่องที่ห้ามไม่ได้ แต่ก็ป้องกัน ก้าวขึ้นนำคนอื่นได้ วิธีที่หนึ่ง หาทางป้องกันการลอกเลียนแบบเท่าที่จะทำได้โดยการตั้งรหัสผ่านต่างๆ สอง ในขั้นตอนสั่งผลิตกับทางโรงงานต้องพยายามทำให้ข้อมูลสำคัญหลุดรอดออกไปให้น้อยที่สุด เช่นเรื่องการดีไซน์ กระบวนการคิวซีต่างๆ เป็นต้น และสาม ต้องคิดให้เร็วทำให้เร็วกว่า ซึ่งถือเป็นจุดแข็งของสตาร์ทอัพที่ความเล็กมีความได้เปรียบอยู่สูงมาก

4 ฟังก์ชั่น ตอบโจทย์


ด้วย 4 ฟังก์ชั่นของไดร์ฟบอท ที่ทำให้ทุกคนก็สามารถดูแลรถได้ ดังนี้
1. ตรวจสอบปัญหารถได้ทันที ตั้งแต่เริ่มติดตั้ง ด้วยการใช้อุปกรณ์ที่มีความสามารถในการตรวจสอบเหมือนตรวจกับศูนย์บริการไดร์ฟบอท สามารถตรวจสอบสถานะของอุปกรณ์และระบบต่างๆในรถของคุณ ได้เหมือนมีช่างมาดูให้
2. แจ้งเตือน และ บอกวิธีแก้ไขเมื่อรถเกิดปัญหา เมื่อรถเกิดปัญหาไดร์ฟบอท จะช่วยแจ้งเตือนว่าเกิดปัญหาขึ้นตรงส่วนไหนของรถ พร้อมทั้งบอกวิธีแก้ไขเบื้องต้น ก่อนที่ปัญหาจะลุกลามต่อไปจนทำให้รถเกิดความเสียหาย หรือ เกิดอุบัติเหตุขึ้นได้
3. บันทึกข้อมูลการเดินทาง ทุกการเดินทางด้วยรถของคุณ ไดร์ฟบอท จะบันทึกเวลา ระยะทาง และ ปริมาณน้ำมันที่ใช้ไปของการเดินทางนั้นๆ ช่วยให้คุณทราบข้อมูลสำหรับวางแผนการเดินทาง ประมาณรายจ่าย หรือ Export เพื่อนำไปเบิกค่า น้ำมันจากบริษัทก็ยังได้
4. แจ้งเตือนเมื่อรถครบกำหนดระยะตรวจสภาพ หมดห่วงว่าจะลืมเอารถเข้าไปเช็คสภาพ ด้วยฟังก์ชั่นแจ้งเตือน เมื่อขับรถถึงระยะทางที่กำหนด หรือ ถึงวันที่ครบรอบการตรวจสภาพรถแล้วแล้วการดูแลรถ จะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป