‘ทริสฯ' เปิดโมเดลประเมินรัฐวิสาหกิจ

‘ทริสฯ' เปิดโมเดลประเมินรัฐวิสาหกิจ

ทริสฯ"" เปิดโมเดลประเมินรัฐวิสาหกิจ ชู "ประสิทธิภาพ-การเงิน"

ตามร่างพ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลเตรียมจะนำมาบังคับใช้ในการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจในเร็วๆนี้ ประเด็นสำคัญของกฎหมายนอกจากจะมีเรื่องหลักเกณฑ์การกำกับ และการพัฒนารัฐวิสาหกิจแล้ว ยังได้กำหนดกรอบในการประเมินผลรัฐวิสาหกิจอย่างชัดเจน

เพื่อให้ทราบถึงแนวทางและหลักเกณฑ์ของการประเมินผลรัฐวิสาหกิจตามพ.ร.บ.กำกับรัฐวิสาหกิจ “กรุงเทพธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์ “ไวฑูรย์ โภคาชัยพัฒน์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทริส คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำหน้าที่ประเมินผลงานรัฐวิสาหกิจมายาวนานตั้งแต่ปี2538 เป็นต้นมา

ไวฑูรย์ เล่าว่า รัฐบาลเริ่มนำระบบประเมินผลงานรัฐวิสาหกิจมาใช้ตั้งแต่ปี 2538 โดยคำแนะนำของธนาคารโลก หรือเวิลด์แบงก์ซึ่งอิงผลการศึกษาจากต่างประเทศ ทั้งอินเดีย และเกาหลีใต้ ซึ่งระบุว่าการประเมินผลรัฐวิสาหกิจใน สมัยใหม่ควรดูที่ผลงาน มากกว่ากระบวนการ คณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงได้ออกมติครม.เห็นชอบในหลักการให้นำระบบประเมินผลมาใช้ตั้งแต่ปี 2538-2539 เป็นต้นมา โดยให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เป็นฝ่ายเลขาธิการ เปิดเงื่อนไขคัดเลือก (ทีโออาร์) หาผู้เชี่ยวชาญมาเป็นที่ปรึกษาในการประเมินผล

ทาง ทริส คอร์ปอเรชั่นก็ได้ยื่นเสนอตัวเข้ามาเป็นที่ปรึกษาตั้งแต่ปีแรก และได้รับคัดเลือกมาโดยตลอด โดยในปีนี้ ทริสฯ ได้รับคัดเลือกในการประเมินรัฐวิสาหกิจจำนวน 36 แห่ง จากรัฐวิสาหกิจทั้งหมด 55 แห่ง ส่วนที่เหลือถูกประเมินโดยสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาองค์กรภาครัฐ หรือ ไออาร์ดีซี

“การประเมินรัฐวิสาหกิจที่ผ่านมา ผู้ประเมินก็ทำหน้าที่เหมือนหมอที่ต้องตรวจดูว่าคนไข้มีสุขภาพแข็งแรงหรือไม่ รู้จักคนไข้ จับเข้าเครื่องเอกซเรย์ ซักประวัติ ดูแทรกเรคคอร์ด ดูการเงิน ดูประสิทธิภาพ ซึ่งเกณฑ์ที่วัดความแข็งแรงของรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับธุรกิจ หรืออุตสาหกรรม โดยจะต้องเปรียบเทียบกับตัวเอง และคู่แข่ง ถึงบางแห่งจะบอกว่าไม่มีคู่แข่ง ก็ต้องหาตัวเปรียบมวยเพราะถ้าไม่ทำ ก็เหมือนอยู่กับความมืด”

หลังจากประเมินรัฐวิสาหกิจแล้ว ทริสฯ ก็จะสรุปการประเมินผลเป็นคะแนนส่งให้สคร. เพื่อให้เป็นแรงจูงใจของรัฐวิสาหกิจในการพัฒนาตนต่อเนื่อง ก็มีทั้งแรงจูงใจที่เป็นตัวเงิน และแรงจูงใจที่ไม่ใช่ตัวเงิน

จากการประเมินรัฐวิสาหกิจในช่วงที่ผ่านมา พบว่าโดยภาพรวมมีพัฒนาการที่ดีขึ้น โดยเฉพาะเรื่องระบบ รัฐวิสาหกิจทำอะไรเป็นระบบมากขึ้น สิ่งที่ตามมาคือ ประสิทธิภาพ ตัวเลขที่สะท้อนได้ชัดเจนคือ ตัวเลขจำนวนพนักงานและลูกจ้างรัฐวิสาหกิจที่ลดลงมาโดยตลอด ทั้งที่มีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้น จากจำนวนประชากรที่ สะท้อนประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นได้

อย่างไรก็ตามการบอกว่ารัฐวิสาหกิจดีขึ้น อาจจะขัดกับความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ที่ยังมองว่ารัฐวิสาหกิจขาดประสิทธิภาพ และขาดทุน เพราะมองเห็นแต่รัฐวิสาหกิจที่มีปัญหา เช่น รัฐวิสาหกิจ 7 แห่งที่ต้องฟื้นฟูกิจการ แต่อย่าลืมว่ายังมีรัฐวิสาหกิจที่ดีอยู่ นอกจากนี้ต้องย้ำว่า ระบบและประสิทธิภาพที่ดีขึ้นของรัฐวิสาหกิจ มาจากสิ่งที่ยังไม่ดี มาจากเมื่อก่อนที่มีไขมันสูง ทำให้วันนี้แม้ว่าภาพรวมจะดีขึ้น แต่ก็ยังมีรูม (ช่องว่าง) ให้ไปได้อีกเยอะ

“แม้ภาพรวมดีขึ้น แต่ก็มีเรื่องน่าห่วง เพราะ โลกเปลี่ยนแปลงเร็วมาก การที่รัฐวิสาหกิจคิดว่า ยังไงคนก็ต้องใช้บริการตัวเอง หรือยังไงก็ต้องมีฉันอยู่ ไม่กระทบจากการเปลี่ยนแปลงใดๆ มันไม่ใช่แล้ว หลายรัฐวิสาหกิจคิดแบบนี้ไม่ได้แล้ว เพราะทุกรัฐบาลคงไม่ยอมให้มีไขมันเยอะๆ ต้องรีดไขมัน แม้ที่ผ่านมาจะดีขึ้นแต่  Speed (ความเร็ว) ที่ผ่านมาใช้ไม่ได้แล้ว ต้องคูณ 2 หรือคูณ 3 เข้าไปอีก เดินไม่ได้แล้ว ต้องวิ่ง เพราะการเปลี่ยนแปลง ความคาดหวังจะเป็นตัวกดดัน”

อย่างไรก็ตามจากการที่ทำงาน และสัมผัสรัฐวิสาหกิจมานาน ทำให้เข้าใจและเห็นใจว่า จริงๆแล้วรัฐวิสาหกิจมีข้อจำกัดเยอะมาก รัฐวิสาหกิจทำงานยากมาก เพราะอีกด้านบอกเสมอว่า อย่าเป็นภาระของรัฐ แต่ก็ต้องให้บริการประชาชนแม้ว่าจะขาดทุน ที่ยากกว่านั้นคือ บางเรื่องรัฐวิสาหกิจก็ต้องอิงระเบียบจัดซื้อจัดจ้างของรัฐบาล ถ้าไม่ทำก็ต้องถูกพิสูจน์ป้องกันตัวเอง ดังนั้นเพื่อความสบายใจ ส่วนใหญ่ก็ต้องกลับไปอิงระบบระเบียบของราชการ

สำหรับพ.ร.บ.ฯ ยังอยู่ในกระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา หากเนื้อหาในร่างกฎหมายไม่ได้ปรับเปลี่ยนไปมาก ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ได้ระบุชัดเจนให้มีการประเมินรัฐวิสาหกิจ ในมาตรา 45 และมาตรา 42 ซึ่งทำให้การประเมินรัฐวิสาหกิจอาจจะมีการปรับเปลี่ยนบ้าง มีทั้งที่เหมือนเดิมและไม่เหมือนเดิม

ส่วนที่จะเปลี่ยนไปคือ จะแยกการประเมินผลรัฐวิสาหกิจออกเป็น 2 ส่วน คือการประเมินรัฐวิสาหกิจทั่วไปที่อยู่ภายใต้การกำกับของสคร. และการประเมินบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ หรือ “ซูเปอร์โฮลดิ้ง” ที่จะมีการตั้งขึ้นตามกฎหมายนี้ เพื่อกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจที่แปลงเป็นบริษัทจำกัด และบริษัทในตลาดหลักทรัพย์จำนวน 12 แห่ง ซึ่งการประเมินบรรษัทนี้เป็นเรื่องใหม่เลยเพราะประเทศไทยไม่เคยมีบรรษัทรัฐวิสาหกิจมาก่อน นอกจากนี้ในพ.ร.บ.ยังได้เขียนชัดเจนว่าต้องประเมินอะไรบ้าง เช่นประสิทธิภาพ หรือความมั่นคงการเงิน และธรรมาภิบาล

“ประเด็นเหล่านี้ในปัจจุบันก็มีการประเมินอยู่แล้ว แต่อยู่ในเกณฑ์หรือโมเดล ไม่ได้ถูกหยิบมาเป็นหัวข้อการประเมินชัดเจน แต่พ.ร.บ ใหม่ ได้กำหนด หรือดึงเรื่องเหล่านี้เป็นไฮไลท์ที่ต้องประเมิน ซึ่งก็เป็นเรื่องดีเพราะหลายเรื่องทำให้ชัด"

ส่วนประเด็นที่มีการพูดถึงว่า ในการประเมินผลรัฐวิสาหกิจในรูปแบบใหม่ จะให้น้ำหนักกับการดำเนินงานตามพันธกิจมากกว่าผลกำไรนั้น  “ไวฑูรย์” บอกว่า ทำได้เป็นบางแห่งเท่านั้น เพราะการประเมินผลรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายใหม่ จะต้องล้อไปกับแผนยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจที่จัดทำขึ้น ซึ่งแผนนี้กำหนดให้อิงกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ด้วย ดังนั้นในการประเมินก็ต้องประเมินตามแผนนี้ด้วย ยุทธศาสตร์ไปทางไหน ก็ต้องประเมินตามนั้น

การประเมินตามพันธกิจ ทำได้บางรัฐวิสาหกิจ เช่นรัฐวิสาหกิจที่มีพันธกิจด้านส่งเสริม กลุ่มนี้อาจจะให้น้ำหนักกำไรน้อยหน่อย เพราะแสวงหารายได้สูงสุด แต่ก็ต้องไม่เป็นภาระรัฐบาล เพราะมีการประเมินเรื่องความมั่นคงทางการเงินค้ำอยู่ แต่ถ้าเป็นรัฐวิสาหกิจในเชิงพาณิชย์ เช่นการบินไทย สุดท้ายก็ต้องดูการเงิน หรือกำไรในบรรทัดสุดท้าย เทียบเคียงกับสายการบินระดับโลก ซึ่งกลุ่มเชิงพาณิชย์นี้จะต้องมีมากกว่าความมั่นคงทางการเงิน หรือการเงินต้องแข็งแกร่ง เพราะต้องแข่งขันได้