ผุดมิติใหม่ โดรน-พารามอเตอร์ตรวจไฟป่า

ผุดมิติใหม่ โดรน-พารามอเตอร์ตรวจไฟป่า

ห้วยตึงเฒ่า ผุดทีมงานอาสามิติใหม่ โดรน-พารามอเตอร์ ตรวจไฟป่าแบบเรียลไทม์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บ่ายวานนี้ (26 มีนาคม) ที่โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวอ่างเก็บน้ำห้วยตึงเฒ่า อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ พ.อ.สุปกรณ์ เรือนสติ ผจก.อ่างเก็บน้ำห้วยตึงเฒ่าฯ นำทีมชุดปฏิบัติการลาดตระเวณดับไฟป่า ในพื้นที่รับผิดชอบห้วยตึงเฒ่า แถลงแนวทางการป้องกันเฝ้าระวังดับไฟป่า ในมิติใหม่ โดยใช้เทคโนโลยี อากาศยานไร้คนขับ หรือโดรน มาใช้ลาดตระเวณดูจุดที่มีควันไฟป่า สลับกับ หน่วยจิตอาสาพารามอเตอร์ จากชมรมเชียงใหม่พารามอเตอร์คลับ พร้อมทั้งยังได้สาธิตการทำงาน โดยจำลองจากสถานการณ์จริงให้สื่อมวลชนอีกด้วย

พ.อ.สุปกรณ์ เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากสถานการณ์ หมอกควันไฟป่าในเชียงใหม่ปัจจุบัน ค่อนข้างรุนแรง โดยตั้งแต่ เดือนวันที่ 1มีนาคม 2560 จนถึงวันนี้ ได้เกิดไฟป่าในพื้นที่โดยรอบห้วยตึงเฒ่าแล้ว จำนวน 9 ครั้ง รวมพื้นที่เสียหายทั้งหมด 50 ไร่ โดยมีทั้งพื้นที่ต้นไฟจากด้านนอกพื้นที่แล้วไฟลุกลามเข้ามาสร้างความเสียหาย และเกิดจากคนในพื้นที่เข้าไปจุดไฟล่าสัตว์หาของป่าเอง โดยที่ผ่านมาสามารถจับกุมคนร้ายได้แล้ว 2 ราย ที่เข้าไปล่าสัตว์ และมีชาวบ้านที่ต้องสงสัยเข้าไปหาของป่าอีกหลายราย

โดยหนึ่งในผู้ต้องสงสัย คือนายพจน์ แก้วยศ นักล่าหมูป่าในพื้นที่ ที่ครั้งก่อนถูกจับกุมพร้อมอาวุธปืนลูกซองยาวประดิษฐ์ ดำเนินคดีข้อหาพกพาอาวุธปืนโดยผิดกฎหมาย แต่ค่นตัวไม่พบไม้ขีด หรืออุปกรณ์ที่ใช้จุดไฟป่าในตัว จึงไม่ได้ดำเนินคดีข้อหาเผาป่า แต่ทางห้วยตึงเฒ่าเชื่อว่านายพจน์รู้เห็น แน่นอน จึงได้มีมาตรการสั่งห้ามไม่ให้นายพจน์เข้าพื้นที่อีก และมีการติดตั้งป้ายเตือนพร้อมรูปของนายพจน์ขนาดใหญ่หลายจุด โดยเฉพาะด่านตรวจคนเข้าพื้นที่ป่า เฉพาะกิจห้วยตึงเฒ่า ทั้ง 2 ด่าน

นอกจากนั้น ทางห้วยตึงเฒ่าฯยังได้เน้นย้ำ การให้ความสำคัญในการลาดตระเวณ เฝ้าระวังไฟป่า เพื่อที่จะสามารถระงับเหตุได้อย่างทันท่วงที และระงับเหตุทันเวลาก่อนที่ไฟจะโหมแรงจนดับได้ยากและสร้างความเสียหายในวงกว้าง โดยนอกจาก หอดูไฟ และหน่วยลาดตระเวณภาคพื้นดินแล้ว ขณะนี้ยังได้นำเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ หรือโดรนมาใช้ โดยต่อภาพกับจอโทรทัศน์ แบบเรียลไทม์ ทำให้สามารถสำรวจและสั่งการได้อย่างทันท่วงที โดยได้รับการสนับสนุนจากชมรมช่างภาพจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งตั้งเป้าจะปฏิบัติการทุกวัน

แต่กระนั้น ด้วยข้อจำกัดของโดรน ที่จำกัดระยะเวลาการบินต่อแบตเตอรี่1ก้อน ได้เพียง 15 นาที และจำกัดระยะ ระหว่างโดรนและผู้บังคับไม่เกิน 2 กิโลเมตร จึงต้องส่งไม้ต่อให้ทางพารามอเตอร์ ที่ได้รับการสนับสนุนจากชมรมเชียงใหม่พารามอเตอร์ คลับ ที่มีจำนวน 50 คัน แต่ตั้งเป้าจะสลับกันมาช่วยลาดตระเวณ วันละ 3 คัน โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น และรับผิดชอบค่าน้ำมันเอง จำนวนไม่ต่ำกว่ารอบละ 500 บาทโดย แต่ละรอบ สามารถบินได้ 2 ชั่วโมงครึ่ง ในพื้นที่ครอบคลุมกว่า 250 กิโลเมตร

โดยเชื่อว่า ด้วยการใช้ โดรน และ พารามอเตอร์ จะประหยัดค่าใช้จ่าย และช่วยลดการใช้กำลังเจ้าหน้าที่ได้มาก ทั้งยังสามารถสำรวจได้กว้างไกล และลาดตระเวณได้ครอบคลุม นอกจากนั้นเชื่อว่า เมื่อผู้ก่อเหตุเห็นว่ามีการนำอากาศยานมาให้ อาจจะทำให้เกิดความเกรงกลัวไม่มากก็น้อย และมีแผนที่จะติดตั้งโทรโข่งและกล้อง ไปกับพารามอเตอร์ ซึ่งหากพบผู้กระทำผิดก็สามารถประกาศเตือนได้ทันที และบันทึกภาพเพื่อติดตามตัวได้ เพื่อดำเนินคดีได้อย่างมีประสิทธิภาพ