สารตั้งต้นของ‘คนกลับตัว’

สารตั้งต้นของ‘คนกลับตัว’

กลับตัวกลับใจ...พูดง่ายทำยาก สำหรับคนที่เดินก้าวพลาดหลงผิดแล้ว สังคมคงต้องมอบสิ่งเหล่านี้ไว้เป็นทุนเพื่อเริ่มใหม่

“ทำผิดครั้งเดียว เหมือนฆ่าตัวเองไปอีกสิบชาติ” คำพูดประชดประชันปนตัดพ้อ ถูกเปล่งออกมาจากน้ำเสียงแข็งทื่อของเด็กหนุ่มร่างหนา กว่าสองปีเต็มที่เขาต้องแบกรับคำดูถูกจากคนรอบข้าง ใช้ชีวิตแบบกล้าๆกลัวๆ ไม่เหลือความเชื่อมั่นในตัวเอง จนบางครั้งอดคิดไม่ได้ว่า ชาตินี้จะเป็นคนดีกับเขาได้ไหม

ไม่แปลกนักหากอีกสิบชาติ เด็กก้าวพลาด จะกลับเข้าสู่วงจรหายนะเช่นเดิม เพราะระหว่างทางที่พยายามก้าวออกจากจุดที่เคยพลาดนั้น มีขวางหนามทิ่มแทงเต็มไปหมด จนเดินทางมาถึงฉากหนึ่งของชีวิต ฉากที่ถูกคนประณามว่า ...ดีไม่ได้ แต่เลวได้

เข้าใจ&ให้อภัย

การจะข้ามผ่านพรมแดนวัยรุ่นสู่วัยผู้ใหญ่ได้แบบไร้บาดแผล ไร้ข้อผิดพลาด ถือว่าไม่ใช่เรื่องง่ายนักสำหรับวัยรุ่นยุคนี้ เพราะสิ่งล่อตาล่อใจนั้นมากมายไปหมด การพาตัวเองเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของด้านมืด จึงไม่ต่างจากการพลัดตกลงไปในหลุมดำที่เต็มไปด้วยแรงดึงดูด

กาย (นามสมมติ) เด็กหนุ่มวัย 21 ปี มีนิสัยเงียบๆ ช่วงชีวิตวัยรุ่นของกาย เรียกได้ว่าว้าเหว่ตั้งแต่เล็กจนโต

“ตั้งแต่เล็กจนโต พ่อแม่ไม่ค่อยมีเวลา เอาผมไปฝากไว้กับคนนั้นทีคนนี้ที รู้สึกว่าตัวเองไม่มีใครต้องการ พอโตขึ้นก็เรียนไปตามปกติ ติดเพื่อน ติดยา ทะเลาะวิวาท จนต้องออกจากโรงเรียน”

กายในวัย 17 ปี ใช้ชีวิตแบบผ่านไปวันๆ ตีรันฟันแทง สารพัดยาเสพติดที่เข้าไปพัวพัน ทั้งเสพทั้งขาย จนวันหนึ่งฤทธิ์ของยาได้เปลี่ยนชีวิตของเขาไปตลอดกาล เขาขาดสติและทำร้ายเพื่อนที่เสพยาด้วยกันจนบาดเจ็บสาหัส เด็กหนุ่มถูกจับดำเนินคดี ศาลคดีเด็กและเยาวชนฯ ตัดสินว่ากายมีความผิดจริง และมีคำสั่งให้เข้าไปอยู่ในศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชนเป็นเวลา 1 ปีครึ่ง

ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 เด็กและเยาวชนซึ่งหมายถึงผู้อายุต่ำกว่า 18 ปี ผู้ถูกพิพากษาว่ามีความผิดตามกฎหมายจะได้รับพิจารณาส่งตัวไปอยู่ที่ศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชน หรือที่เรียกสั้นๆ ว่าศูนย์ฝึกฯ ที่กระจายอยู่ในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ แต่ก่อนจะถึงขั้นตอนของศูนย์ฝึกฯ เด็กผู้อยู่ระหว่างกระบวนการด้านคดีความและไม่ได้ประกันตัว รวมทั้งเด็กที่ถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดใหม่ๆ จะต้องใช้เวลาอยู่ในสถานแรกรับหรือที่เรียกกันอย่างแพร่หลายว่าสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนเป็นการชั่วคราว สถานที่นี้มีหน้าที่ตามกฎหมายคือรับเด็กมาอุปการะชั่วคราว เพื่อสืบเสาะพินิจเด็กและครอบครัวเพื่อกำหนดแนวทางในการสังเคราะห์และคุ้มครองสวัสดิภาพที่เหมาะสมกับเด็กแต่ละราย

ในคืนหลังคำพิพากษา สถานพินิจฯ กลายเป็นที่อยู่ใหม่ของ‘กาย’ อาคารสีขาวสองชั้นมีลูกกรงรายล้อมหน้าต่างทุกบาน เขาบอกว่าที่นั่นแออัดและวุ่นวายเต็มไปด้วยเด็กและวัยรุ่น เพียงไม่นานกายก็ถูกส่งตัวไปยังศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชนเขต 4 จังหวัดขอนแก่น

“ในช่วงแรกนอนร้องไห้ทุกวัน คิดถึงบ้าน กลัวทุกอย่าง กว่าจะปรับตัวได้ก็แทบบ้าเหมือนกัน ที่จริงมันไม่มีทางที่จะปรับตัวได้ แต่ต้องบอกว่าอยู่ให้เป็นมากกว่า”

จากวัยรุ่นที่ใช้ชีวิตแบบอิสระ ต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมภายใต้กฎเกณฑ์ที่ทุกคนปฏิบัติ สังคมด้านในมีทั้งด้านมืดและด้านสว่าง ในช่วงแรกยอมรับว่าด้านมืดของตัวเองยังไม่หมดไป เมื่อมีคนปะทะ เขาก็พร้อมที่จะบวกเสมอ แต่ลึกๆ แล้วก็ยังคิดถึงบ้าน

“ตอนที่อยู่ในศูนย์ฝึกฯ ผมคิดแค่ว่าเอาตัวรอดไปวันๆ รอวันที่จะได้ออกมา ตั้งใจว่าจะกลับตัวกลับใจเพื่อพ่อกับแม่ แต่ก่อนคิดว่าเขาไม่รัก แต่ตอนนี้ผมรู้แล้วว่าพ่อแม่รักเราแค่ไหน”

หลังจากครบตามคำพิพากษา กายก็ได้รับอิสรภาพ โผบินกลับคืนสู่โลกภายนอกหลังจากที่ห่างเหินมาเกือบสองปี เขามีความตั้งใจเต็มเปี่ยมว่าจะกลับมาช่วยแม่ค้าขาย ทำสวน ปลูกผักสวนครัว ใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย ไม่ก่อกวนใจให้พ่อแม่ต้องปวดหัวเหมือนที่ผ่านมา แต่ความตั้งใจของเขาก็ดับวูบ เมื่อเพื่อนบ้านหรือแม้แต่ญาติมิตร ต่างมองเขาด้วยสายตาดูแคลน บางคำพูดหลุดออกมาแบบไม่ได้คิด ทว่าคำพูดเหล่านั้นได้กัดกินใจของเขาไปเรียบร้อยแล้ว

“จะว่าผมอ่อนแอก็ได้นะ แต่ได้ยินแบบนี้ก็น้ำตาตกในทุกครั้ง ตอนแรกไม่กล้าแม้แต่จะทำอะไร เพราะใครก็ไม่ไว้ใจ หลายครั้งที่เรื่องเล็กน้อยกลายเป็นเรื่องใหญ่โตจนอยากจะออกไปจากจุดนี้ ความผิดที่ผมทำไว้ครั้งเดียว มันตามมาเอาคืนจนเหนื่อยไปหมด แต่ผมก็เลิกท้อแล้ว ตอนนี้หันมาตั้งใจทำงาน เก็บเงินสร้างครอบครัวที่ดี ให้พ่อแม่ผมสบาย ถ้ามัวไปถือสาคำพูดคน ผมคงทำตัวเหมือนที่เขาว่า แล้วก็กลับไปเป็นเหมือนเดิม” เด็กหนุ่มเอ่ยทิ้งท้ายด้วยสายตาที่แน่วแน่

เมตตา&สัมมาชีพ

เมื่ออิสรภาพคือใบเบิกทางที่จะนำพาเด็กเหล่านี้ได้ก้าวเข้าสู่สนามจริงอย่างมีภูมิคุ้มกัน สังคมจึงเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยเยียวยาให้เด็กไม่หวนกลับไปสู่วงจรเดิม แต่หากสังคมยังปฏิเสธ ชุมชนและครอบครัวไม่รับช่วงต่อ เด็กก็ไม่มีทางที่จะได้เริ่มต้นใหม่

มนตรี สินทวิชัย หรือ ครูยุ่น เลขาธิการมูลนิธิคุ้มครองเด็ก จังหวัดสมุทรสงคราม มองว่าเด็กคือผู้ที่อ่อนวัยและมีประสบการณ์ชีวิตน้อย ไม่ควรมองเด็กที่ผิดพลาดเหมือนผู้ใหญ่ แต่ต้องเริ่มจากการมองเด็กด้วยความเมตตา

“หากใจเด็กขาดเมตตา เราก็ต้องเอาใจที่เป็นเมตตาเข้าไปแก้ เพื่อสะท้อนให้เด็กเห็นความสุขที่มาจากความเมตตา การที่ทำผิดพลาดไม่ว่าจะกี่ครั้ง มันไม่ใช่การล้มเหลวของชีวิตทั้งหมด เมื่อเขาล้มก็ดึงมือขึ้นมาใหม่ สอนใหม่ ซึ่งคิดว่าผู้ใหญ่ยุคนี้มีมุมมองต่อเด็กดีขึ้น อาจจะมีบ้างที่วิพากษ์วิจารณ์แบบสะใจ แต่ต้องเริ่มต้นด้วยการไม่มองเด็กเป็นคนอื่น เป็นตัวประหลาดหรืออันตราย ควรให้โอกาสตัวเองได้มองเด็กเสียใหม่ ซึ่งการเปลี่ยนมุมมองเช่นนี้ ไม่ได้หมายถึงการให้โอกาสเด็กอย่างเดียว แต่หมายถึงการให้โอกาสตัวเองด้วย”

เช่นในกรณีของ ยอด (นามสมมติ) เด็กหนุ่มร่างสูง วัย 24 ปี ที่เข้ามาเป็นสมาชิกของศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกรุณาได้เกือบสองปีแล้ว เขาใช้เวลากว่า 6 เดือน ในการปรับตัว ช่วงแรกยอดรู้สึกชีวิตว่างเปล่า แต่เมื่ออยู่ไปสักพักก็เริ่มมีกิจกรรมให้ทำ มีการเรียนฝึกวิชาชีพทั้งด้านสามัญและวิชาช่าง เขาจึงเริ่มเรียนรู้ว่าแท้จริงชีวิตมีทางออก จึงได้พยายามใฝ่เรียน เปลี่ยนตัวเอง โดยเลือกเรียนวิชาชีพช่างไม้ คอมพิวเตอร์ แล้วก็พัฒนาฝีมือแรงงานเป็นช่างไฟ พ่วงด้วยเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6

จริงๆ แล้วยอดจะต้องไปรับโทษต่อที่เรือนจำอีก 6 ปี แต่ทางศูนย์ฝึกฯ มองเห็นพัฒนาการและศักยภาพ รวมถึงความตั้งใจ จึงทำเรื่องขอเปลี่ยนแปลงคำพิพากษา จากนั้นศาลเด็กและเยาวชนฯ พิจารณาแล้วจึงอนุญาต จากที่ต้องไปต่อเรือนจำ 6 ปี ก็ให้กลับมาทำงานที่บ้านกรุณา ในฐานะผู้ช่วยผู้ฝึกสอนกีฬา

“ชีวิตเปลี่ยนไปเยอะ ก่อนที่จะเข้ามาศูนย์ฝึกฯ ตอนนั้นไม่คิดอะไร เราก็เที่ยว หาตัวเองไปเรื่อย แต่พอทำผิดแล้วเข้ามาอยู่ตรงนี้ เราไม่สามารถที่จะไปทำอะไรแบบนั้นได้อีกแล้ว จากนั้นก็เลยเปลี่ยนตัวเอง ว่าต้องเรียน ต้องรู้จักคุณค่าของตัวเอง แล้วก็ผลักดันตัวเองขึ้นมา ตอนนี้ที่บ้านก็ภูมิใจ ยิ้มกันหน้าบานทุกคน”

ในอีกสี่ปีข้างหน้า ยอดจะได้รับอิสรภาพ และเดินตามฝันของตัวเองที่อยากเป็นโค้ชนักกีฬา ซึ่งเป้าหมายแรกคือเรียนจบปริญญาตรีให้ครอบครัวภูมิใจ

ศรีนรา ไกรนรา ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนชายบ้านกรุณา ได้เอ่ยถึงความฝันอย่างหนึ่งของตัวเองว่าอยากเห็นที่นี่เป็นเมืองร้าง ไม่มีคน และไม่อยากเห็นเยาวชนเข้ามาอยู่ในนี้ แม้ที่นี่จะเป็นโรงเรียน แต่ไม่ต้องการให้ศิษย์เก่าต้องกลับมาเป็นศิษย์ปัจจุบัน จึงพยายามให้เด็กที่ออกไปแล้ว ถืออะไรติดไม้ติดมือไปด้วยเสมอ

“เราก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะชี้นำให้เด็กที่เดินออกมาเห็นว่าสามารถเดินไปได้ ช่วยให้น้องๆ มีงานมีอาชีพที่ดีขึ้น มีการศึกษาที่ดี เมื่อเด็กและเยาวชนออกจากที่นี่ เราถือว่าทุกคนไม่มีประวัติอาชญากรติดตัว” ศรีนรา กล่าว

แม้ว่าจะมีแนวทางในการลบประวัติจากกองทะเบียนประวัติอาชญากร เพื่อเป็นการพิทักษ์สิทธิเด็ก แต่ยังมีสถานประกอบการบางแห่งที่มีความเชื่อแบบเดิมๆ และคิดว่าเด็กจากสถานพินิจ คือเด็กที่มีพฤติกรรมชอบใช้ความรุนแรง

ภูชิต ดวงจันทร์ นักสังคมสงเคราะห์ชำนาญการ หัวหน้ากลุ่มงานประสานกิจกรรมชุมชน อธิบายว่า การเตรียมความพร้อมให้เด็ก ไม่ได้หมายความว่าร้อยเปอร์เซ็นที่ออกไปจะมีงานทำ ต้องเข้าใจก่อนว่าความพร้อมที่จำเป็นมีสามหลักสำคัญ ก็คือครอบครัว ตัวเด็ก และสังคม ซึ่งมีความเสี่ยงที่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่น่ากลัวคือมักสังคมตีตราและตัดโอกาสเด็กตั้งแต่ที่ยังไม่รู้จัก ซึ่งศูนย์ฝึกฯ จะเน้นในเรื่องของการวางแผนชีวิต หลังจากที่เด็กออกไปแล้ว โดยเฉพาะความพร้อมด้านทักษะอาชีพ ให้เด็กเห็นถึงศักยภาพของตัวเอง ซึ่งส่วนที่สำคัญคือครอบครัว ตัวเด็ก หรือว่าชุมชน ต้องเข้ามามีส่วนร่วมกัน เด็กจึงจะอยู่รอดไม่กลับมาเป็นลูกค้าอีกครั้ง และต่อให้ครอบครัวดี แต่ชุมชนไม่ให้โอกาส หรือว่าตัวเด็กยังไม่ให้โอกาสตัวเอง อย่างไรก็ไม่รอด เพราะฉะนั้นทั้งสามองค์ประกอบจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะนำพาเด็กให้มีอนาคตได้

ความหวัง&โอกาส

จากการสำรวจตลาดแรงงานเมื่อปี 2557 พบว่าเยาวชนไทยเหล่านี้ยังคงเปราะบางและวนเวียนอยู่ในวงจรแห่งความยากจน โดยอัตราการว่างงานของเยาวชนอยู่ที่ 5.6% ซึ่งสูงกว่าวัยผู้ใหญ่ถึง 14 เท่า ส่วนหนึ่งเกิดจากพลังและศักยภาพของเขามักถูกบดบังด้วยความยากจน การใช้ความรุนแรง การกีดกันและการเลือกปฏิบัติ สิ่งเหล่านี้ล้วนตัดโอกาสตั้งแต่ยังไม่ก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงาน จึงทำให้เกิดปัญหาทับซ้อนคือการว่างงาน เด็กจึงกลับเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับอาชญากรรมและการใช้ความรุนแรงมากขึ้น สุดท้ายก็โคจรสู่หลุมพรางเดิมๆ อีกครั้ง

โอกาสด้านอาชีพของเด็กและเยาวชน จึงเป็นเป้าหมายของโครงการความร่วมมือเพื่อพัฒนาเยาวชน ที่แพลน อินเตอร์เนชั่นแนลได้ร่วมมือกับมูลนิธิซิตี้ เพื่อยุติวงจรแห่งความยากจน ขณะนี้มีเด็กและเยาวชนที่สำเร็จหลักสูตรอบรมวิชาชีพแล้วจำนวน 134 คนที่ได้รับการจ้างงาน

ชัยวัฒน์ มณีรัตนศุภร ผู้จัดการร้านสมบัติผ้าใบ ที่เปิดทำการมากว่า 10 ปี และได้จ้างงานเด็กจากศูนย์ฝึกฯ เพื่อเปิดโอกาสให้มีอาชีพที่มั่นคง เนื่องจากตัวเองก็เคยผ่านจุดที่ก้าวพลาดเช่นกัน บอกว่าทุกคนมีเหตุและผลในการกระทำ บางสิ่งที่เด็กทำไปอาจเกิดจากความคึกคะนอง ซึ่งไม่ได้เจตนาหรือตั้งใจ การที่ทุกคนเข้ามาอยู่ในนี้ ไม่มีใครอยากเข้ามา แต่สิ่งที่เป็นสาเหตุคือความผิดพลาดของแต่ละคน

“อยากให้ผู้ประกอบการอื่นๆ มองเป็นสองแง่ อย่ามองแต่ด้านมืดของเด็ก ให้มองด้านสว่าง แล้วจะเห็นศักยภาพของเขาที่เปลี่ยนไปแล้ว เห็นถึงความตั้งใจทำงาน ซึ่งการดูแลเอาใจใส่เด็กเหล่านี้ คือเราต้องลงมาคลุกคลีกับพวกน้องๆ ศึกษาชีวิตจริงของเขา สิ่งไหนที่ไม่ชอบใจ เราสอนและให้โอกาส หากเราอยู่ในระดับที่สูง แล้วมัวแต่นั่งเก้าอี้ไม่มาสัมผัสกับเด็ก จะไม่มีทางรู้เลยว่าในใจเด็กคิดยังไง และอย่าคิดว่าเขาเคยติดคุกมาหรือเป็นเด็กไม่ดี แต่ควรให้ความรักเหมือนพี่เหมือนน้อง ไม่ใช่เอาอำนาจบารมี ความใหญ่โต หรือความเป็นเจ้าของร้านมาถับถม ทุกอย่างคือการเรียนรู้ เราให้ใจเขา เขาให้ใจเรา ส่วนในมุมของเด็กก็ต้องปรับตัว พิสูจน์ให้ผู้ประกอบการเห็นถึงด้านสว่างของตัวเอง อย่าให้เขามองและตีตราในด้านมืดเพียงอย่างเดียว” ชัยวัฒน์ กล่าว

เรื่องราวเหล่านี้ไม่เพียงบอกเล่าความจริงที่อยู่เบื้องหลังเด็กๆ ที่ก้าวพลาด แต่ยังเปรียบเสมือนกระจกบานใหญ่ที่สะท้อนทัศนคติของผู้คน ถึงเวลาหรือยังที่สังคมไทยจะทบทวนความคิดความเชื่อแบบเดิมๆ หันมาเฝ้าระวังแทนการก่นด่า ให้โอกาสแทนที่จะซ้ำเติม เพื่อว่า...วันหนึ่งเด็กที่ก้าวพลาดเหล่านี้จะได้มีก้าวใหม่ที่สดใสบนเส้นทางสู่อนาคตต่อไป