หวั่น ‘เบร็กซิท’ กระทบส่งออกไทย

หวั่น ‘เบร็กซิท’ กระทบส่งออกไทย

เบร็กซิทเริ่ม "ระอุ" เสี่ยงกระทบ "ส่งออกไทย"

ประเด็นเรื่อง “เบร็กซิท” หรือการถอนตัวจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ของสหราชอาณาจักร (ยูเค) เริ่มกลับมาเป็นประเด็นที่ตลาดการเงินจับตามองอีกครั้ง หลังจาก นายกรัฐมนตรี เทเรซา เมย์ เตรียมประกาศใช้ “มาตรา 50” ของสนธิสัญญาลิบอนในวันที่ 29 มี.ค.2560 เพิ่มเริ่มต้นทบทวนการเจรจาการแยกตัวออกจากอียู

ทั้งนี้ การสิ้นสุดสมาชิกภาพจะใช้เวลา 2 ปีหลังจากการประกาศใช้มาตรา 50 ซึ่งหมายความว่า “ยูเค”  จะออกจาก “อียู” อย่างเป็นทางการภายในเดือนมี.ค.2562 แต่อาจมีการขยายระยะเวลาเพิ่มเติมได้หากได้รับความยินยอมจากสมาชิกใน อียู

เอกสารเผยแพร่ของรัฐบาล ซึ่งชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับการแยกตัวออกจาก อียู ของ ยูเค มีใจความสำคัญว่า ยูเค จำเป็นต้องออกจากตลาดเดียว (Single market) ของ อียู เนื่องจาก ยูเค ต้องการควบคุมจำนวนผู้อพยพ ซึ่งเป็นการขัดต่อหลักการของ อียู ที่มีเป้าหมายสำคัญในการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ เงินทุน และคนได้อย่างเสรี

โดย ยูเค มีเป้าหมายที่จะทำข้อตกลงการค้าเสรีกับ อียู เพื่อให้การค้าของทั้งสองฝ่ายยังคงดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่น ทั้งนี้ การออกจาก Single market เป็นสิ่งที่นักลงทุนมองว่าเป็น Hard Brexit

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (อีไอซี) ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินว่า ค่าเงินปอนด์มีความอ่อนไหวต่อข่าวที่เกี่ยวกับ Brexit ค่อนข้างมาก โดยล่าสุดแตะจุดต่ำที่สุดในรอบกว่า 30 ปี ในวันที่มีการประกาศว่าเป็น Hard Brexit ตลาดการเงินมีมุมมองว่าการถอนตัวออกจาก อียู ในรูปแบบดังกล่าวอาจส่งผลกระทบร้ายแรงต่อเศรษฐกิจของ ยูเค ได้ในอนาคต เนื่องจาก ยูเค พึ่งพาการค้าระหว่างประเทศกับ อียู คิดเป็นสัดส่วนกว่า 1 ใน 3 ของการค้าระหว่างประเทศทั้งหมด

อีกทั้งการออกจาก Single market ของ อียู หมายความว่า ข้อตกลงการค้าเสรีระหว่าง ยูเค และ อียู จะไม่สามารถทำให้ ยูเค ได้รับสิทธิประโยชน์เทียบเท่ากับสมาชิกของ อียู อย่างแน่นอน และจะกระทบต่อข้อตกลงทางการค้าที่ ยูเค เคยทำกับประเทศอื่น ในฐานะประเทศสมาชิกของ อียู อีกด้วย

นอกจากนี้ หาก ยูเค ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงการค้าเสรีกับ อียู ได้ภายใน 2 ปี และไม่มีการขยายระยะเวลาเพิ่มเติมจะส่งผลให้ ยูเค ต้องทำการค้าขายกับ อียู ภายใต้เงื่อนไขขององค์การการค้าโลก (WTO) ซึ่งเรียกได้ว่าไม่มีอภิสิทธิ์ใดเลย

อีไอซี มองว่า การเร่งกระบวนการ Brexit ให้เกิดขึ้นเร็ว อาจทำให้ได้ข้อตกลงที่ไม่สมบูรณ์นัก ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อภาคเศรษฐกิจจริง สภาขุนนาง (House of Lords) มีมติแก้ไขร่างกฎหมาย Brexit ก่อนหน้านี้ โดยต้องการให้รัฐบาลรับประกันสิทธิ์ให้กับพลเมืองของ อียู จำนวน 3 ล้านคนในการพำนักอยู่ที่ ยูเค และต้องการที่จะได้รับสิทธิ์ในการยับยั้งข้อตกลง (veto) ในขั้นสุดท้ายของการเจรจาแยกตัวออกจาก อียู สะท้อนว่ายังมีความขัดแย้งภายใน และอาจยังไม่มีความพร้อมที่เพียงพอในการเริ่มกระบวนการเจรจาอย่างเป็นทางการ

ทั้งนี้ ถึงแม้ผลกระทบจากผลโหวต Brexit นับตั้งแต่ผลประชามติในวันที่ 23 มิ.ย.2559 จะยังไม่สะท้อนผ่านภาคเศรษฐกิจจริงของ ยูเค มากนัก โดยอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) และความเชื่อมั่นผู้บริโภคของ ยูเค ยังสูงกว่าระดับก่อนผลประชามติ

เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของ ยูเค ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องจากการบริโภคภาคครัวเรือนก่อนหน้าแล้ว ซึ่งตอบสนองต่อเหตุการณ์อย่าง Brexit ค่อนข้างช้า โดยภาวะการจ้างงานที่ยังไม่ซบเซาส่งผลให้ผู้บริโภคยังไม่ชะลอการบริโภค เพราะเชื่อมั่นว่าจะยังมีรายได้เพื่อการใช้จ่ายในอนาคต แต่การเริ่มต้นกระบวนการ Brexit ที่เร็วเกินไปจะยิ่งเพิ่มความไม่แน่นอนให้กับข้อตกลงฉบับใหม่ และอาจมีส่วนสำคัญต่อความเชื่อมั่นและการตัดสินใจลงทุนของภาคธุรกิจในระยะยาว

นอกจากนี้ ค่าเงินปอนด์ที่อ่อนค่ารุนแรงอาจส่งผลให้สินค้านำเข้ามีราคาสูงขึ้น และจะกระทบการใช้จ่ายภาคครัวเรือนในระยะต่อไป ทั้งนี้ เศรษฐกิจของ อียู อาจชะลอตัวตามไปด้วยเช่นกัน เนื่องจาก ยูเค เป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่และมีความเชื่อมโยงกับ อียู ค่อนข้างมาก

อีไอซี ประเมินว่า การส่งออกไทยเสี่ยงซบเซา หาก Brexit ส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจยูโรโซน แม้ความสัมพันธ์ทางการค้าโดยตรงระหว่างไทยกับ ยูเค จะมีไม่มาก แต่ความไม่แน่นอนในการเจรจา Brexit อาจกระทบต่อไทยผ่านความผันผวนในตลาดการเงินระยะสั้นและความเชื่อมั่นของนักลงทุน ซึ่งจะกระทบต่อการส่งออกของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ขณะเดียวกัน ความเสี่ยงต่อสภาวะเศรษฐกิจถดถอยใน อียู และ ยูเค อาจกระทบต่อภาคส่งออกไทยเป็นวงกว้าง เนื่องจากไทยส่งออกไปยังกลุ่มประเทศดังกล่าวเป็นสัดส่วนกว่า 12% ของส่งออกทั้งหมด ซึ่งนำโดยเครื่องคอมพิวเตอร์ และส่วนประกอบ และรถยนต์และส่วนประกอบ

ทั้งนี้ ระดับผลกระทบจาก Brexit ในระยะต่อไปขึ้นอยู่กับว่าทั้งสองฝ่ายสามารถบรรลุข้อตกลงที่ประนีประนอมกันได้ในระดับใด โดยผลกระทบจะน้อยที่สุดหากข้อตกลงฉบับใหม่สามารถทำให้การค้าและการลงทุนยังคงเป็นไปได้อย่างราบรื่น ขณะที่ในกรณีที่เลวร้ายที่สุดคือทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงกันได้และจบลงด้วยความสัมพันธ์ภายใต้เงื่อนไขขององค์การการค้าโลก