ตั้ง 3 ปมสำคัญทำเพลิงไหม้อาคารกปภ.

ตั้ง 3 ปมสำคัญทำเพลิงไหม้อาคารกปภ.

"วสท." ตรวจจุดเกิดเหตุไฟไหม้อาคารการประปาส่วนภูมิภาค พร้อมตั้งปมประมาท-อุบัติเหตุ-วางเพลิง พบต้นตอเกิดจากห้องกิจการที่ 3

จากกรณีเหตุเพลิงไหม้อาคาร 2 การประปาส่วนภูมิภาค สํานักงานใหญ่ เลขที่ 72 ซอยแจ้งวัฒนะ 1 แขวงตลาดบางเขน เขตหลักสี่ กทม. ซึ่งไฟโหมลุกไหม้รุนแรง ต้องใช้เวลานานหลายชั่วโมงก่อนจะควบคุมสถานการณ์และไฟดับสนิทได้ เหตุเกิดเมื่อช่วงค่ำวันที่ 20 มีนาคม ที่ผ่านมา

ความคืบหน้าเมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 21 มีนาคม พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร ผบช.น พร้อมด้วย พ.ต.อ.มานะ เผาะช่วย ผกก.สน.ทุ่งสองห้อง นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่ากรุงเทพมหานคร ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้ว่าการประปาส่วนภูมิภาค ดร.ธเนศ วีระศิริ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์(วสท.) รศ.เอนก ศิริพานิชกร กรรมการและประธานสาขาวิศวกรรมโยธา เจ้าหน้าที่วิศวะกรรมสถานแห่งประเทศไทย เจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานคร และเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน(พฐ.) ได้เข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ เพื่อเก็บหลักฐานหาสาเหตุ รวมทั้งตรวจสอบโครงสร้างตัวอาคารซึ่งได้รับผลกระทบจากไฟไหม้รุนแรงดังกล่าว โดยใช้เวลาในการตรวจสอบนานกว่า 2 ชั่วโมง

พล.ต.ท.ศานิตย์ เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบตั้งไว้ 3 ประเด็น คือ เกิดจากความประมาท อุบัติเหตุ และ การวางเพลิง ซึ่งประเด็นการวางเพลิงนั้นมีความเป็นไปได้น้อย แต่ก็ยังไม่ตัดประเด็นดังกล่าวทิ้ง ทั้งนี้จากการตรวจสอบพบว่า ต้นเพลิงมาจากห้องกองกิจการที่ 3 โดยห้องดังกล่าวนั้นไม่มีเอกสารสำคัญอะไร เป็นเพียงเอกสารรายงานผลการปฏิบัติงานของสำนักงานการประปาเขตที่ 1 และ เขตที่ 8 ซึ่งไม่มีเอกสารที่มีการร้องเรียนการทุจริตแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามได้สอบปากคำพยานแวดล้อม เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานให้ห้องต้นเพลิงไปแล้ว 10 ปาก โดยทั้ง 10 คนให้การว่าเมื่อถึงเวลาเลิกงานก็ต่างแยกย้ายกันกลับ ไม่ได้มีใครอยู่ขณะเกิดเหตุ ซึ่งทั้งหมดให้การสอดคล้องกัน และคาดว่าการเกิดเพลิงไหม้มาจากการเกิดอุบัติเหตุ

ด้าน ดร.เสรี กล่าวว่า สำหรับบริเวณชั้น 4 เป็นชั้นทำงานของฝ่ายเลขารองผู้ว่าการฯ ซึ่งชั้นนี้มีห้องสำนักงานผู้ตรวจการอยู่ ส่วนเอกสารการร้องเรียนไม่ได้รับความเสียหาย เนื่องจากเมื่อมีการร้องเรียน หากตรวจสอบพบแล้วว่ามีมูลก็จะเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบ ส่วนตนคิดว่าทางสำนักงานมีระบบในการจัดเก็บข้อมูล ส่วนเรื่องร้องเรียน 30 กว่าเรื่องนั้นสามารถดำเนินการไปได้ เพราะแต่ละเขตที่มีเรื่องร้องเรียนจะมีเอกสารเก็บไว้ที่เขตอยู่แล้ว นอกจากนี้เอกสารการจัดซื้อจัดจ้างไม่ได้รับผลกระทบเช่นกัน เพราะเอกสารจะอยู่ที่เขตที่มีการจัดซื้อจัดจ้าง

ดร.เสรี กล่าวอีกว่า ส่วนการบริการของการประปาไม่ได้รับผลกระทบ เพราะการประปาส่วนภูมิภาคมีสำนักงานอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งแต่ละสำนักงานจะมีการดำเนินการให้บริการประชาชนอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามการดำเนินการซ่อมแซมอาคารที่ได้รับความเสียหายจะดำเนินการให้เร็วที่สุด โดยจะต้องให้ทางกรุงเทพมหานครเป็นผู้อนุญาตก่อน จึงจะสามารถเข้าไปซ่อมแซมอาคารที่ได้รับความเสียหายได้ ขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินมูลค่าความเสียหายได้ และการทำงานของเจ้าหน้าที่ที่อยู่อาคารดังกล่าวจะย้ายไปทำงานอาคารใกล้เคียงก่อน

ขณะที่ ดร.ธเนศ บอกว่า จากการตรวจสอบอาคารที่เกิดเพลิงไหม้ ทางกายภาพพบลักษณะการเสียรูปทรง เหล็กมีการบิดตัว แต่โครงสร้างเสายังตั้งตรง ส่วนพื้นคอนกรีตบางจุดมีการแอ่นตัว ซึ่งอาคารได้รับความเสียหายเฉพาะบริเวณชั้น 4 ซึ่งอาคารยังมีความแข็งแรง จึงไม่มีการทรุดตัวของอาคารแน่นอน เพราะเพลิงไหม้ไม่ได้เกิดจากชั้นล่างจึงทำให้โอกาสที่อาคารจะถล่มลงมามีน้อยมาก สำหรับส่วนที่ถูกไฟไหม้เสียหายจะต้องเสริมโครงสร้างเหล่านั้นให้มีกำลัง ทั้งนี้บริเวณชั้น 1-3 ยังคงสภาพเดิม เจ้าหน้าที่สามารถเข้าไปเก็บสิ่งของออกมาได้
ส่วนพื้นบริเวณชั้น 4 จะต้องทำการตรวจสอบโดยการทดสอบกำลังวัสดุ เสริมกำลังและทดสอบการรับน้ำหนักเพื่อให้เกิดความมั่นใจ ซึ่งส่วนที่ได้รับความเสียหายสามารถแก้ไขได้ โดยจะต้องเริ่มทำความสะอาดบริเวณชั้น 4 ก่อน เพื่อตรวจสอบบริเวณพื้นที่ได้รับความเสียหาย ส่วนหลังคาที่เป็นเหล็กได้รับความเสียหายบิดเบี้ยวจะต้องทำการรื้อถอนออก และหลังจากการแก้ไขซ่อมแซมเสร็จก็จะสามารถใช้งานได้ตามปกติ

ด้านนายจักกพันธุ์ กล่าวว่า เพลิงได้ลุกไหม้บริเวณห้องเก็บเอกสาร ชั้น 4 เป็นเวลาเกือบ 3 ชั่วโมง ก่อนที่เจ้าหน้าจะสามารถควบคุมเพลิงไว้ได้ เนื่องจากพื้นที่เกิดเพลิงไหม้เป็นห้องเก็บเอกสาร จึงเป็นเชื้อเพลิงติดไฟง่าย ประกอบกับลมที่เกิดขึ้นในขณะนั้น ทำให้ใช้เวลานานในการดับเพลิง ทั้งนี้เมื่อได้รับแจ้งเหตุไฟไหม้อาคารดังกล่าว เจ้าหน้าที่พร้อมรถดับเพลิงได้เข้าถึงที่เกิดเหตุภายในเวลา 9 นาที ซึ่งเหตุการณ์นี้ มีรถดับเพลิงร่วมปฏิบัติการจำนวน 20 คัน อย่างไรก็ตามในเบื้องต้นการประปาส่วนภูมิภาคได้สั่งระงับการใช้อาคารชั่วคราวแล้ว เพื่อรอการตรวจสอบอย่างละเอียด คาดว่าจะใช้เวลา 2-3 วัน ในการตรวจสอบโครงสร้าง สำหรับเตรียมการซ่อมแซม

เมื่อถามว่าทาง กทม.จะมีมาตรการคุมเข้ม ดูแลความปลอดภัยของอาคารประเภทต่างๆในพื้นที่กรุงเทพฯอย่างไรบ้าง เพื่อป้องกันเหตุเพลิงไหม้ นายจักกพันธุ์ บอกว่า โดยปกติ ตามพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2535 ที่กำหนดให้อาคารสูง อาคารขนาดใหญ่ที่ชุมนุมคนจำนวนมาก มีการตรวจสอบอาคาร ตรวจสอบระบบป้องกันอัคคีภัยประจำปี โดยวิศวกรผู้ชำนาญการและมีใบประกอบวิชาชีพถูกต้อง และส่งผลการตรวจสอบมายังกทม.ทุกปี ในส่วนนี้กทม.จะร่วมกับสำนักงานเขตสุ่มตรวจอาคารอีกครั้ง แต่กรณีอาคาร 4 ชั้น ของการประปาส่วนภูมิภาคที่เกิดเหตุเพลิงไหม้นั้น ก่อสร้างตั้งแต่ปี 2525 และเป็นอาคารที่ไม่ได้อยู่ในประเภทอาคารสูง หรืออาคารขนาดใหญ่ จึงไม่ต้องส่งผลตรวจสอบประจำปี แต่ กทม.จะมีการสุ่มตรวจ และสามารถให้คำแนะนำเกี่ยวกับการติดตั้งระบบป้องกันเหตุอัคคีภัยได้ ทั้งนี้จากการตรวจสอบพบว่าอาคารนี้ มีการติดตั้งระบบเตือนภัย สายยางฉีดน้ำสำหรับดับเพลิง และถังดับเพลิง ซึ่งเป็นอุปกรณ์พื้นฐานที่แต่ละอาคารควรมีไว้เพื่อระงับเหตุฉุกเฉินในเบื้องต้น สำหรับจำนวนอาคารสูง หรืออาคารขนาดใหญ่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปัจจุบันมีจำนวนกว่า 3,000 แห่ง ในส่วนนี้เป็นอาคารเก่าที่ก่อสร้างก่อน พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ปี2535 จำนวนกว่า 1,200 อาคาร ซึ่งจะต้องมีการตรวจสอบต่อไป