ดอกเบี้ยโลก ‘ขาขึ้น’ เอื้อธุรกิจแบงก์

ดอกเบี้ยโลก ‘ขาขึ้น’ เอื้อธุรกิจแบงก์

ดอกเบี้ยโลก ‘ขาขึ้น’ เอื้อธุรกิจแบงก์

แนวโน้มดอกเบี้ยโลกที่เริ่มปรับทิศเป็น “ขาขึ้น” นำโดย ดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ทำให้นักวิเคราะห์มองว่า การปรับขึ้นของดอกเบี้ย จะส่งผลดีต่อผลดำเนินงานกลุ่มธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากการปรับดอกเบี้ยเงินกู้ ทำได้เร็วกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก

นักวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซียพลัส ระบุว่า ผลกระทบจากเฟดที่ปรับขึ้นดอกเบี้ย อาจเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มธนาคารพาณิชย์ เพราะการปรับขึ้นดอกเบี้ยจากการปล่อยสินเชื่อจะทำได้เร็วกว่าต้นทุนดอกเบี้ยจ่าย คือ ต้นทุนเงินฝาก ซึ่งมีระยะเวลาของการฝากเงิน ส่งผลให้ net interest margin หรือ NIM ของธนาคารน่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยเฉพาะธนาคารขนาดใหญ่

ทั้งนี้ ธนาคารกรุงไทย มีสินเชื่อลอยตัวที่ 66% เทียบกับดอกเบี้ยเงินฝากลอยตัว 54% ธนาคารกรุงไทยมีสินเชื่อลอยตัวที่ 74% เทียบกับดอกเบี้ยเงินฝากที่ลอยตัว 66% ซึ่งธนาคารทั้ง 2 ยังเป็น ผู้ปล่อยกู้สุทธิ(lender) ในตลาดปล่อยกู้ระหว่างธนาคาร โดย ธนาคารกรุงเทพ ปล่อยสินเชื่อส่วนนี้ 2 แสนล้านบาท หรือราว 10% ของสินเชื่อ และ ธนาคารกรุงไทย คิดเป็น 14%

ขณะธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่อื่นๆ อาจจะไม่ได้ประโยชน์ หรืออาจจะเสียประโยชน์เพราะอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อลอยตัวน้อยกว่าต้นทุนดอกเบี้ยเงินฝากลอยตัว เช่น ธนาคารไทยพาณิชย์ มีสัดส่วน สินเชื่อลอยตัว 51% เทียบกับดอกเบี้ยเงินฝากที่ลอยตัว 57% และ ธนาคารกสิกรไทย สินเชื่อลอยตัว 60% เทียบกับดอกเบี้ยเงินฝากที่ลอยตัว 72%

ส่วนธนาคารพาณิชย์ขนาดกลางที่น่าจะเสียประโยชน์ ในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น เริ่มจาก ธนาคารกรุงศรี พบว่าสัดส่วนดอกเบี้ยสินเชื่อ ลอยตัวเพียง 4% ขณะที่ส่วนใหญ่เป็นดอกเบี้ยคงที่ 93% ขณะที่ต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายลอยตัว 53% และ คงที่ 47%

ตามมาด้วย ธนาคารทหารไทย สัดส่วนสินเชื่อดอกเบี้ยลอยตัว 53% (ดอกเบี้ยคงที่ 46%) ขณะที่ต้นทุนลอยตัว 77% (ดอกเบี้ยจ่ายคงที่ 19%) เช่นเดียวกับธนาคารพาณิชย์ขนาดเล็กอยู่ในฐานะเสียประโยชน์ นำโดย ธนาคารเกียรตินาคิน สินเชื่อลอยตัว 28% (คงที่ 65%) ขณะที่ต้นทุนลอยตัว 64% (ที่เหลือส่วนใหญ่คงที่ 36%) ตามมาด้วย ธนาคารทิสโก้ สินเชื่อลอยตัวน้อย 11% ดอกเบี้ยสินเชื่อคงที่สัดส่วนสูง 87% ขณะที่ต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายลอยตัว 38% ที่เหลือส่วนใหญ่คงที่ 62%

ยกเว้น ธนาคารธนชาต อาจจะกระทบปานกลางในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดกลาง เพราะดอกเบี้ยสินเชื่อลอยตัว 38%(ดอกเบี้ยสินเชื่อคงที่ 68%) ขณะที่ต้นทุนลอยตัว 45% (ที่เหลือเป็นดอกเบี้ยเงินฝากคงที่ 54%)

อย่างไรก็ตามดอกเบี้ยที่เปลี่ยนแปลง กระทบต่อ NIM มิใช่ปัจจัยกำหนดแนวโน้มกำไรอย่างเดียว แต่ยังขึ้นกับการปล่อยสินเชื่อของแต่ละธนาคาร ซึ่งต้องพิจารณาจากอัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก (Loan to Deposit Ratio) ด้วย หากการลงทุนเดินหน้าตามแผนภาครัฐ คาดว่าน่าจะมีน้ำหนักหักล้างเรื่องดอกเบี้ยได้

ส่วนแนวโน้มหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) บล.ทิสโก้ ระบุว่า ช่วงที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) บอกว่า จะจับตาดูแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของเอ็นพีแอลในแต่ละธนาคาร เนื่องจากข้อมูลที่ต่างจากที่ตลาดคาด

โดย ธปท. ได้ทำการตรวจสอบตัวเลขของแต่ละธนาคารไปแล้ว ซึ่งอยู่ระหว่างรอตรวจสอบของทางฝั่งธนาคารอีกครั้ง โดยตัวเลขที่แตกต่างกันอาจเกิดขึ้นจากการปรับโครงสร้างของ บริษัท สหวิริยา สตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือ เอสเอสไอ และ เอ็นพีแอล ของธนาคารที่ บล.ทิสโก้ ไม่ได้วิเคราะห์เพิ่มขึ้น

“ขณะที่เรารอการตรวจสอบของ ธปท. เรามองความเป็นไปได้ 2 อย่างคือ 1.เราและตลาดประมาณการเอ็นพีแอล จากการนำเอ็นพีแอลที่โดนตัดจำหน่ายและขายไปรวมกับยอดเอ็นพีแอล ซึ่งวิธีการนี้จะไม่เห็นผล เอ็นพีแอลที่ลดลง ไม่ได้สะท้อนถึงการตัดจำหน่ายและขายหนี้เสียเท่านั้น แต่รวมไปถึงหนี้ที่มีการปรับโครงสร้างด้วย

บล.ทิสโก้ ระบุว่า หากรวมการปรับโครงสร้างของ เอสเอสไอ ไว้ในหนี้เสียจะทำให้ เอ็นพีแอล ของธนาคารที่เราวิเคราะห์เพิ่มขึ้นจาก 0.8% เป็น 1.6% ในช่วงไตรมาส 4 ปี 2559 และ 1.6% เป็น 1.8% ในปี 2559 ใกล้เคียงกับที่ ธปท. ระบุมากขึ้นที่ 2.6% และ 2.1% ตามลำดับ

2.หุ้นกลุ่มที่เราวิเคราะห์คิดเป็นสินเชื่อ 75% ของสินเชื่อในระบบ โดยธนาคารที่เราไม่ได้วิเคราะห์อาจมี เอ็นพีแอล เพิ่มขึ้นมากกว่าธนาคารที่เราวิเคราะห์ในไตรมาส 4 ปี 2559 และ ทั้งปี 2559

บล.ทิสโก้ ระบุด้วยว่า ในปี 2560-2561 มีความเสี่ยงที่เอ็นพีแอลจะเพิ่มขึ้น โดยหนี้ปรับโครงสร้างของธนาคารที่เราวิเคราะห์เพิ่มขึ้น (+11% ในปี 2558 และ +23% ในปี 2559 เทียบกับ 2-3% ในปี 2556-2557)

โดยส่วนต่างของเรา และที่ ธปท.คาดมาจากการปรับโครงสร้างที่เพิ่มเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน (QoQ) จากธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงศรี และธนาคารกรุงไทย รวมทั้งสินเชื่อชั้นกล่าวถึงพิเศษจากธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ และสินเชื่อปรับโครงสร้าง 44% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY)

สำหรับธนาคารทหารไทย ในช่วงไตรมาส 4 ปี 2559 บล.ทิสโก้ คาดว่า เอ็นพีแอล มีโอกาสเพิ่มขึ้นในช่วง 6-12 เดือนข้างหน้า ซึ่งเป็นไปตามที่เราและตลาดคาดสำหรับปี 2560 จากการปล่อยสินเชื่อของธนาคารที่เฝ้าระวังขึ้น เพื่อรักษาแนวโน้มของเอ็นพีแอล

บล.ทิสโก้ ประเมิน NPL Formation rate ที่ 1.7% สำหรับปี 2560 และ 1.6% สำหรับปี 2561 (เทียบกับ 1.8% ในปี 2559) ซึ่งเป็นความเสี่ยงจากประมาณการของเรา แม้เราจะมองในเชิงรับมากกว่าตลาดแล้วก็ตาม