‘สุภิญญา’ประกาศยุติหน้าที่ กสทช.

‘สุภิญญา’ประกาศยุติหน้าที่ กสทช.

‘สุภิญญา’แจ้งขอยุติปฎิบัติหน้าที่ กสทช. ไม่รับค่าตอบแทนตั้งแต่ 15 มี.ค. หลังศาลฎีกาพิพากษาความผิด กรณีร่วมชุมนุมปิดล้อมรัฐสภา ปี 2550

วันนี้ (15มี.ค.) ศาลฎีกาพิพากษาคดีที่ตัวแทนคดีกลุ่มองค์ภาคประชาชน 10 ราย นำผู้ชุมนุมบุกรัฐสภา ปี 2550 เพื่อขัดขวางสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไม่ให้พิจารณาร่างกฎหมาย โดยศาลฎีกามีคำพิพากษากลับจากที่ศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง เป็นให้ “รอการกำหนดโทษ”

ทั้งนี้ ในคดีดังกล่าว มีนางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นหนึ่งในจำเลยคดีดังกล่าว โดยรอกำหนดโทษ 2ปี

นางสาวสุภิญญา ได้โพสต์ข้อความในบัญชีทวิตเตอร์ส่วนตัว @supinya โดยระบุว่าภายหลังคำพิพากษาศาลฎีกาวันนี้ แม้ศาลจะไม่ได้กำหนดโทษจำคุก แต่ก็พิพากษาว่ากระทำความผิดจึงมีประเด็นทางกฎหมาย จึงทำบันทึกแจ้งเลขาธิการ กสทช. ถึงคำพิพากษาให้ สำนักงานฯ ตีความกฎหมาย

โดยตั้งแต่วันนี้ (15 มี.ค.) ได้ขอ“ยุติ” การปฏิบัติหน้าที่ กสทช. ไปก่อน โดยไม่รับค่าตอบแทน ถ้าการตีความของ สำนักงานฯ ออกมาว่าไม่ขัดคุณสมบัติ ค่อยกลับมาปฏิบัติหน้าที่ต่อ แต่ถ้าขัดก็ถือว่าสิ้นสุดสภาพการเป็น กสทช. ตามกฎหมายตั้งแต่วันที่ 15 มี.ค.เป็นต้นไป

“ส่วนตัวตีความว่าขัด พ.ร.บ.กสทช. เพราะศาลฎีกาพิพากษาว่าทำความผิดฐานชุมนุม ค้าน สนช. แม้ว่าจะยังไม่มีโทศจำคุก จึงตัดสินใจขอยุติการทำหน้าที่ และน้อมรับคำพิพากษาสูงสุดของศาลฎีกา และขอยืนยันว่าสิ่งที่ทำเป็นสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ”

ทั้งนี้ ตามคำพิพากษา มองว่าอาจขัดกฎหมายข้อ 7 ของ พ.ร.บ. กสทช. ว่าด้วยคุณสมบัติต้องห้ามของคนเป็นกรรมการ

โดย พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 มาตรา 6 วงเล็บ 7 บัญญัติว่า คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการ จะต้องไม่เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำความผิดใด เว้นแต่เป็นความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท