สั่งยื่นประเมินภาษี 'หุ้นชินคอร์ป' ก่อนหมดเส้นตาย

สั่งยื่นประเมินภาษี 'หุ้นชินคอร์ป' ก่อนหมดเส้นตาย

ครม.สั่งสรรพากรยื่นประเมินภาษี "หุ้นชินคอร์ป" จาก "ทักษิณ" ใน 16 วัน ก่อนหมดเส้นตาย "บิ๊กตู่" สั่งกระทรวงการคลังตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงเหตุล่าช้า

การประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)วานนี้(14 มี.ค.) รับทราบแนวทางการจัดเก็บภาษีการซื้อขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน)ในปี 2549 โดยให้กรมสรรพากรยื่นเก็บภาษีกับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ถือหุ้นที่แท้จริง

แนวทางการจัดเก็บภาษีเป็นไปตาม การหารือของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่ประชุมร่วมกันระหว่างผู้เชี่ยวชาญกฎหมายภาษีทั่วประเทศกับผู้แทนจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) คณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และกรมสรรพากร เมื่อวันที่ 13 มี.ค.ที่ผ่านมา

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าการหารือเรื่องนี้ใน ครม. เป็นระยะเวลาประมาณ 15 นาที โดย ครม.ได้รับทราบแนวทางของที่ประชุมฯชุดดังกล่าวซึ่งได้เสนอให้กรมสรรพากรยื่นการประเมินภาษีคดีหุ้นชินคอร์ปไปยังนายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยตรงจากเดิมที่การยื่นประเมินภาษีการซื้อขายหุ้นชินคอร์ปเป็นการยื่นไปยังนายพานทองแท้ และน.ส.พินทองทา ชินวัตร ซึ่งตามคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในปี 2555 มีการระบุว่าทั้งสองเป็นนอร์มินีในการดำเนินการขายหุ้นให้กับบริษัทเทมาร์เซ็ก

“การดำเนินยื่นประเมินภาษีไปยังอดีตนายกฯทักษิณ ภายในวันที่ 31 มี.ค. 2551 จะทำให้คดีความเรื่องนี้ไม่หมดอายุความเนื่องจากเมื่อมีการยื่นประเมินภาษีคดีความเรื่องนี้จะหยุดลง การดำเนินการให้กรมสรรพากรยื่นประเมินภาษีในระยะเวลาประมาณ 16 วัน สามารถดำเนินการได้ทันอย่างแน่นอน”

สั่งคลังตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง

พล.ท.สรรเสริญ กล่าวว่าเมื่อเรียกประเมินภาษีและไม่มาดำเนินการจ่ายถือว่าระยะเวลาการนับอายุความจะหยุดลง จึงมีระยะเวลาในการดำเนินการฟ้องร้องได้ แม้ว่าจะมีการดำเนินการฟ้องร้องการไม่จ่ายภาษีจะดำเนินการหลังวันที่ 31 มี.ค.ก็สามารถที่จะดำเนินการได้

“นายกรัฐมนตรีได้สั่งให้กรมสรรพากรทำเรื่องประเมินภาษีในวันที่ 31 มี.ค.นี้ และนายกรัฐมนตรีรับทราบที่กระทรวงการคลังมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบข้อเท็จจริงในส่วนของกรมสรรพากรว่าที่ผ่านมามีส่วนเกี่ยวข้องกับการล่าช้าของการเรียกเก็บภาษีในคดีนี้หรือไม่ หรือการตัดสินใจดำเนินการในแต่ละเรื่องมีแนวทาง และหลักเกณฑ์อย่างไร เพื่อจะดูว่ามีความผิดหรือไม่ หากมีความผิดก็จะมีการลงโทษผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป”

ชี้ออกหมายเรียกนอมินีเท่ากับตัวการ

ทั้งนี้แนวทางนี้เป็นการนำคำพิพากษาคดีภาษีหุ้นชินคอร์ปในปี 2555 กลับมาพิจารณาพบว่าได้มีการออกหมายเรียกไปยังนายพานทองแท้และ น.ส.พินทองทา เป็นนอร์มินี ซึ่งไม่ใช่ตัวการสำคัญในการซื้อขายหุ้น แต่ตัวการสำคัญคืออดีตนายกฯทักษิณ

พล.ท.สรรเสริญกล่าวว่าเรื่องนี้ถือเป็นรายละเอียดกฎหมายเล็กที่ซ่อนในกฎหมายใหญ่ ซึ่งนายวิษณุใช้คำว่า “ทำไม่ได้ แต่ทำได้ ด้วยเป็นอภินิหารของกฎหมาย” ดังนั้นในมุมแบบนี้มาจากการเชิญผู้เชี่ยวชาญกฎหมายภาษีทั้งประเทศมาหารือกัน จึงพบว่าการออกหมายเรียกไปยังนอมินีจึงเป็นการออกหมายเรียกและการประเมินภาษีไปยังอดีตนายกฯทักษิณแล้ว

แต่เมื่อไม่ได้มีการดำเนินการชำระภาษีตามหมายเรียกและการประเมินจึงเท่ากับว่าระยะเวลาในคดีได้หยุดลงตั้งแต่ยังไม่ถึงระยะเวลา 10 ปี หลังจากนั้นจะดำเนินการฟ้องร้องต่อไปในศาลทั้งสามศาลตามการดำเนินการตามกฎหมายผลออกมา

ยันไม่ใช้มาตรา44แก้ปัญหา

อย่างไรจะเป็นดุลยพินิจของศาล รัฐบาลไม่ได้ดำเนินการไล่บี้ทางการเมืองในเรื่องการบังคับให้จ่ายภาษี หรือไม่ได้เกี้ยเสี้ยกับผู้ที่ต้องเสียภาษี แต่อย่างไร การดำเนินการแบบนี้จะสร้างความสบายใจในการดำเนินการตามคำพิพากษาตามข้อกฎหมาย โดยยึดคุณภาพและมาตรฐาน

“นายกรัฐมนตรีให้หลักเกณฑ์ในการดำเนินการเรื่องนี้ว่ารัฐบาลจะไม่ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ในการดำเนินการแต่จะใช้กฎหมายปกติในการดำเนินการ โดยจะไม่มีการขยายระยะเวลาหรืออายุความออกไป และจะต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นรัฐ หรือผู้ที่ถูกสังคมกล่าวหาซึ่งก็คืออดีตนายกฯทักษิณ ที่สำคัญคือต้องดูว่าเจตนาในการขายหุ้นนั้นสุจริตหรือไม่สุจริต ซึ่งเรื่องนี้จะมีการพิจารณาในชั้นศาลต่อไปหากเจตนาสุจริตเรื่องทุกอย่างจบลงได้ แต่หากเจตนาไม่สุจริตก็ให้ไปดำเนินการตามแนวทางที่ได้ให้ไว้ ส่วนจะรู้ว่าการขายหุ้นสุจริตหรือไม่ ก็ให้เป็นการฟ้องร้องกันในชั้นศาล” พล.ท.สรรเสริญ กล่าว

สรรพากรรายงานความเป็นมาคดี

ทั้งนี้ที่ประชุมได้รับทราบรายงานของกรมสรรพากรเกี่ยวกับความเป็นมาของหุ้นชินคอร์ปว่าเมื่อ 10 ปีก่อนได้มีการทำการขายหุ้นชินคอร์ปให้กับบริษัทแอปเปิ้ล ริช ซึ่งจดทะเบียนในหมู่เกาะเวอร์จิ้น ไอร์แลนด์ จากนั้นการธุรกรรมต่อมาบริษัท แอปเปิ้ลลิช ขายหุ้นให้กับนายพานทองแท้ และน.ส.พินทองทา ชินวัตร ในราคาหุ้นละ 1 บาท ก่อนที่ทั้งสองคนจะขายหุ้นให้กับบริษัทเทมาร์เซ็กในราคาหุ้นละ 49 บาทได้กำไรทันทีหุ้นละ 48 บาท

การซื้อขายหุ้นที่ว่าเป็นการดำเนินการในปี 2549 ซึ่งจะต้องมีการเสียภาษีในเดือน มี.ค.2550 แต่ทั้งนายพานทองแท้ และน.ส.พินทองทา ไม่ได้ดำเนินการทางด้านภาษีกรมสรรพากรได้ออกหมายเรียกให้ทั้งสองคนมาดำเนินการเสียภาษีซึ่งไม่ได้มาตามหมายเรียก จึงได้มีการออกการประเมินภาษีซึ่งทั้งสองคนไม่ได้จ่ายภาษีและกรมสรรพากรได้มีการไปฟ้องร้องต่อศาลภาษีอากรกลางซึ่งตัดสินยกฟ้อง โดยอิงคำพิพากษาของศาลฎีกากลางที่ว่านายพานทองแท้ และน.ส.พินทองทา เป็นการดำเนินการในลักษณะนอร์มินีของอดีตนายกฯทักษิณดังนั้นการจะเก็บเรียกภาษีจึงต้องไปเรียกเก็บภาษีจากอดีตนายกฯทักษิณ

“ศาลได้มีคำพิพากษาว่าอดีตนายกฯทักษิณคือตัวการ การจะดำเนินการเก็บภาษีต้องไปดำเนินการกับอดีตนายกฯทักษิณไม่ได้ดำเนินการกับนอร์มินี แต่มีกฎกระทรวงที่เรียกว่า ฉ.126 ซึ่งมีผลบังคับใช้ในปี 2509 ระบุว่าผู้ที่ขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ไม่ต้องเสียภาษีอากร กรมสรรพากรจึงมีหนังสือไปสอบถามตลาดหลักทรัพย์ว่ากรณีอย่างนี้ต้องเสียภาษีหรือไม่ ซึ่งตลาดหลักทรัพย์มีหนังสือตอบมาว่าเป็นการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์จึงไม่ต้องเสียภาษีจึงถือว่าปิดคดีนี้ในปี 2555"

อย่างไรก็ตาม การเรียกเก็บภาษีจะหมดอายุความใน 10 ปี หรือในวันที่ 31 มี.ค.2560 เรื่องนี้จึงอยู่ในความสนใจของสังคม ซึ่งมีวงเงินประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท บวกกับค่าปรับ รวมทั้งสำนักงานตรวจการแผ่นดิน (สตง.) ได้มีหนังสือทวงถามไปยังกรมสรรพากรให้ทวงเงินภาษีในจำนวนดังกล่าวรวมทั้งคาดโทษว่าหากกรมสรรพากรไม่ดำเนินการจะมีโทษทางกฎหมายจากการเว้นการปฏิบัติงาน

กรมสรรพากรได้ชี้แจงให้รัฐบาลรับทราบว่ากรมฯ ได้ดำเนินการบนพื้นฐานของกฎหมายและก่อนหน้านี้ศาลภาษีอากรกลางได้มีการยกฟ้องไปแล้ว โดยที่ผ่านมาได้มีการพิจารณาข้อกฎหมายย่อยในข้อกฎหมายใหญ่ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งต้องดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอน ทั้งการออกหมายเรียก การประเมินภาษีและการฟ้องร้องเรียกคืนภาษี ซึ่งแม้ สตง.ได้ชี้ช่องกฎหมายว่าได้มีกฎหมายมาตรา 3 อัฐว่าด้วยเรื่องภาษีอากรว่าระยะเวลาทั้งหมดที่กำหนดไว้ในกฎหมายภาษีไม่ได้กำหนดอายุความ แค่ที่กำหนดไว้ในกฎหมาย แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีอำนาจหน้าที่ในการขยายอายุความกฎหมายภาษีได้

กรมสรรพากรไปสอบถามคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีซึ่งมีคำอธิบายว่าเจตนาของการกำหนดให้ขยายระยะเวลากฎหมายต้องเป็นประโยชน์หรือเป็นคุณต่อผู้จะรับประโยชน์จากการเสียภาษีเพื่อให้เขาไม่ผิดกฎหมาย แต่ถ้าเป็นเจตนาในการไล่บี้เก็บภาษีเรียกว่าไม่ได้มีเจตนาในทางที่เป็นคุณจึงไม่สามารถดำเนินการได้

สั่งปลัดคลังตั้งกรรมการสอบ

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า หลังคณะรัฐมนตรีมีมติในเรื่องการเก็บภาษีหุ้นชินคอร์ป กระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพากรก็ต้องปฏิบัติตาม โดยกรมสรรพากรจะต้องทำหน้าที่ในการประเมินภาษีต่อพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะเจ้าของหุ้นตัวจริง ซึ่งจะสิ้นสุดอายุความในวันที่ 31 มีนาคมนี้ แต่หลังจากสิ้นสุดระยะเวลาดังกล่าว ทางพ.ต.ท.ทักษิณ ไม่มาชำระภาษี ทางกรมสรรพากรก็ต้องปฏิบัติตามมติครม.ในเรื่องการฟ้องร้องต่อไป

ทั้งนี้ ในระยะ 1 เดือนที่ผ่านมา กระทรวงการคลัง โดยปลัดกระทรวงการคลังได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบกรณีการเก็บภาษีหุ้นดังกล่าวว่าในช่วงระยะที่ผ่านมามีใครเกี่ยวข้องบ้าง และ เหตุใด จึงไม่มีการประเมินภาษี

แหล่งข่าวจากกรมสรรพากร เปิดเผยว่า นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร จะไม่ให้ข่าว หรือแถลงใดๆ เกี่ยวกับกรณีการเก็บภาษีหุ้นชินคอร์ป เนื่องจากเกรงจะเสียรูปคดี หลังรัฐบาลสั่งให้กรมสรรพากรเก็บภาษีจากนายทักษิณ ซึ่งคาดว่า อธิบดีกรมสรรพากรจะถูกฟ้องกลับจากพ.ต.ท.ทักษิณอย่างแน่นอน ดังนั้น ไม่อยากจะไปพูดหรือให้ข่าวใดๆ โดยนายประสงค์ได้ให้ฝ่ายกฎหมายดูรายละเอียดเกี่ยวกับการประเมินภาษีดังกล่าวอีกครั้ง เพื่อดูในข้อกฎหมายว่าจะดำเนินการอย่างไร