ตั้ง‘ศาลสงฆ์’ เช็คบิล ‘พระธัมมชโย’

ตั้ง‘ศาลสงฆ์’ เช็คบิล ‘พระธัมมชโย’

(รายงาน) ตั้ง "ศาลสงฆ์" เช็คบิล "พระธัมมชโย"

เริ่มมีความชัดเจนขึ้น...กับการดำเนินการกับพระธัมมชโย อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ในทางธรรมวินัย หลังจากถูกถอดสมณศักดิ์ชั้น 'พระเทพญาณมหามุนี' จากการที่ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีร่วมกันฟอกเงิน สมคบกันฟอกเงิน และรับของโจรและยังถูกกล่าวหาในความผิดอาญาอีกหลายคดี    

เมื่อนายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ออกมาบอกว่า ทางสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ หรือ พศ. จะแจ้งเรื่องพฤติกรรมของพระธัมมชโยที่อาจขัดพระธรรมวินัย ต่อที่ประชุมมหาเถรสมาคม (มส.) ในวันที่ 10 มีนาคมนี้ เพื่อให้ที่ประชุมพิจารณาดำเนินการต่อไป      

จึงต้องจับตาไปที่การประชุมมหาเถรสมาคม (มส.)ในวันที่ 10 มีนาคมนี้ อีกทั้งยังมีข่าวว่า มีการเตรียมการตั้งพระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต จ.ชัยภูมิ เป็นเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย     

ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ว่า การที่ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ( พศ.) เป็นผู้ดำเนินการแจ้งพฤติกรรมของพระธัมมชโยที่อาจขัดพระธรรมวินัย ต่อที่ประชุมมหาเถรสมาคม เอง เมื่อรูปการณ์เป็นเช่นนี้น่าจะมีการนำกฎมหาเถรสมาคมฉบับที่ 21 พ.ศ.2538 ว่าด้วยการให้พระภิกษุสละสมณเพศ มาใช้ โดยมี 2  แนวทาง

แนวทางแรก ที่ประชุมมหาเถรสมาคม  มอบหมายให้ สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ เจ้าอาวาสวัดพิชยญาติการามวรวิหาร ในฐานะเจ้าคณะใหญ่หนกลาง ไปตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งหากจากการตรวจสอบเห็นว่าพระธัมมชโย ล่วงละเมิดพระธรรมวินัย คณะกรรมการที่เจ้าคณะใหญ่หนกลางตั้งขึ้น สามารถทำหน้าที่เป็น ‘ศาลสงฆ์’ นำเอาข้อ 3 ของกฎมหาเถรสมาคมฉบับที่ 21พ.ศ.2538 มาวินิจฉัยให้พระธัมมชโยสละสมณเพศหรือพ้นจากความเป็นพระได้ โดยไม่จำต้องได้ตัวพระธัมมชโยมา

แนวทางที่สอง   คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ลงมติมีมูลว่าพระธัมมชโย ล่วงละเมิดพระธรรมวินัย จากนั้นก็อาศัยข้อ 4 ของกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 21 พ.ศ.2538 ส่งเรื่องให้มหาเถรสมาคมวินิจฉัย ซึ่งมหาเถรสมาคม มีอำนาจทำหน้าที่เป็น‘ศาลสงฆ์’วินิจฉัย ให้พระธัมมชโยสละสมณเพศได้หรือพ้นจากความเป็นพระ  โดยไม่จำต้องได้ตัวพระธัมมชโยมา 

ทั้งนี้ทั้งสองแนวทาง คำวินิจฉัยถือเป็นที่สุด  

ในอดีต‘ พระยันตระ’ ก็เคยโดนกฎมหาเถรสมาคมฉบับที่ 21 มาแล้วโดยเมื่อ 23 ปีที่แล้ว พระยันตระ อมโรภิกขุ ถูกเปิดโปงว่าพัวพันกับสีกา  ในที่สุด มหาเถรสมาคม ก็ได้พิจารณาปรับให้พระยันตระพ้นจากความเป็นสงฆ์ เนื่องจากถูกตั้งอธิกรณ์ผิดวินัยร้ายแรงด้วยการล่วงละเมิดเมถุนธรรมต้องอาบัติถึงขั้นปาราชิก แต่‘ยันตระ’ไม่ยอมรับมติสงฆ์ จึงปฏิญาณตนเองว่ายังเป็นพระภิกษุสงฆ์อยู่ แล้วเปลี่ยนไปนุ่งจีวรสีเขียวแทน 

ส่วน'พระธัมมชโย" ก็มีร่องรอยในอดีตให้ศึกษา คือ ย้อนไปเมื่อปี 2541 เมื่อ19 ปีที่แล้ว  คือกรณี พระอดิศักดิ์ วิริสโก อดีตพระลูกวัดพระธรรมกาย กล่าวหา พระธัมมชโย ว่ายักยอกเงินและที่ดินที่ญาติโยมบริจาคให้ และมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ใกล้ชิดสีกา และอวดอุตริมนุสธรรม จากนั้น วรัญชัย โชคชนะ แกนนำกลุ่มพุทธศาสนิกชนชาวไทย เข้าแจ้งความต่อกองปราบปราม กล่าวหาว่าพระธัมมชโย ทำผิดกฎหมายอาญา ฐานหลอกลวงผู้อื่นเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินและฉ้อโกงทรัพย์ที่มีผู้บริจาคให้วัดไปเป็นของตัวเองและพวก

ในครั้งนั้น พระพรหมโมลี เจ้าอาวาสวัดยานนาวา ในฐานะเจ้าคณะภาค 1 ได้รับมอบหมายจากมหาเถรสมาคม ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งหมด ขณะที่สมเด็จพระสังฆราช มีพระลิขิต ให้ธัมมชโยคืนที่ดิน ทรัพย์สินขณะเป็นพระให้วัดพระธรรมกาย  แต่พระธัมมชโย ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตาม กรมการศาสนาจึงได้แจ้งกล่าวโทษข้อหายักยอกทรัพย์ เป็นเหตุให้กองปราบปราม นำกำลังคอมมานโด เข้าล้อมจับพระธัมมชโย ที่วัดพระธรรมกาย แต่ก็มีบรรดาลูกศิษย์ รวมตัวกันเป็น ‘โล่มนุษย์’ออกมาป้องกันจนกองปราบปรามต้องถอยกลับ สุดท้ายเจ้าคณะใหญ่หนกลาง :ซึ่งขณะนั้นคือสมเด็จพระมหาธีราจารย์ เจ้าอาวาสวัดชนะสงคราม ต้องมีบัญชาเด็ดขาดว่า ถ้าพระธัมมชโยไม่มามอบตัวต้องสึก ทำให้ พระธัมมชโย ยอมมามอบตัวต่อกองปราบปรามแต่มีเงื่อนไขว่าต้องได้ประกันตัวและเมื่อพระธัมมชโยมามอบตัวก็ได้ประกันตัวไปในทันทีภายในวัดชนะสงคราม

 ต่อมาคดีของพระธัมมชโย ได้มีการยื่นฟ้องต่อศาลอาญา  แต่ในปี 2549 พนักงานอัยการ ได้ขอถอนฟ้องพระธัมมชโย โดยให้เหตุผลในการขอถอนฟ้องว่า พระธัมมชโย ได้เผยแผ่พระพุทธศาสนาตรงตามพระไตรปิฎกและนโยบายของสงฆ์แล้ว และต่อมาได้มีการคืนตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายให้  โดยอ้างว่าคดีทางโลกจบแล้ว

แต่คราวนี้ พระธัมมชโย อาจไม่โชคดีเหมือนคราวที่แล้ว โดยกรณีคดีทางโลกนั้น พระธัมมชโย อาจไม่ได้รับอนุญาตจากดีเอสไอให้ประกันตัวก็ได้ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็ต้องสึก จากความเป็นพระ

ส่วนกรณีทางธรรม  อาจมีการนำกฎมหาเถรสมาคมฉบับที่ 21 พ.ศ2538  ข้อ 3  มาใช้วินิจฉัยให้พระธัมมชโยพ้นจากความเป็นพระได้ หากพระธัมมชโยไม่ยอมมอบตัวแต่โดยดี หรือเรียกว่า ‘สึกกลางอากาศ’