คิดใหญ่แบบ ‘อีทราน’ มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าสาธารณะ

คิดใหญ่แบบ ‘อีทราน’  มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าสาธารณะ

อีทราน พร้อม (ETRAN PROM) หรือ “มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าสาธารณะ”เรียกเสียงฮือฮาได้ไม่น้อยในงานวันเปิดตัวเมื่อไม่นานมานี้

ซึ่งเจ้าของก็คือ “อีทราน กรุ๊ป” สตาร์ทอัพรุ่นแรกในโครงการบ่มเพาะ Digital Ventures Accelerator หรือดีวีเอ ซึ่งเป็นของ ดิจิทัล เวนเจอร์ส ในเครือธนาคารไทยพาณิชย์ และถือว่าแหวกแนวจากสตาร์ทอัพทั่วๆไป ไม่ใช่เป็นแอพ เว็บ หรือเป็นแพลตฟอร์ม แต่มาในรูปของโปรดักส์มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า

“สรณัญธ์ ชูฉัตร” (เอิร์ธ) ฟาวเดอร์/ซีอีโอ อีทราน กรุ๊ป ยอมรับว่า การเป็นฮาร์ดแวร์ทำให้นักลงทุนเชื่อใจยอมควักกระเป๋าสนับสนุนถือเป็นอะไรที่ยาก ทั้งยังมองว่าเป็นเรื่องที่ใหญ่เกินตัว เป็นบิสิเนสโมเดลของธุรกิจหลักพันล้านหมื่นล้าน

"แต่ ทีเอสแอล ออโต้ คอร์ปอเรชั่น ซึ่งทำธุรกิจนำเข้ารถยนต์ ซึ่งผมเป็นที่ปรึกษาให้เขาอยู่ ตกลงเป็นเองเจิ้ลอินเวสเตอร์รายแรก เขาบอกว่าที่ให้เงินเพราะเชื่อว่าถ้าเป็นเราก็น่าจะทำได้ ก็ให้เงินมา 5 แสนบาท รวมถึงให้ออฟฟิศที่เดิมเป็นอู่รถของเขาให้เราทำงานด้วย"

อย่างไรก็ดี ลึกๆ แล้วที่ทำให้สรณัญธ์มั่นใจว่า อีทรานจะต้องเป็นไปได้นั้น มีอยู่ 3 ประเด็นหลักๆ คือ หนึ่ง มีทีมงานดี เป็นเพื่อนๆสถาปัตย์ฯที่เรียนจบด้านการดีไซน์รถรุ่นสุดท้ายจากมหาวิทยาลัยลาดกระบัง ซึ่งมากฝีมือและหาตัวจับยากในปัจจุบัน สอง ตลาดนี้ยังใหม่ เป็นบลูโอเชี่ยนที่ไม่ต้องแข่งขันมาก สุดท้าย เพราะมันเป็นแนวคิดที่ดีต่อโลก จะช้าจะเร็ว ย่อมต้องเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน

อีทรานมองการขนส่งสาธารณะแบบครอบคลุม ไม่ว่าจะเป็นสองล้อ สามล้อ สี่ล้อ รวมไปถึงไม่มีล้อก็คือการขนส่งทางน้ำ และทางอากาศ เนื่องจากจะสร้างอิมแพ็คต่อสังคมได้ในวงกว้าง ขณะที่ตรงจุดสตาร์ทจะขอเริ่มต้นที่สองล้อ กับพี่วินมอเตอร์ไซค์รับจ้างเป็นดับแรก

เขาเล่าว่าไอเดียนี้เกิดขึ้นเมื่อสองปีที่แล้ว  ที่ในวันหนึ่งคนขับรถเกิดลางาน เขาเลยต้องนั่งมอเตอร์ไซค์รับจ้างจากที่พักในซอยทองหล่อเพื่อไปที่สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสซึ่งอยู่ตรงปากซอย เท่านั้นเองเรื่องราวต่างๆก็เกิดขึ้นมาจากรู้สึกที่มีอยู่ว่า ..ทำไม? บนท้องถนนจึงเต็มไปด้วยฝุ่นควัน และมลพิษ 

"ผมเลยนัดคุยเรื่องนี้กับเพื่อนๆ ว่าควรทำอะไรจริงจังๆ และดีๆ สักอันไหม ในมุมของผมๆจะเน้นเรื่องความดีก่อน ส่วนกำไรหรือเงินเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ที่คิดคือที่ผมยืนได้และมีชีวิตอยู่ทุกวันนี้ คือการที่ผมทำความดี"

คอนเซ็ปต์ของโปรดักส์อีทราน พร้อม จะเป็นสกู๊ตเตอร์ที่มีสองที่นั่ง แยกกันระหว่างคนขับและคนซ้อน ที่ได้มาจากการวิเคราะห์ของทีมงานที่พบว่ามอเตอร์ไซค์ที่วิ่งบนท้องถนนจะถูกออกแบบมาเพื่อผู้ขับขี่เป็นหลัก แต่เป็นอันตรายสำหรับผู้ซ้อนท้าย

"เราเลยคิดว่าถ้าเป็นมอเตอร์ไซค์สาธารณะหน้าตาต้องเป็นอย่างไร และก็พบว่า พอรถไม่มีเครื่องยนต์และถังน้ำมัน มันจะโล่งมากและสามารถเอามาจัดสรร ดีไซน์ใหม่ได้ เราวาดเป็นร้อยแบบเลย สมมุติฐานแรกของเราก็คือ คนขี่กับคนซ้อนจะต้องนั่งห่างกัน มีการศึกษาพัฒนาและดีไซน์ไปเรื่อยๆ จนถึงขั้นตอนเข้าโรงงาน ซึ่งในขั้นตอนนี้เราต้องคุยกับโรงงานอย่างใกล้ชิด  เราต้องรู้ต้นทุนให้ได้"

แล้วมีเหตุผลอะไรที่วินมอเตอร์ไซค์ต้องมาใช้รถของอีทราน? โดยทั่วไปพวกเขาก็มีรถของตัวเองอยู่แล้ว ขณะที่รถรุ่นใหม่ๆ ก็ประหยัดน้ำมันได้ค่อนข้างดีอยู่แล้ว

แต่ภายหลังจากที่ได้ลงไปจับเข่าพูดคุยกับวินมอเตอร์ไซค์จำนวน 400 ราย ก็พบว่า ในแต่ละเดือนพวกเขาต้องจ่ายค่าน้ำมันไปประมาณ 10% ของรายได้ทั้งหมด แปลว่าถ้ามีรายได้ 5 หมื่นบาทก็ต้องใช้เงินสำหรับค่าน้ำมันไป 5 พันบาท ซึ่งสำหรับคนที่มีอาชีพรับจ้างไม่มีสวัสดิการอะไรก็ถือว่าเยอะมาก

" คนไทยยังไม่ตระหนักเรื่องรักษ์โลก แต่ถ้าไปบอกว่าถ้าพี่ใช้รถของเรา พี่จะมีเงินเหลือใช้เหลือเก็บ บิสิเนสโมเดลของเราคือการให้เช่า อีทรานจะเป็นเจ้าแรกของมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าให้เช่า เพื่อให้พี่วินเอาไปใช้ทำมาหากิน ให้พวกเขามีกำไรมากยิ่งขึ้น โลกเราก็จะดีมากยิ่งขึ้น ยิ่งผมให้เช่ารถได้มากเท่าไหร่ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ก็ลดลงมากเท่านั้น”

ความเป็นฮาร์ดแวร์ทำให้อีทรานต้องเผชิญจุดยากหลาย ๆจุด อีกจุดหนึ่งก็คือ โมเดลบิสิเนสนี้ไม่ต่างจากธุรกิจโทรคมนาคม ตรงที่จะมีลูกค้าหรือไม่มีไม่รู้ แต่ต้องมีสัญญาน คือต้องลงทุนปักเสามูลค่าต้นละหลักล้านบาทไปเรื่อยๆ เพื่อให้สัญญานมีความครอบคลุม

ในแง่ของรถก็คือ ถ้าเป็นรถแก๊สต้องมีปั๊มแก๊ส ถ้าเป็นรถน้ำมันต้องมีปั๊มน้ำมัน ถ้าอยากจะขับเคลื่อนรถไฟฟ้า ก็ต้องมีปั๊มไฟฟ้า

"ถ้าจะทำให้มันเกิดขึ้นได้ ก็ต้องมีจุดจ่ายไฟฟ้าของเราเอง ซึ่งเมื่อไปสอบถามฝั่งพี่วินแล้ว เราก็เลยคิดว่าจะต้องไปเช่าพื้นที่ใต้สถานีรถไฟฟ้าเพื่อทำเป็นสเตชั่นของเรา สร้างจุดสลับแบตเตอรี่ เพื่อพี่วินจะไม่ต้องเสียเวลาชาร์ตไฟ แต่ละสถานีจะรองรับพี่วินในพื้นที่นั้นๆ ให้มาหยิบแบตใหม่ที่ชาร์ตเต็มแล้วและคืนอันเก่าไปทำการชาร์ตใหม่ให้เต็ม"

ถือเป็นการสร้าง “อีโคซิสเต็ม” เพราะสตาร์ทอัพคือธุรกิจที่ต้องโตแบบก้าวกระโดด จำเป็นต้องมีความ “กล้าลงทุน” ซึ่งก็หมายถึงจุดชาร์ตแบตเตอรี่ 

อีกประเด็นหนึ่งก็คือ อีทรานไม่แค่สร้างธุรกิจ แต่อยากสร้างการเปลี่ยนแปลง ทำให้คนเชื่อว่าโลกที่ดีกว่ามาถึงแล้ว เลยต้องจ่ายแพงกว่าคนอื่น

"มันคืออินฟราสตัคเจอร์ของเมืองไทย ถ้าเราทำมันก่อน เรายืนก่อน เราจะไปได้ก่อน และตอบโจทย์ว่าการใช้งานรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าเกิดขึ้นจริง ซึ่งสำคัญเพราะมันจะสร้างอิมแพ็ค เมื่อคนได้เห็นรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้ามาวิ่งวินได้ ก็เหมือนกับแก๊สที่เอาไปติดแท็กซี่ก่อน พอแท๊กซี่วิ่งทั้งวันไม่พัง คนก็กล้าติดแก๊ส ตรงนี้มันเป็นแรงบันดาลใจ ให้คนมองว่าถึงเวลาแล้วที่จะเปลี่ยนไปสู่สิ่งที่ดีกว่า"

ถามถึงเรื่องรายได้ หลักๆมาจากค่าเช่ารถที่มีการคำนวนว่าจะตกเดือนละ 3.5 พันบาท/คัน โดยมาร์เก็ตไซส์ของอีทรานมีอยู่ประมาณ 1 แสนคัน หมายถึงรายได้เดือนละ 350 ล้านบาท

"จริงๆแล้วตลาดรถขนส่งสาธารณะมีมากกว่ามอเตอร์ไซค์ ธุรกิจนี้เราเห็นเงินหลักหมื่นล้าน ซึ่งแบรนด์ใหญ่ๆคงไม่อยากลดตัวมาทำแบบนี้ แต่ถามว่าเราจะเป็นมดกัดใจเขาไหม ก็คงเป็น แต่ถ้าไม่อยากให้เป็นเขาก็ควรมาลงทุนกับเรา"

ไมล์สะโตนคน ไมล์สะโตนธุรกิจ

สมัยที่เรียนระดับมัธยม โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สรณัญธ์ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม “เด็กปัญญาเลิศด้านคอมพิวเตอร์” สร้างผลงานประกวดไปชนะในเวทีระดับมหาวิทยาลัย แต่เขาก็ต้องหยุดความฝันว่าจะเป็นวิศวะคอมพิวเตอร์ เนื่องจากเกิดอาการปวดไมเกรนจนหมอเตือนว่าถ้าทำอะไรที่โฟกัสที่เครียดไปก็อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต

เขาเลยเลือกเอ็นทรานซ์เข้าคณะสถาปัตย์ฯด้านออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มหาวิทยาลัยลาดกระบัง แต่ก็เปิดบริษัทรับงานออกแบบไปเรียนไป สุดท้ายก็เลยใช้เวลา 8 ปีจึงเรียนจบ จากนั้นเขาก็เปิดอีกบริษัทเป็นโปรดักส์ดีไซน์ ,อาคิเทคดีไซน์, อินทีเรียดีไซน์ โดยชวนเพื่อนๆสถาปนิกมาช่วยกันทำ

"ทำได้ 3-4 ปี ก็เลิก เพราะเพื่อนในกลุ่มเริ่มทะเลาะกัน พวกเรายังเด็ก ไม่มีวุฒิภาวะเพียงพอในการดีลกับปัญหา เป็นจุดเปลี่ยนและพี่โจ้ ธนา เธียรอัจฉริยะ ก็ให้โอกาสพาผมเข้าวงการที่ปรึกษา ตอนนั้นไม่ได้คิดแต่เรื่องการออกแบบ แต่เป็นการวางแผนธุรกิจ และกลยุทธ์ โดยใช้จุดยืนของเราคือความคิดสร้างสรรค์ ผมไม่ใช่คนตัวเลข แต่มักจะคิดอะไรแปลกใหม่มีแวลลูกับองค์กร"

ชีวิตของที่ปรึกษาถือว่าเป็นอะไรที่สุดยอด ได้ทั้งประสบการณ์และได้ทั้งเงิน จนกระทั่งเขาได้ปิ๊งไอเดียว่าต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อช่วยลดมลภาวะโลก เลยดึงเพื่อนกลุ่มเดิมที่เคยทำธุรกิจด้วยกันและเคยแตกกัน (ด้วยดี) มาตามหาความฝันด้วยกันอีกครั้ง

สำหรับไมล์สโตนของอีทรานที่วางไว้ ก็คือ ปีที่ผ่านมาถือเป็นปีแห่งการทำต้นแบบ ในปีนี้จะประกาศความพร้อม เป็นสินค้าที่ชื่อว่าอีทราน พร้อม และสร้างจุดชาร์ตแบตเตอรี่  ในปีหน้าจะเริ่มธุรกิจบีทูบี โดยไปจับมือกับธุรกิจต่างๆ เช่น ดีเอชแอล ไปรษณีย์ไทย หรือสตาร์ทอัพ ในปีถัดไปจะทำบีทูซี ผลิตรถเพื่อการขาย ภายในปี 2563 จะนำบริษัทจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ