ผู้ค้าหวั่นภาษีธุรกิจออนไลน์ฉุดภาพรวมอีคอมเมิร์ซไทย

ผู้ค้าหวั่นภาษีธุรกิจออนไลน์ฉุดภาพรวมอีคอมเมิร์ซไทย

ผู้ประกอบการ หวั่นมาตรการภาษีธุรกิจออนไลน์ กระทบผู้ค้าวงกว้าง อาจกระทบถึงขั้นย้ายฐานการค้า เปิดช่องเจรจาร่วมหลายฝ่าย

ผู้ประกอบการ หวั่นมาตรการภาษีธุรกิจออนไลน์ กระทบผู้ค้าวงกว้าง อาจถึงขั้นย้ายฐานการค้า เปิดช่องเจรจาร่วมหลายฝ่าย แนะรัฐใช้มาตรการค่อยเป็นค่อยไปในช่วงเปลี่ยนผ่าน

นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย กล่าวถึงประเด็นการจัดเก็บภาษีธุรกิจออนไลน์ว่า เห็นด้วยกับกรณีกับการจัดเก็บภาษีของธุรกิจต่างประเทศ แต่สำหรับธุรกิจในไทย เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ไม่อยากให้รัฐโดยเฉพาะกรมสรรพากรลุยจัดเก็บอย่างเดียว ควรต้องมีการหารือร่วมกับหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และหาแผนร่วมกัน หาทางออกแบบค่อยเป็นค่อยไป

"หากรัฐใช้ยาแรง มีผลกับการค้าออนไลน์ในประเทศแน่นอน ผู้คนที่จะทำหรือเริ่มทำการค้าออนไลน์จะแตกตื่นไปหมด กระทบต่อธุรกิจออนไลน์แน่ๆ รวมไปถึงผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซ และออนไลน์ในไทย" 

ที่น่าเป็นห่วงคือ อำนาจกรมสรรพากรเพิ่มมากขึ้น เรียกขอข้อมูลลูกค้าเมื่อไรก็ได้หากสงสัย ตรงนี้จะทำให้ลูกค้าหลายๆ คนกังวลว่าจะเปิดธุรกิจออนไลน์ในไทยดีหรือไม่ อาจเห็นการย้ายฐานการค้าของคนทำการค้าออนไลน์บางกลุ่มย้ายออกไปใช้บริการของต่างประเทศ ที่กฏหมายไทยไม่ครอบคลุม จะส่งผลกระทบกับวงการอีคอมเมิร์ซไทยแน่นอน

อย่างไรก็ตาม นายภาวุธ กล่าวด้วยว่า ในฝั่งผู้ค้าขายทางออนไลน์ควรต้องปรับตัว ทำธุรกิจให้ถูกต้องให้เข้าระบบ เมื่อทำแล้วได้ควรแบ่งปัน คือ สู่สังคมและประเทศ ซึ่งจะทำให้โดยภาพรวมทั้งธุรกิจ และประเทศจะเติบโตได้อย่างยั่งยืน

นายณัฐวิทย์ ผลวัฒนสุข กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอลเอ็นดับเบิ้ลยู ผู้ให้บริการอี-มาร์เก็ตเพลส เว็บไซต์เทพช็อป (LnwShop.com) กล่าวว่า มาตรการเก็บภาษีอีคอมเมิร์ซ ได้ถูกหารือร่วมระหว่างหน่วยงาน เช่น สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือเอ็ตด้า รวมถึง สมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย รวมถึงกรมสรรพากรมาหลายครั้ง โดยส่วนตัว เห็นด้วยว่า ควรต้องมีการจัดเก็บภาษีของธุรกิจออนไลน์ เพียงแต่ต้องหารูปแบบที่ชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับผู้ค้าออนไลน์โดยส่วนใหญ่

“ที่ผ่านมาเป็นความเคยชินของผู้ประกอบการที่ไม่ได้เสียภาษีตรงนี้ ซึ่งก่อนหน้า ทางเว็บไซต์เทพช็อปได้ทำระบบการทำภาษี เพื่อให้ผู้ค้าได้เข้ามาใช้ แต่ไม่ได้รับการยอมรับมากเท่าที่ควร ซึ่งทางเว็บพยายามสร้างความเข้าใจกับผู้ค้าในเรื่องของภาษีอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามเห็นว่า หากกรมสรรพากรจะใช้มาตรการเก็บภาษี ต้องไปทีละขั้นตอนในช่วงของการเปลี่ยนผ่าน เพราะที่ผ่านมา ผู้ประกอบการอาจกังวลเรื่องการจัดเก็บภาษีย้อนหลัง จึงไม่ได้ให้ความสำคัญ ดังนั้นรัฐต้องใช้มาตรการในช่วงเปลี่ยนผ่านอย่างค่อยเป็นค่อยไป”

นายณัฐวิทย์ กล่าวว่า หากรัฐใช้มาตรการที่เข้มงวดเกินไป อาจทำให้ผู้ค้าหนีไม่เข้าระบบ กลายเป็นร้านค้าอีคอมเมิร์ซที่ไร้ตัวตน ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมาอีกมากมาย

“ในต่างประเทศ การเก็บภาษีในธุรกิจเหล่านี้ จะมีการยกเว้นในบางหมวดหมู่ หรือให้มีสิทธิพิเศษลดหย่อน เพราะต้องการจูงใจให้ผู้ประกอบการหันมาทำการค้าขายผ่านระบบอีคอมเมิร์ซมากขึ้น ดังนั้นจะมีมาตรการจูงใจต่างๆ รวมถึงเรื่องของภาษีด้วย” นายณัฐวิทย์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือเอ็ตด้า คาดการณ์ มูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซโดยภาพรวมปี 2559 จะอยู่ที่ 2 ล้านล้านบาท คาดปี 2560 จะเพิ่มขึ้นเป็น 2.5 ล้านล้านบาท โดยบีทูซีมีมูลค่าราว 4 แสนล้านบาท ขณะที่ กลุ่มบีทูบี 1.2 ล้านล้านบาท กลุ่มค้าปลีกออนไลน์ออนไลน์ เป็นกลุ่มที่แข่งขันกันรุนแรงมากขณะนี้อยู่ในกลุ่มบีทูซี

ขณะที่การซื้อขายสินค้าผ่านโซเชียล หรือโซเชียล คอมเมิร์ซ ปี 2560 จะเติบโตเพิ่มขึ้น 20% หรือเพิ่มขึ้นอีก 1 หมื่นล้านบาท จากยอดปี 2559 ที่อยู่ราว 2 แสนล้านบาท ที่ผ่านมา ในส่วนของโซเชียล เน็ตเวิร์ค ซึ่งคนไทยจะใช้บริการกันมาก ตัวเลขการซื้อขายสินค้าผ่านโซเชียลยังมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบันมีผู้ค้ารายย่อยใช้ช่องทางโซเซียล เช่น อินสตาแกรม เฟซบุ๊ค เปิดพรีออเดอร์ สินค้าจากต่างประเทศ รวมถึงการนำสินค้าของตัวเอง หรือสินค้ามือสองมาขายผ่านช่องทางดังกล่าวเป็นจำนวนมาก หากลูกค้าสนใจสินค้า สามารถโอนเงินผ่านทางธนาคาร มีทั้งผ่านตู้เอทีเอ็ม หรือ อี-แบงก์กิ้ง และนัดรับสินค้า