ธปท.ชี้ทุนนอกเข้าบอนด์ ฉุดเงินบาทแข็งค่า

ธปท.ชี้ทุนนอกเข้าบอนด์ ฉุดเงินบาทแข็งค่า

“แบงก์ชาติ” เผยทุนนอกยังไหลเข้าตลาดพันธบัตรไทยต่อเนื่อง กดเงินบาทแข็งค่าหลุด 35 บาท/ดอลลาร์ ขณะเศรษฐกิจ ม.ค.โตดี “ส่งออก-ท่องเที่ยว” หนุน

ความไม่ชัดเจนในนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล “โดนัลด์ ทรัมป์” ส่งผลให้เงินทุนเคลื่อนย้ายบางส่วนไหลมายังประเทศในกลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่ ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง ล่าสุดวานนี้ (28 ก.พ.) เงินบาท ปิดตลาดที่ 34.89-34.90 บาทต่อดอลลาร์

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า เงินทุนเคลื่อนย้ายในเดือน ก.พ.แม้บางส่วนจะไหลออกจากตลาดหุ้น แต่ยังคงเข้ามาลงทุนในตลาดพันธบัตร (บอนด์) ไทยต่อเนื่อง ส่งผลให้ค่าเงินบาทในเดือนก.พ.แข็งค่าขึ้นด้วย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะนักลงทุนต่างชาติมองประเทศไทยเป็นแหล่งพักเงินที่มีความปลอดภัยสูง (เซฟเฮฟเว่น) เนื่องจากมีฐานะด้านต่างประเทศที่มั่นคง

อย่างไรก็ตาม แม้เงินทุนต่างชาติจะไหลเข้ามาต่อเนื่อง แต่ถ้าดูค่าความผันผวนของเงินบาทไทยถือว่าต่ำเกือบสุดในภูมิภาค

“อย่างที่ท่านผู้ว่าการ ธปท.เคยบอกไว้ คือ ต่างชาติเขามองเรามีเสถียรภาพ มีเงินสำรองระหว่างประเทศที่สูง หนี้ต่างประเทศน้อย สถาบันการเงินมั่นคง มียอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่อง ที่สำคัญค่าความผันผวนของเงินบาทไทยต่ำเกือบสุดในภูมิภาค แต่การมองแบบนี้ก็เป็นดาบสองคม เพราะเงินทุนที่ไหลเข้ามา ทำให้ค่าเงินบาทเราแข็งค่าขึ้นด้วย”

นายดอน กล่าวว่า เงินทุนต่างชาติที่ไหลเข้าตลาดบอนด์ไทย ถือเป็นการไหลเข้าที่ต่อเนื่องจากเดือน ม.ค.ที่มียอดเข้าในตลาดบอนด์สุทธิประมาณ 516 ล้านดอลลาร์ ขณะเดียวกันยังเข้าในตลาดหุ้นอีก 178 ล้านดอลลาร์ ส่งผลให้เดือน ม.ค.ที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติในส่วนของพอร์ตการลงทุนไหลเข้าประเทศไทยสุทธิ 694 ล้านดอลลาร์

ม.ค.เกินดุลบัญชีฯ5พันล้านดอลล์

นอกจากนี้ ถ้าดูดุลชำระเงินในเดือน ม.ค.2560 มียอดเกินดุลสูงถึง 6.8 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นผลจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นสำคัญ โดยเกินดุลประมาณ 5 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเกิดจากดุลบริการเป็นสำคัญ เนื่องจากเป็นฤดูท่องเที่ยว ประกอบกับเดือนม.ค.ปีนี้ ตรงกับช่วงเทศกาลตรุษจีน

“ดุลบัญชีเดินสะพัดเดือน ม.ค.ที่เกินดุล 5 พันล้านดอลลาร์ ถือว่าสูงกว่าที่เราคาดการณ์ไว้ เนื่องจากตัวเลขการท่องเที่ยวและการส่งออกในเดือนนี้ดีกว่าที่คาด จึงทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดสูงกว่าที่เราคาดด้วย”

‘ส่งออก-ท่องเที่ยว’โตเกินคาด

นายดอน กล่าวว่า การส่งออกและการท่องเที่ยวที่ดีกว่าคาด บวกกับการใช้จ่ายภาครัฐที่ขยายตัวดี ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยเดือนม.ค.2560 ขยายตัวได้ต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การบริโภคภาคเอกชนชะลอลงบ้าง แต่เป็นเรื่องที่คาดการณ์กันไว้แล้ว เนื่องจากปลายปีที่ผ่านมาภาครัฐออกมาตรการกระตุ้นใช้จ่าย จึงดึงความต้องการซื้อล่วงหน้าไปบ้าง

“การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวดี และยังเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจ โดยรายจ่ายประจำขยายตัวดีตามค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาที่ส่วนหนึ่งเลื่อนการเบิกจ่ายมาจากเดือนก่อน ขณะที่รายจ่ายลงทุนขยายตัวชะลอลงบ้างหลังเร่งไปมากในเดือนก่อน”

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการลงทุนภาคเอกชน ยังทรงตัวจากเดือนก่อน ทั้งการลงทุนในภาคก่อสร้างและการลงทุนในเครื่องจักรและอุปกรณ์ โดยยังกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มธุรกิจพลังงานทดแทน และภาคบริการโดยเฉพาะธุรกิจบริการและขนส่ง สอดคล้องกับสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ที่ขยายตัวในธุรกิจดังกล่าว

นายดอน กล่าวว่า แนวโน้มการลงทุนภาคเอกชนในระยะข้างหน้ายังคาดเดาได้ยาก ซึ่งตามทฤษฎีการลงทุนเอกชนน่าจะดีขึ้นตามการลงทุนของภาครัฐและการส่งออก ในช่วงที่ผ่านมาแม้จะเริ่มเห็นการลงทุนที่ผูกกับการส่งออกเริ่มดีขึ้น แต่โดยรวมยังไม่ถือว่าดีมากนัก จึงหวังว่าถ้าภาครัฐเริ่มใส่เม็ดเงินลงไปยังโครงการต่างๆ ที่วางเอาไว้ จะดึงดูดให้การลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นบ้าง

สำหรับการบริโภคนั้น ในเดือน ม.ค.ชะลอตัวบ้าง หลังจากเร่งขึ้นค่อนข้างมากในเดือนก่อนหน้าที่ได้รับผลดีจากมาตรการกระตุ้นการบริโภคและการท่องเที่ยวของภาครัฐ สะท้อนให้เห็นว่าการบริโภคที่เร่งขึ้นในช่วงดังกล่าว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเลื่อนการบริโภคของประชาชนโดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค

เล็งปรับเพิ่มจีดีพีปีนี้

“เศรษฐกิจเดือน ม.ค. ถือว่าเปิดต้นปีมาทำได้ค่อนข้างดี ตัวเลขหลายตัวดีกว่าที่คาดเอาไว้ จึงมีโอกาสที่เราจะปรับคาดการณ์จีดีพีในปีนี้เพิ่ม แต่ตัวเลขบางตัว เช่น การลงทุนและการบริโภค ไม่ได้ดีอย่างที่คิดเท่าไรนัก เรายังมีเวลาประเมินข้อมูลอีก 1 เดือนก่อนประกาศตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจใหม่ และในเดือนม.ค.ก็มีเรื่องตรุษจีนเข้ามาด้วย”

ทั้งนี้ ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งถัดไปในวันที่ 29 มี.ค.เป็นรอบที่ กนง. จะทบทวนตัวเลขเศรษฐกิจไทยใหม่ ซึ่งประมาณการเศรษฐกิจไทยที่ กนง. ประเมินไว้ล่าสุดเมื่อเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวได้ประมาณ 3.2%

สรท.คงส่งออกปีนี้ โต 2-3%

นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า จากการประเมินภาวการณ์ส่งออกคาดว่าในเดือนก.พ. 2560 การส่งออกน่าจะลดลง 4%เนื่องจากฐานการส่งออกในเดือนก.พ.ที่ผ่านมาสูงมาก เป็นผลจากการส่งออกทองคำไม่ขึ้นรูปสูง ส่วนเดือน มี.ค.คาดว่าจะเติบโต 0% ทำให้ยอดรวมไตรมาส 1 คาดว่าจะขยายตัวได้ประมาณ 1-2% ส่วนไตรมาส 2 คาดว่าจะขยายตัว 2-3% ไตรมาส 3 ขยายตัว 3-4% และไตรมาส 4 ขยายตัว 2-3% ทำให้ยอดการส่งออกทั้งปียังอยู่ในกรอบที่ สรท. ประมาณการไว้ที่ 2-3%

อย่างไรก็ตาม หากจะให้การส่งออกขยายตัวได้ 5%ตามเป้าหมายของกระทรวงพาณิชย์ รัฐบาลจะต้องเร่งรัดดำเนินยุทธศาสตร์เชิงรุกที่นำเสนอไว้โดยเร็ว โดยเฉพาะในส่วนของการสร้างพันธมิตรทางการค้ากับประเทศคู่ค้าหลัก ที่สามารถดำเนินการได้รวดเร็วกว่าการเจรจาการค้าเสรี การตั้งผู้แทนการค้าในตลาดสำคัญ การยกระดับภาพลักษณ์ประเทศและตรายี่ห้อของสินค้าไทย การผลักดันช่องทางการจัดจำหน่ายผ่านอีคอมเมิร์ซ และการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยออกไปลงทุนในต่างประเทศให้มากขึ้นเพื่อสร้างโอกาสทางการค้าในประเทศเป้าหมายแทนการส่งออกโดยตรงเพียงทางเดียว

นอกจากนี้ สรท. พบว่าคู่ค้าในตลาดสำคัญโดยเฉพาะร้านค้าปลีกขนาดใหญ่มีการเปลี่ยนแปลงลักษณะของคำสั่งซื้อจากการสั่งซื้อล่วงหน้าระยะยาว เป็นการสั่งซื้อระยะสั้นมากขึ้น ดังนั้นจึงเสนอให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์ห่วงโซ่อุปสงค์ในตลาดเป้าหมาย เช่น สหรัฐ สหภาพยุโรป จีน ญี่ปุ่น อาเซียน และตลาดสำคัญอื่นๆ เพื่อให้ทราบความต้องการของคู่ค้าผู้บริโภคและนำมาเป็นข้อมูลให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีใช้ประโยชน์ในการทำตลาดและพัฒนาสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการ