กลุ่ม ‘เจมาร์ท’ ปันผลเพิ่ม พ่วงส่วนต่างราคาหุ้น42%

กลุ่ม ‘เจมาร์ท’ ปันผลเพิ่ม พ่วงส่วนต่างราคาหุ้น42%

กลุ่ม "เจมาร์ท" ปันผลเพิ่ม พ่วงส่วนต่างราคาหุ้น42%

หุ้นกลุ่มเจมาร์ท ประกอบด้วย เจ มาร์ท (JMART) เจ เอ็ม ที เน็ตเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส (JMT) ซิงเกอร์ประเทศไทย (SINGER) และเจเอเอส แอสเซ็ท (J) ถือเป็นกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนดีทั้งในแง่ของเงินปันผล และส่วนต่างราคาหุ้นเมื่อปีก่อน ซึ่งราคาหุ้นในกลุ่มนี้ปรับตัวขึ้นเฉลี่ย 42% ในช่วงปี 2559 โดย เจ มาร์ท ให้ผลตอบแทนสูงสุด 90% รองลงมาคือ เจ เอ็ม ที 67% และซิงเกอร์ 30% ส่วนเจเอเอส แอสเซ็ท เป็นตัวเดียวในกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนติดลบ 18%

ราคาหุ้นที่ปรับตัวดีขึ้นนี้ สอดคล้องผลประกอบการที่ฟื้นตัวอย่าง เจ มาร์ท รายงานกำไรสุทธิสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 438.25 ล้านบาท เช่นเดียวกับ เจ เอ็ม ที ซึ่งรายงานกำไรสุทธิทำสถิติใหม่ที่ 290.41 ล้านบาท ส่วน ซิงเกอร์ นั้น กำไรสุทธิยังลดลงเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน แต่กำไรช่วงไตรมาส 4/2559 สามารถกลับมาเติบโตอีกครั้ง 14% หลังจากที่เข้ามาอยู่ในกลุ่มเจ มาร์ท ส่วน เจเอเอส แอสเซ็ท มีกำไรเล็กน้อยเพียง 5.65 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 58 ล้านบาท

ในมุมของการจ่ายเงินปันผลนั้น โดยภาพรวมทั้งกลุ่มจ่ายออกมาสูงขึ้นเช่นกัน จากงบปีก่อน สำหรับปี 2559 นี้ กลุ่มเจมาร์ทจ่ายเงินปันผลออกมาประมาณ 547 ล้านบาท จากปีก่อนที่จ่ายรวม 412 ล้านบาท

โดยเงินปันผลที่เพิ่มขึ้นนั้น ปัจจัยหลักๆ จะมาจาก เจ เอ็ม ที จ่ายเงินปันผลรวม 245.52 ล้านบาท คิดเป็น 0.66 บาทต่อหุ้น ขณะที่ปีก่อนจ่าย 59.19 ล้านบาท คิดเป็น 0.16 บาทต่อหุ้น

ด้าน เจ มาร์ท ในปี 2559 จ่ายปันผลเป็นหุ้นและเงินสด งวดครึ่งปีแรกจ่ายปันผลเป็นเงินสด 0.22 บาท และหุ้นปันผล 5 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นปันผล และช่วงครึ่งหลังที่จะจ่าย 0.01853 บาทต่อหุ้น และหุ้นปันผล 16 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นปันผล มูลค่ารวมทั้งปี 233 ล้านบาท

ขณะที่ ซิงเกอร์ งวดปี 2559 นี้ จ่ายเงินปันผลรวม 67.5 ล้านบาท หรือ 0.25 บาทต่อหุ้น ลดลงจากปีก่อนที่จ่ายเงินปันผลรวม 81 ล้านบาท หรือ 0.30 บาทต่อหุ้น ส่วน เจเอเอส แอสเซ็ท งวดปี 2559 งดจ่ายเงินปันผลจากปีก่อนจ่ายได้ 0.07 บาทต่อหุ้น หรือ 25.92 ล้านบาท

บล.ทรีนีตี้ ระบุว่า ธุรกิจมือถือจะได้แรงหนุนจากการร่วมกับซิงเกอร์ บวกกับแผนรุกตลาดสินค้าใหม่ และอัตรากำไรขั้นต้นค่อนข้างดี ขณะที่โครงการ The Jas ของเจเอเอส แอสเซ็ท จะสามารถรับรู้รายได้เต็มปีนี้ นอกจากนี้เจ เอ็ม ที ตั้งเป้าจะซื้อพอร์ตหนี้เสียอีก 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะเป็นธุรกิจที่เห็นรายได้เพิ่มขึ้น โดยภาพรวมฝ่ายวิจัยจึงมองว่าธุรกิจหลักทั้ง 3 ธุรกิจ ปีนี้จะยังเติบโตได้สดใส

ขณะที่ธุรกิจใหม่อย่าง J Fintech เริ่มเห็นสัญญาณบวกมากขึ้นเรื่อยๆ สัดส่วนเอ็นพีแอลลดลงจาก 4.6% ในไตรมาสก่อนเหลือเพียง 3.6% สำหรับในปีนี้ ผู้บริหารตั้งเป้าสินเชื่อจะเติบโตไปถึง 4 พันล้านบาท หรือราว 75% หากคิดยอดคงค้าง ณ สิ้นปี 2559 ที่ 2,274 ล้านบาท