คุยสร้างปรองดอง 6พรรคการเมือง เสนอพัฒนาบุคคล-ศึกษา

คุยสร้างปรองดอง 6พรรคการเมือง เสนอพัฒนาบุคคล-ศึกษา

โฆษก กห.เผยผลการพูดคุย เพื่อสร้างความปรองดอง 6 พรรคการเมือง เสนอให้พัฒนาบุคคล การศึกษา ลดการชี้นำจากกลุ่มการเมือง

เมื่อวันที่ 24 ก.พ. ที่กระทรวงกลาโหม พล.ต.คงชีพ ตันตระวานิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการด้านการประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง กล่าวว่า การพูดคุยระหว่างคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็น เพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ในชุดคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดองกับพรรคการเมืองในสัปดาห์นี้ ตั้งแต่วันที่ 23 ก.พ. และ 24 ก.พ. มีการหารือกับพรรคการเมือง จำนวน 6 พรรค โดยทุกพรรคต่างมองปัญหาในลักษณะเดียวกันในหลายๆเรื่อง ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของตัวบุคคล โดยมีข้อเสนอในเรื่องการให้น้ำหนักการศึกษาเพิ่มมากขึ้น เพื่อเป็นการพัฒนาคน โดยเชื่อว่าจะเป็นภูมิคุ้มกันไม่ให้ประชาชนถูกชี้นำจากกลุ่มการเมืองได้ นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอในการตรวจสอบกลุ่มทุนให้มากขึ้น การบังคับใช้กฏหมายอย่างเคร่งครัด ลดการเหลื่อมล้ำ ซึ่งการปฏิรูปทุกด้านต้องดำเนินการไปพร้อมๆกันทุกมิติ ทั้งนี้ที่ผ่านมา การพูดคุยมีความคืบหน้ามาก ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากทุกพรรค มีความเห็นร่วมกันถึงประโยชน์ของชาติ และเห็นว่า ควรจะนำเรื่องในอดีตมาเป็นบทเรียน เพื่อทบทวนบทบาทตนเอง องค์กร และหาทางออกร่วมกัน

พล.ต.คงชีพ กล่าวต่อว่า ในระดับพื้นที่นั้น จะมีกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) แต่ละภาค กำกับดูแล และจะมีคณะกรรมการระดับจังหวัดขึ้นมาเพื่อเชิญทุกภาคส่วนมาพูดคุย ใน 10 หัวข้อที่กำหนด ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน เริ่มตั้งแต่ต้นเดือนมี.ค.เป็นต้นไป โดยจะทยอยเปิดเวทีให้ประชาชนและทุกภาคส่วน เข้ามาให้ความคิดเห็น สำหรับข้อมูลจากแต่ละพื้นที่นั้น จะทยอยรวบรวมส่งมาให้คณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็น เพื่อรวบรวมต่อไป

สำหรับในวันที่ 28 ก.พ. นั้น จะเชิญพรรคทวงคืนผืนป่าประเทศไทย พรรคพลังเครือข่ายประชาชน พรรคพลังสหกรณ์ พรรคมหาชน และพรรคยางพาราไทย และในวันที่ 1 มีนาคม จะเชิญพรรคพลังชนเข้ามา ส่วนพรรคเพื่อไทยนั้น เบื้องต้นทราบว่าจะเชิญเข้ามาในวันที่ 8 มีนาคม กลุ่มนปช. ในวันที่ 15 มีนาคม ส่วนกลุ่มกปปส.ยังอยู่ในระหว่างการประสานงาน

ทั้งนี้คณะกรรมการฯ ได้รับการแต่งตั้งคณะที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 3 คน ได้แก่ นายธงทอง จันทรางศุ อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ,นายอัชพร จารุจินดา อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา และ พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า