แอพส่งของบูม ‘ลาล่ามูฟ’ ลุยแข่งรายใหญ่

แอพส่งของบูม ‘ลาล่ามูฟ’ ลุยแข่งรายใหญ่

เลือกกรุงเทพฯ ทดสอบบริการใหม่ หนุนรายได้โต 600%

"ลาล่ามูฟ” ไทยจ่อทำกำไรอีก 2 เดือน คาดยอดพุ่งเกาะเทรนด์อีคอมเมิร์ซโต เผยหลังปิดระดมทุนซีรีส์บีได้งบลงทุนเพิ่มอีก 30 ล้านดอลลาร์ กางแผนขยายพื้นที่บริการ-ทดลองบริการใหม่ ยกระดับแข่งรายใหญ่ เจาะลูกค้าธุรกิจ-องค์กร ตั้งเป้ารายได้ขยับ 600% 


นายสันทิต จีรวงศ์ไกรสร ผู้อำนวยการประจำภูมิภาค ฝ่ายดำเนินงาน ลาล่ามูฟ แอพพลิเคชั่นรับส่งของจากฮ่องกง เผยว่า บริษัทเตรียมแผนขยายธุรกิจหลังได้รับเงินระดมทุนเพิ่มรอบล่าสุดซีรีส์บีอีก 30 ล้านดอลลาร์ รวมมูลค่าระดมทุนทั้งหมดแล้ว 60 ล้านดอลลาร์

เบื้องต้นเตรียมขยายพื้นที่บริการครอบคลุมมากขึ้นหรือ 100 เมืองใน 10 ประเทศภายในปีนี้ จากปัจจุบันให้บริการแล้ว 5 เมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ฮ่องกง, สิงคโปร์, ไทเป,มะนิลา และกรุงเทพ) และอีก 40 เมืองในจีน นับตั้งแต่เปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2556

นอกจากนี้ ยังเตรียมทดลองบริการใหม่ “รับส่งของภายใน 1 วัน ” และระบบกระจายสินค้าแบบดิสทริบิวชั่น จากเดิมให้บริการเฉพาะรับส่งแบบออนดีมานด์ หรือส่งด่วนภายใน 1 ชั่วโมง โดยจะเริ่มทดลองระบบในกรุงเทพเป็นที่แรก เนื่องจากเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของลาล่ามูฟปัจจุบัน (ไม่รวมจีน)

นายสันทิต ระบุว่า ตลาดแอพพลิเคชั่นให้บริการรับส่งของอยู่ในขั้นเติบโตเร็วตามทิศทางขยายตัวของอีคอมเมิร์ซที่ปัจจุบันในไทยโตเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 15% ต่อปี และการปรับตัวของผู้ใช้ที่รู้จักการเรียกใช้บริการต่างๆ ผ่านแอพพลิเคชั่นมากขึ้น

ขณะที่ “กรุงเทพ” ยังเป็นเมืองที่เติบโตสูงที่สุดของลาล่ามูฟในภูมิภาคนี้ คาดว่าไม่เกิน 2 เดือน จะเป็นเมืองที่ลาล่ามูฟทำกำไรได้เป็นเมืองแรกของภูมิภาค ส่วนในจีนเริ่มมีเมืองที่ทำกำไรได้บ้างแล้ว

“เราเป็นเบอร์หนึ่งในแง่การส่งแบบออนดีมานด์ ส่งเร็วที่สุดใน 1 ชั่วโมง ที่ยังไม่มีใครทำได้ ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นผู้ใช้ทั่วไป และใช้เรียกจากแอพพลิเคชั่น เป็นกลุ่มที่คุ้นเคยการใช้เทคโนโลยี แผนต่อไป คือ จะขยายสเกลระดับใหญ่ขึ้น เจาะลูกค้าธุรกิจ หรือองค์กรขนาดใหญ่ เช่น อีคอมเมิร์ซ หรือผู้ประกอบธุรกิจที่ให้เราเป็นช่องทางรับส่งสินค้าให้”

ขณะที่จากข้อมูลพบว่า ปัจจุบันในตลาดแอพพลิเคชั่นรับส่งของในไทยมีผู้ให้บริการราว 4-5 ราย เช่น แกร็บไบค์, สกู๊ตต้าร์ และเดลิเวอรี (Deliveree) ที่ให้บริการรับส่งของแบบออนดีมานด์ได้ ส่วนผู้ให้บริการส่งแบบดิสทริบิวชั่น หรือมีระบบแวร์เฮาส์เพื่อกระจายของอีกราว 2 ราย เช่น เคอร์รี และไปรษณีย์ไทย

นายชานนท์ กล้าหาญ กรรมการผู้จัดการ ลาล่ามูฟ ประเทศไทย เผยว่า ลาล่ามูฟในไทยครองส่วนแบ่งตลาดอันดับหนึ่งในแง่จำนวนการรับส่งของ และคนขับ ซึ่งบริษัทใช้รูปแบบการจ้างเป็น “คอนแทรคเตอร์” ที่ไม่ใช่พนักงานประจำ แต่ได้รับการตอบรับดี มีคนขับในระบบกว่า 17,000 คน 90%เป็นรถมอเตอร์ไซค์ ที่เหลือเป็นรถยนต์ส่วนบุคคลและรถตู้

ขณะเดียวกัน มีบริการที่ยังแตกต่างจากรายอื่นๆ คือ จัดส่งเร็วหรือรวมเวลาตั้งแต่รับของไปจนถึงส่งของถึงมือผู้รับได้เร็วสุดใน 1 ชั่วโมง ใช้งานง่ายผ่านแอพพลิเคชั่น และความน่าเชื่อถือ และราคาสมเหตุสมผล หรือเริ่มต้นที่ 48 บาท และคิดเพิ่มกิโลเมตรละ 7.2 บาท

“คู่แข่งในการส่งแบบออนดีมานด์ตอนนี้ถือว่ายังไม่มาก และยังไม่มีใครทำได้เท่าเรา คือ ส่งเร็ว และราคาสมเหตุสมผล และมีบริการใหม่ๆ กระตุ้นตลาดต่อเนื่อง เช่น พ.ย.ที่ผ่านมาเริ่มให้บริการช่วยซื้อ โดยลาล่ามูฟจะออกค่าสินค้าให้ก่อนในวงเงิน 1,000 บาท เพื่อซื้อสินค้าจากร้านค้าที่ต้องการ”

ยอดดาวน์โหลดทะลุ 2.1แสนครั้ง
แอพพลิเคชั่นลาลามูฟเมื่อปี 2559 มียอดดาวน์โหลดถึง 2.1 แสนครั้ง เพิ่มขึ้น 600% จากปีก่อนหน้า รายได้บริษัท 120 ล้านบาท (มูลค่าการให้บริการส่ง) รวมระยะทางส่ง 314 เที่ยวรอบโลก ระยะทางรอบโลก ประมาณ 4 หมื่นกิโลเมตร

สัดส่วนการใช้กว่า 80% ใช้ผ่านโมบาย แอพ ส่วนเว็บแอพ 18% และโอเพ่น เอพีไอ 2% (เชื่อมต่อระบบของลาล่ามูฟกับแพลตฟอร์มของลูกค้า) โดยเฉลี่ย 70% เป็นผู้ใช้งานทั่วไป ส่วนธุรกิจ 30% โดยรายใหญ่ เช่น บริการไลน์แมน ซึ่งเบื้องหลังคือ ใช้บริการรับส่งลาล่ามูฟทั้งหมด

อย่างไรก็ตามปีนี้ บริษัทตั้งเป้าหมายเติบโตของรายได้ไม่ต่ำกว่า 6 เท่า จากการเปิดตัวบริการใหม่และพื้นที่ให้บริการที่ครอบคลุมมากขึ้น ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะขยายบริการเมือง อื่นในไทยเร็วๆ นี้