ค้าปลีกแนะรัฐปลุกความเชื่อมั่นบริโภคในประเทศ

ค้าปลีกแนะรัฐปลุกความเชื่อมั่นบริโภคในประเทศ

ค้าปลีกแนะรัฐปลุกความเชื่อมั่นบริโภคในประเทศ ดึงนักท่องเที่ยวใช้จ่าย เสนอโปรโมท "ไทยแลนด์แบรนด์เซลล์" หวังขับเคลื่อนเมกะโปรเจคหนุนฟื้นปีหน้า

เศรษฐกิจและกำลังซื้อซบเซาต่อเนื่อง ส่งผลอุตสาหกรรมค้าปลีกมูลค่ากว่า 3 ล้านล้านบาท ในปี 2559 แม้ขยายตัวสูงกว่าปี 2558 แต่ยังเป็นการเติบโตในอัตราที่ต่ำและอยู่ในภาวะถดถอยหนักในรอบ 20 ปี ส่วนปีนี้คาดการณ์ตลาด “ทรงตัว” หรือเติบโตจากปีก่อนเพียงเล็กน้อย

นางสาวจริยา จิราธิวัฒน์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมค้าปลีกปีที่ผ่านมาเติบโต 2.97% .ใกล้เคียงตัวเลขประมาณการไว้ที่ 3% นับว่ามีอัตราการเติบโตสูงขึ้นเทียบปี 2558 ที่เติบโตเพียง 2.8% ส่วนหนึ่งเป็นผลจากนโยบายการใช้จ่ายภาครัฐ และมาตรการเร่งรัดงบประมาณ กระตุ้นการบริโภคระดับฐานราก
ทั้งนี้ พบว่ายอดขายสินค้าในหมวดสินค้าคงทนถาวร (Durable Goods) มีอัตราการเติบโตลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ในขณะที่หมวดสินค้ากึ่งคงทนถาวร (Semi Durable Goods) เติบโตเทียบเท่าปี 2558 และหมวดสินค้าไม่คงทนถาวร (Non Durable Goods) เติบโตเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย

อสังหาฯชะลอฉุดยอดสินค้าคงทน

กลุ่มสินค้าคงทนถาวรมีอัตราการเติบโตไม่สูงนัก ปัจจัยหลักเกิดจากการที่อุตสาหกรรมการก่อสร้างและที่อยู่อาศัยในปี 2558-2559 ไม่เติบโตเท่าที่ควร ประกอบกับความเข้มงวดในการให้สินเชื่อเพื่อการบริโภคของสถาบันการเงิน แม้กลุ่มสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน (Home Appliance) เติบโตอยู่บ้าง แต่กลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ (Mobile & IT) เติบโตไม่ถึง 5% เนื่องจากไม่มีกลุ่มสินค้าใหม่มากระตุ้นตลาด ส่งผลให้โดยรวมหมวดสินค้าคงทนถาวรปี 2559 เติบโตเพียง 1.95%

ขณะที่สินค้ากึ่งคงทนถาวร “ทรงตัว” แม้จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นจาก 29.5 ล้านคน ในปี 2558 เป็น 32 ล้านคนในปี 2559 แต่ไม่เป็นผลให้การจับจ่ายในหมวดสินค้ากึ่งคงทนถาวรเพิ่มขึ้น ปัจจัยหนึ่งที่เป็นอุปสรรคสำคัญในการจับจ่าย คือ อัตราภาษีสินค้านำเข้าแบรนด์หรูในประเทศไทยยังอยู่ในเกณฑ์สูงเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน นอกจากนี้กลุ่มสินค้าแฟชั่น เครื่องสำอาง และเครื่องหนัง เติบโตค่อนข้างต่ำกว่าปีที่ผ่านมา

“มีเพียงกลุ่มสินค้าอุปกรณ์กีฬาและสุขภาพที่เติบโตสูงจากเทรนด์สุขภาพมาช่วยพยุงให้หมวดสินค้ากึ่งคงทนถาวรเติบโต 3.5% เท่ากับปี 2558”

สำหรับสินค้าไม่คงทนถาวรเติบโตเล็กน้อย เนื่องจากได้รับผลกระทบจากรายได้เกษตรกรที่หดตัวต่อเนื่องจากปี 2558 รวมถึงสถานการณ์ภัยแล้งและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้ยอดขายในไตรมาสแรกไม่เติบโตเท่าที่ควร อย่างไรก็ตาม เมื่อผ่านพ้นฤดูแล้งและฝนเริ่มตกได้ตามปกติ ผลผลิตทางการเกษตรเริ่มดีขึ้น มาตรการภาครัฐที่ใส่เงินในระบบ และส่งเสริมกลุ่มเกษตรกรส่งผลให้เศรษฐกิจเริ่มขับเคลื่อน สภาวะอ่อนแอของกำลังซื้อเกษตรกรก็ทยอยปรับตัวดีขึ้น ทำให้ยอดขายในไตรมาสสองและสามมีแนวโน้มดีขึ้นตามลำดับ แม้ช่วงต้นไตรมาสสี่หดตัวลงบ้าง แต่ในเดือน ธ.ค.ที่รัฐบาลออกมาตรการ “ช้อปช่วยชาติ” ส่งผลให้หมวดสินค้าไม่คงทนถาวรเติบโต 3.03% จากปี 2558

ลุ้นปัจจัยบวกหนุนบริโภค

นางสาวจริยา กล่าวต่อว่า ปี 2560 คาดการณ์ว่าธุรกิจค้าปลีกจะเติบโต 3-3.2% ภายใต้แรงสนับสนุนจากสัญญาณบวกทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพการเบิกจ่ายงบประมาณ โดยการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนและงบลงทุนรัฐวิสาหกิจไม่ต่ำกว่า 80% งบเหลื่อมปีไม่ต่ำกว่า 75% และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง การพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกและพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน โดยการเพิ่มงบประมาณกลางปีอีก 1.9 แสนล้านบาท คาดจะเห็นผลในไตรมาส 2-3

นอกจากนี้ การขยายตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ประมาณการจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเยือนไทย 35 ล้านคน สร้างรายได้ 2.8 ล้านล้านบาท รวมทั้งแนวโน้มเกษตรกรน่าจะมีรายได้ดีขึ้นจากสถานการณ์ภัยแล้งคลี่คลาย และราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวกลับมามีทิศทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะพืชเกษตรหลัก ยางพารา ปาล์ม อ้อย สับปะรด

ระบุปัจจัยเสี่ยงปี60

อย่างไรก็ดี ปีนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ส่งสัญญาณทรงตัวในระดับ 80.2% มีผลต่ออำนาจการซื้อของครัวเรือนต่ำ ทำให้การบริโภคสินค้าในหมวดคงทนถาวรและหมวดสินค้ากึ่งคงทนถาวรอาจต้องชะลอออกไป

ขณะเดียวกัน แนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของเอสเอ็มอี จากสถาบันการเงินมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อการปล่อยสินเชื่อทั้งระบบหดตัวลง การลงทุนลดลง การว่างงานเพิ่มขึ้น

"ราคาน้ำมันสูงขึ้น ส่งผลให้เงินเฟ้อสูงขึ้น อาจเพิ่มแรงกดดันต่อการใช้จ่ายของครัวเรือนไทยชะลอการจับจ่ายลง และเป็นภาระต้นทุนการขนส่งที่เพิ่มขึ้น ส่วนการส่งออกและการลงทุนภาคเอกชน ยังคงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและปรับตัวตามเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความผันผวน ในขณะนี้จึงต้องพึ่งพาการลงทุนจากภาครัฐเป็นหลัก

หวังค้าปลีกฟื้นชัดปี 61

การผลักดันการใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐสู่ฐานรากอย่างมีประสิทธิภาพ มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบกว่า 2 ล้านล้านบาท จะส่งผลหมวดสินค้าไม่คงทนถาวรปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าหมวดอื่น

ส่วนกลุ่มสินค้าคงทนถาวร แม้ว่าภาครัฐจะพยายามเร่งรัดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อผลักดันการเติบโตของอสังหาริมทรัพย์ แต่ก็อาจจะยังไม่สามารถทำให้เห็นยอดการเติบโตที่ชัดเจนได้ภายในปีนี้ คาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตในหมวดนี้น่าจะอยู่ในระดับทรงตัวข้ามปี 2560 ไปก่อน

ขณะที่หมวดสินค้ากึ่งคงทนถาวร สินค้าแฟชั่น เครื่องสำอางและเครื่องหนัง ยังต้องหวังผลจากนโยบายภาครัฐในการผ่อนปรนการพิจารณาภาษีนำเข้า เพื่อกระตุ้นการจับจ่ายของนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นกว่า 12% รวมทั้งพิจารณาผ่อนปรนการอำนวยความสะดวกการค้าชายแดน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวที่มาจากเพื่อนบ้าน ส่วนการบริโภคภายในประเทศน่าจะยังทรงตัว เนื่องจากประชาชนยังอยู่ในช่วงไว้อาลัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

เร่งกระตุ้นความเชื่อมั่น

สมาคมฯ ในฐานะตัวแทนผู้ประกอบการค้าปลีกต้องการให้รัฐเร่งหามาตรการสร้างความเชื่อมั่นเพื่อเสริมสร้างบรรยากาศในการจับจ่ายและการลงทุน เช่น การจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวในช่วงโลว์ซีซั่น โดยอาศัยความร่วมมือทั้งจากภาคการท่องเที่ยว โรงแรม และค้าปลีก เพื่อกระตุ้นให้คนไทยและนักท่องเที่ยวมาใช้จ่ายเพิ่มขึ้นได้

พร้อมสร้างความเชื่อมั่นของผู้บริโภคภายในประเทศและนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ โดยให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ประกาศจัดงาน “ไทยแลนด์ แบรนด์ เซลล์” เป็นเวลา 3 เดือน สร้างบรรยากาศเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว และกระตุ้นการจับจ่ายผู้บริโภคที่ยังมีกำลังซื้ออยู่ให้กลับคืนมา

“ไทยมีศักยภาพดึงดูดนักท่องเที่ยว ทั้งแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ศิลปวัฒนธรรม โรงแรมและภาคบริการในระดับโลก เพื่อพัฒนาให้ไทยเป็นจุดหมายการท่องเที่ยวที่ครบวงจร รัฐบาลควรศึกษาและพิจารณาการลดภาษีนำเข้าสินค้าแบรนด์หรูอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในกลุ่มแฟชั่น เครื่องสำอาง เครื่องหนัง และนาฬิกาชั้นนำ เพื่อกระตุ้นยอดจับจ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เพิ่มขึ้นได้”

นอกจากนี้ รัฐต้องมีมาตรการส่งเสริมการค้าชายแดนชัดเจน โดยพิจารณาผ่อนผันการเปิดด่านต่างๆ การเพิ่มจำนวนด่าน และการอำนวยความสะดวก รวมทั้งพิจารณาให้มี VAT Refund for Tourist ในกรณีนักท่องเที่ยวเพื่อนบ้านเดินทางเข้ามาในประเทศทางบก

กำหนดมาตรการช่วยเหลือ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีโดยเร่งด่วน โดยเฉพาะปัญหากระแสเงินสดหมุนเวียนที่ขาดสภาพคล่อง อันเนื่องมาจากต้นทุนแรงงานและต้นทุนพลังงานที่เพิ่มขึ้น เช่น แก้กฎเกณฑ์ผู้ประกอบการภาคผลิตและจัดจำหน่ายระดับเอสเอ็มอีที่เป็นคู่ค้ากับสมาชิกของสมาคมฯ สามารถนำใบสำคัญการสั่งซื้อที่ได้รับจากห้างค้าปลีกเป็นหลักประกันในการกู้เงินจากธนาคารทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง การจัดระเบียบการทำธุรกิจการค้าออนไลน์ที่อยู่นอกกรอบให้เข้าระบบ