เดอะกุ่ย นักสู้ผู้ปล่อยวาง

เดอะกุ่ย นักสู้ผู้ปล่อยวาง

นักปั่นจักรยานล้อโต ผู้โดดเด่นด้วยล้อสีชมพูและชุดปั่นสีหวานเกินกว่าชายใดจะใส่ตามได้ แถมท้ายด้วยความ ‘บ้า’ ที่หาใครเทียบได้ยาก

“พิงค์ แพนเตอร์ กลับมายังเมือง Gstaad แล้ว” พาดหัวในบทความของการท่องเที่ยวเมืองกชตาด (Gstaad) สวิตเวอร์แลนด์ ในช่วง Snow Bike Festival 2017 เริ่มขึ้นเมื่อต้นปี 2017     สมญานี้ได้ปรากฏในรายงานข่าวของสื่อระดับโลกเกี่ยวกับกีฬาหลายแห่ง แล้วพิงค์ แพนเตอร์เป็นใคร? จึงมีความสำคัญขนาดนั้น

ลืมบอกไปว่าชื่อจริงของเขาคือ ยุทธพงษ์ ชัชวาลวรรณ หรือ เดอะกุ่ย ที่คนในวงการจักรยานคุ้นชื่อกันดี แต่คนนอกวงอาจไม่รู้จักเขาเท่าไหร่นัก

เดอะกุ่ยคือนักปั่นจักรยานล้อโต (Fat Bike) แม้ไม่ใช่คนเดียวที่ปั่นแฟตไบค์ในเมืองไทย แต่จัดว่าโดดเด่นที่สุด ด้วยล้อสีชมพูสั่งทำพิเศษ ชุดปั่นจักรยานสีชมพูหวานเกินกว่าชายใดจะใส่ตามได้ แถมท้ายด้วยความ ‘บ้า’ ที่หาใครเทียบยากเช่นกัน

วีรกรรมที่เปิดตัวเขาให้เป็นที่จดจำคือการปั่นล้อโตสีชมพูขึ้นดอยอินทนนท์ ซึ่งปกติแล้วจะใช้จักรยานเสือหมอบที่เบาที่สุด แต่เมื่อเขาเลือกแฟตไบค์ซึ่งหนักมากกว่าเกือบ 3 เท่า และออกแบบมาเพื่อปั่นบนพื้นทรายหรือหิมะ ไม่ใช่ปั่นทางเรียบ แฟตไบค์จึงกลายเป็นสัญลักษณ์ประจำตัวของเดอะกุ่ย คนที่ทำอะไรแล้วต้องไปให้สุด และเมื่อขี่ในเมืองไทยแล้ว ก็ต้องไปขี่กับหิมะจริงให้ได้

ชาวเอเชียคนเดียวใน Snow Bike Festival

เพราะมุ่งมั่นอยู่กับการขี่แฟตไบค์ จึงทำให้เดอะกุ่ยได้มาเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ของ Vee Tire Co. บริษัทสัญชาติไทยผู้ผลิตยางล้อโตเจ้าดังที่ต่างประเทศนิยมใช้มากที่สุด เมื่อมีรายการแข่งขัน Snow Bike Festival ขึ้น วีไทร์โกก็ได้เข้าไปเป็นสปอนเซอร์งานตั้งแต่ปีแรก คือปี 2015 ต่อมาในปี 2016 ก็ได้ส่งเดอะกุ่ยไปเป็นคนเอเชียคนเดียวจากประเทศเขตร้อนไร้หิมะเข้าแข่งขันปั่นรายการใหญ่ระดับโลก ในภูมิประเทศของเมืองกชตาด ซึ่งเต็มไปด้วยภูเขาหิมะท่ามกลางอุณหภูมิเฉลี่ย - 20 องศาเซลเซียส

ปีที่แล้ว เดอะกุ่ย เตรียมตัวอย่างดี เขาซ้อมปั่นและเข้าฟิตเนสทุกวันวันละ 8 ชั่วโมง เป็นเวลา 4 - 5 เดือน ก่อนเดินทางไปสวิสเซอร์แลนด์ เพียงเพื่อจะพบว่าการปั่นจักรยานล้อโตบนหิมะครั้งแรก เขาปั่นไม่ได้เลย

“ผมไปคนเดียว ไปเตรียมตัวก่อนแข่ง 3 วัน มีมาริโอ เซลล์แมเนเจอร์ของแบรนด์ซึ่งเป็นคนที่นั่นคอยดูแลให้คำแนะนำ ปั่นวันแรก 10 กิโลใช้เวลา 3 ชั่วโมง” ไม่ใช่แค่ความยากของการปั่นหิมะเท่านั้น แต่ด้วยสภาพอากาศที่ต่างจากเมืองไทยถึง 50 องศา บนที่สูงซึ่งหายใจลำบาก และยังชุดสำหรับขี่จักรยานที่ต้องมีเสื้อผ้าวัสดุต่างกันถึง 5 ชั้น การเตรียมตัวมีรายละเอียดสูงและยุ่งยากมาก

“แค่ใส่เสื้อผ้าออกไปปั่นก็เหนื่อยแล้ว ยังมีเทคนิคการปรับตัวเมื่อออกไปเจออากาศหนาวอีก ไม่ต้องคิดถึงการเข้าห้องน้ำนะ เหมือนเริ่มใหม่ทั้งหมดเลย”

ที่นี่เดอะกุ่ยได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ มากมาย รวมทั้งการปั่นลงเขา ซึ่งเป็นสิ่งหอมหวานสำหรับนักเล่นสกี แต่กับการขี่จักรยานลงผาหิมะซึ่งชันเกือบตั้งฉาก ก็ทำให้เขาต้องฝ่าฟันมาก “มาริโอบอกว่าเวลาลงไม่ต้องเบรก ผมก็กลัว แต่ก็ทำตาม ลงไป ล้มไป เป็นตะคริวไป แต่หนาวจนไม่เจ็บ ซ้อมไปสัก 3-4 วันก็เริ่มมีทักษะขึ้นมา”

จาก Mascot สู่ The Real Fighter

นักปั่นหนุ่มหนึ่งเดียวจากเมืองไทยในชุดสีชมพู บนสนามระดับโลกที่มีแต่นักแข่งระดับ UCI แชมป์โลกบ้าง เหรียญทองโอลิมปิกบ้าง เรียกว่าเป็นหัวกะทิที่คัดมาแล้ว 73 คน ใครๆ ก็คิดว่าเดอะกุ่ยเป็นเหมือนมาสคอตของงาน ที่แบรนด์ยางไทยส่งมาร่วมแข่งเป็นสีสัน ทว่าเขาสามารถปั่นแซงนักแข่งจากประเทศเมืองหนาวได้กว่าครึ่ง ขึ้นมาอยู่ในอันดับกลางๆ ได้

“ออกตัวเริ่มแรกเขาทิ้งห่างเราไปเลย แต่พอปั่นไปสักพักก็ของเก่าก็กลับมา เริ่มแซง แซงยากมากเลยนะ แต่เราก็ทำได้ เวลาขึ้นอันดับจะมีชื่อและธงชาติอยู่ แล้วธงไทยอยู่อันดับเหนือธงสวิส ผมดีใจนะที่เราเอาชนะเขาได้”

นักแข่งต่างชาติผู้จริงจังเมื่อถูกนักแข่งผู้ยิ้มแย้มเอาชนะไปได้ ทัศนคติของทุกคนก็เปลี่ยนไป เขากลายเป็นนักสู้ตัวจริง (The Real Fighter) ผู้ได้สมญาว่า Pink Panther ที่นอกจากจะแข่งได้อันดับราว 40 กว่า ซึ่งถือว่าทำได้ดีทีเดียว เขายังได้รับรางวัลนักแข่งป๊อบปูลาร์โหวตอีกด้วย สร้างชื่อเสียงให้คนไทยเป็นที่รู้จักในวงการล้อโตขึ้นมา

ปีที่ 2 ในเมืองหิมะ

สำหรับการแข่งขันในปี 2017 เดอะกุ่ยไม่คิดว่าจะได้กลับมาแข่งอีก แต่เมื่อผู้จัดเชิญมา เขาก็ตกลงใจไป แม้จะไม่มีความพร้อมใดๆ เลย เพราะรู้ตัวล่วงหน้าเพียง 2 สัปดาห์ ซึ่งขณะนั้นกำลังเตรียมตัวไปบวชที่พุทธคยา ประเทศอินเดีย อยู่ในสมณเพศถึง 10 วัน กลับมายังไม่สบายจนเข้าโรงพยาบาลอีก 10 วัน ออกจากโรงพยาบาลได้ 3 วัน เดอะกุ่ยก็ต้องเดินทางไปสวิตเซอร์แลนด์พร้อมแข่งทันที การแข่งขันซึ่งขาดความพร้อมด้านกำลังกาย เขาจึงใช้ใจและสมาธิที่ฝึกมาตลอดพาตัวเองจนจบการแข่งขัน ด้วยเวลาที่มากกว่าเดิมถึง 1 ชั่วโมง

แต่การกลับมาครั้งนี้เขาได้พบว่า พิงค์ แพนเตอร์จากเมืองไทยนั้นมีชื่อเสียงในเมืองกชตาดขนาดไหน การแข่ง 4 วันก็มีสื่อรอสัมภาษณ์หลังแข่งจบทุกวัน มีกล้องวิดีโอติดตามถ่ายตลอดการแข่งขัน ทำออกมาเป็นฟุตเตจเล่าเรื่องราวของเขา คนในอุตสาหกรรมจักรยาน ผู้จัด และคนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของเมืองกชตาดล้วนรู้จักพิงค์ แพนเตอร์เป็นอย่างดี แต่ปีนี้สมญา ‘พิงค์ แพนเตอร์’ ถูกเรียกน้อยลงกว่าปีที่แล้ว ชื่อยุทธพงษ์ถูกเอ่ยมากขึ้นแทนที่ เป็นการให้เกียรติว่าเขาไม่ใช่สีสัน แต่เป็นนักปั่นที่ได้รับการยอมรับในวงการ

วิปัสสนาพาไป

การแข่งขันจักรยานในภูเขาหิมะมีความยากขนาดที่มีนักแข่งขอถอนตัว แต่เดอะกุ่ยสามารถแข่งจบได้แม้ไม่ได้ซ้อม ต่อให้จบด้วยความยากลำบากก็เป็นเรื่องน่าทึ่งอยู่ดี เขาพูดเสมอในการสัมภาษณ์ว่า พลังของการปฏิบัติวิปัสสนาและสมาธิพาเขามาถึงจุดนี้

โดยพื้นฐานเดอะกุ่ยเป็นคนชอบท้าทายตัวเอง อะไรที่ยากและไม่น่าทำได้เขาก็ทำ เช่น อยู่ๆ ก็ลงแข่งวิ่งมาราธอน หลังจากไม่ได้วิ่งมาเป็น 10 ปี ก็วิ่งจบได้ หรือการลงแข่งไตรกีฬาระยะ 70.3 หรือ Half Ironman ที่เขาใช้เวลาเตรียมตัวเพียง 20 วัน โดยที่ว่ายน้ำไม่เป็นเลยด้วยซ้ำ เขาก็จบได้ และไม่คิดจะกลับไปเล่นไตรกีฬาอีก เพียงแต่ทุ่มเททำเพื่อให้เป็นประวัติศาสตร์ในชีวิต

ด้านหนึ่งคือการแข่งขันอย่างสุดโต่ง แต่อีกด้านเขาใช้ชีวิตแบบปล่อยวางราวกับพระธุดงค์ อะไรคือนิยามความเป็นเดอะกุ่ยกันแน่?

“ผมใช้ชีวิตไม่เหมือนชาวบ้าน กุ่ยมีหลายคน แต่เราเป็นเดอะกุ่ย คือมีคนเดียว หนึ่งเราไม่ทำงาน ในที่นี้คือ ผมไม่ได้ทำเพื่อเป็นนักธุรกิจใหญ่โต เพื่อดูแลลูกน้อง ผมพยายามทำทุกอย่างให้ตายไปโดยไม่มีภาระเลย ที่บ้านไม่มีเฟอร์นิเจอร์ อะไรขายได้ก็ขายทิ้งหมด ทำบ้านให้เหมือนกุฏิ ว่างๆ ผมก็ไปปฏิบัตธรรมตลอด ท้ายที่สุดคือไม่มีครอบครัว สิ่งที่เราทำเราแข่งกับพระป่า ไม่ได้แข่งกับนักธุรกิจ ไม่ได้แข่งกับนักกีฬา แต่เราทำอย่างไรก็ได้ให้ปล่อยวางมากที่สุด”

คนที่รู้จักเดอะกุ่ยจะรู้ดีว่าเขาพูดถึงธรรมะเสมอ สามารถสนทนาธรรมในวงเหล้าได้ (โดยตัวเองไม่ดื่ม) เขาขอทำหน้าที่เผยแผ่ธรรมะโดยอยู่ในโลกร่วมสมัย และทำอะไร ‘บ้าๆ’ เพื่อเป็นจุดให้คนฉุกคิด และหันมามอง

“เพื่อให้เห็นว่าสิ่งที่คุณพยายามไขว่คว้า แต่ผมปล่อยวาง ผมก็ไปได้สุดเหมือนกัน การใช้ชีวิตแบบนี้ก็สุดได้ ผมทำเพื่อสอนตัวเอง และให้คนอื่นดูด้วย ชีวิตเราตั้งใจเผยแผ่เป็นธรรมทานอยู่แล้ว ฉะนั้น ถ้าจะสร้างแรงบันดาลใจได้ก็ดี

“ผมพยายามอยู่ติดดินมากๆ และถือศีลเพื่อทำวิปัสสนาให้ได้ผล แต่ผมก็ประสบความสำเร็จในสิ่งที่คนอื่นไขว่คว้าก็ไม่ถึงสักที ฉะนั้น สิ่งที่มองไม่เห็นมีอยู่ แรงผลักดันมีอยู่ แล้วเราจะได้เจอคนดีๆ โดยไม่รู้ตัว ชีวิตก็ดี มีคนเห็นคุณค่า ที่ผมประสบความสำเร็จ เพราะผมปล่อยวางได้เยอะ ปฏิบัติวิปัสสนาเยอะ อานิสสงส์ของการนั่งสมาธิมีอยู่จริงนะครับ”