'วัชรพล' น้อมรับกรธ.หั่นป.ป.ช.จังหวัด แนะคุมระดับภาค

'วัชรพล' น้อมรับกรธ.หั่นป.ป.ช.จังหวัด แนะคุมระดับภาค

ประธาน ป.ป.ช. น้อมรับแนวทาง "กรธ." หั่นป.ป.ช.จังหวัด แนะคุมระดับภาคแทน

พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่กำลังยกร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต วางกลไกของป.ป.ช. โดยจะตัดป.ป.ช.จังหวัดออก ว่า เรื่องนี้ต้องแยกออกเป็นสองส่วน คือคณะกรรมการ ป.ป.ช. ประจำจังหวัดมีอยู่ในกฎหมายของป.ป.ช. แต่เมื่อมีการดำเนินการสรรหาและแต่งตั้งไปแล้ว 28 จังหวัด ทาง คสช. ก็ได้ระงับการสรรหาเพิ่มเติม

ดังนั้นเมื่อทางคณะกรรมการป.ป.ช.ได้เสนอร่างพ.ร.ป.ไป จึงไม่มีการกำหนดให้มีกรรมการป.ป.ช.จังหวัด ดังนั้นในบทเฉพาะกาลก็ระบุว่าที่ตั้งไปแล้ว 28 จังหวัดเมื่อครบวาระ4ปี หรือมีกรรมการคนไหนที่ครบวาระอายุ 70 ปี ก็จะไม่มีการสรรหาแต่งตั้งเพิ่มเติม

พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า อีกประเด็นคือสำนักงานคณะกรรมการป.ป.ช.จังหวัด ซึ่งเป็นหน่วยงานราชการในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)นั้น ยังคงมีอยู่ มีข้าราชการของเราทำงานอยู่ครบ 76 จังหวัด ทำงานครบทุกมิติทั้งเรื่องป้องกันและปราบปราม ดังนั้น การไม่มีป.ป.ช.จังหวัดจึงไม่มีผลกระทบต่อการทำงาน การปฏิบัติหน้าที่ของ คณะกรรมการ ป.ป.ช. และสำนักงานแต่อย่างใด เพราะทุกเรื่องที่เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานจะต้องถูกส่งขึ้นมาผ่านการพิจารณาวินิจฉัยของคณะกรรมการป.ป.ช.ชุดใหญ่ทั้ง9 คน

“ประโยชน์ของกรรมการ ป.ป.ช.จังหวัดก็มีมาก เพราะบุคคลเหล่านี้คือผู้ทรงคุณวุฒิ อดีตข้าราชการเป็นผู้ใหญ่ในพื้นที่ ดังนั้นในมิติของการป้องกันการทุจริตจึงสามารถช่วยทางสำนักงานได้มาก แต่อย่างไรก็ตาม ในเมื่อระดับนโยบายไม่ต้องการให้มีทางเราก็น้อมรับและดำเนินการตามนั้น กรธ.คงมีความห่วงใยในหลายประเด็น หากเป็นกรรมการในระดับจังหวัดอาจมีบางเรื่องที่ทำให้ดูว่าคนเหล่านี้ซึ่งอยู่ในพื้นที่นานรู้จักคนจำนวนมากอาจจะทำให้กระทบการดำรงความเป็นธรรม นิติธรรม แต่ในมุมมองของตนในอนาคตหากจะมีการแบ่งเบาภาระกิจของคณะกรรมการป.ป.ช.ชุดใหญ่9คน ก็อาจจะเริ่มต้นจากการมีกรรมการป.ป.ช.ภาค ก็อาจจะตอบโจทย์ได้ตรงกว่า และอาจป้องกันข้อครหาได้มากกว่าในรูปแบบของคณะกรรมการป.ป.ช.ประจำภาค” พล.ต.อ.วัชรพล กล่าว

พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า ในวันนี้นอกจากจะมีสำนักงานป.ป.ช.จังหวัดแล้วยังได้กำหนดให้มีสำนักงานป.ป.ช.ภาคเพื่อให้ผู้ช่วยเลขาธิการป.ป.ช.ภาค ทำหน้าที่บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและขับเคลื่อนการดำเนินงานของป.ป.ช.ในระดับภาค เนื่องจากทางสำนักงานฯได้กระจายอำนาจลงระดับพื้นที่ เพื่อให้ความรวดเร็วเป็นธรรม เป็นการใช้อำนาจบริหารงานภายใน ซึ่งสอดคล้องกับการบริหารงานด้านกระบวนการยุติธรรมทั้งของ ศาล อัยการ ตำรวจ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมมี 9 ภาคเหมือนกัน ซึ่งป.ป.ช.ก็มีผู้ช่วยเลขาธิการอยู่ 9 คนอยู่แล้ว ซึ่งเรียกว่าผู้ช่วยเลขาธิการตรวจราชการ และเล็งเห็นว่าให้มีมิติ เป็นผู้บังคับบัญชาไปดูแลงานทุกด้านดูแลข้าราชการที่ไปทำงานในพื้นที่ให้รวดเร็วขึ้น