6องค์กรเอกชนระนอง เร่งเคลื่อนเศรษฐกิจพื้นที่ชายแดน

6องค์กรเอกชนระนอง เร่งเคลื่อนเศรษฐกิจพื้นที่ชายแดน

จับมือลุย! 6องค์กรเอกชนระนอง ผนึกภาครัฐ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจพื้นที่ชายแดน ผลักดันให้มีการพัฒนาสาธารณูปโภค

นายธีระพล ชลิศราพงษ์ ประธานกรรมการหอการค้าจังหวัดระนอง เปิดเผยว่า ทาง 6 ภาคเอกชนจังหวัดระนองประกอบด้วย หอการค้า จ.ระนอง ,สภาอุตสาหกรรม จ.ระนอง ,สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยว จ.ระนอง ,สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จ.ระนอง ,สมาคมประมง จ.ระนอง และกลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่หรือ YEC ได้ร่วมกนประชุมเพื่อสรุปประเด็นในการนำเสนอในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อการพัฒนาและแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจจังหวัดระนอง(กรอ.) โดยประเด็นที่ทาง 6 ภาคเอกชนได้นำเสนอเข้าที่ประชุมเพื่อให้ภาครัฐและเอกชนร่วมกันขับเคลื่อนในการพัฒนาภาคเศรษฐกิจ การค้า อุตสาหกรรม การท่องเที่ยวของ จ.ระนอง ประกอบด้วยดังนี้

1.การผลักดันและติดตามโครงการถนนสี่ช่องทางการจราจรของถนนเพชรเกษมตั้งแต่แยกราชกรูด ต.ราชกรูด จ.ระนองไปเชื่อมต่อกับสามแยกตะกั่วป่าเพื่อพัฒนาและปรับปรุงเส้นทางถนนเลียบชาบฝั่งทะเลอันดามันฝั่งตะวันตกรองรับการขยายตัวด้านการท่องเที่ยวสู่จังหวัดรอง ซึ่งจะมีการผลักดันให้ได้งบประมาณในการดำเนินการภายในปี 2561

2.ผลักดันให้ จ.ระนองเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ทางภาคเอกชนมองว่ามีความจำเป็นและส่งผลดีต่อการพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนด้านจ.ระนองแม้ว่าที่ผ่านมาทางรัฐบาลจะยังไม่มีการสนับสนุน แต่ทางภาคเอกชนและภาครัฐจะมีการตั้งคณะกรรมการภาครัฐและเอกชนร่วมศึกษาถึงความเป็นไปได้ และจะร่วมกับขับเคลื่อนและผลักดันอีกครั้ง 3.ผลักดันที่ดินที่รัฐเคยให้เช่าบริเวณย่านแพใหม่ ตั้งอยู่ ต.บางริ้น อ.เมืองระนอง ซึ่งเป็นย่านเศรษฐกิจสำคัญของจังหวัดแต่มีปัญหาเรื่องเอกสารสิทธิจนส่งผลกระทบต่อการใช้ประโยชน์ในที่ดินของภาคเอกชนและผู้ัประกอบการ จะมีการผลักดันเรื่องดังกล่าวต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไปเพื่อประโยชน์ในการใช้ที่ดินดังกล่าว 4.ผลักดันให้มีการเพิ่มเที่ยวบินเส้นทางระนอง-กรุงเทพฯ-ระนอง เพื่อรองรับการขยายตัวด้านการค้าและการท่องเที่ยว และให้ราคาค่าโดยสารมีราคาที่เหมาะสมใกล้เคียงกับราคาค่าโดยสารจากสนามบินสุราษฏร์ธานีไปกรุงเทพฯ

5.ผลักดันท่าเรืออเนกประสงค์ระนอง ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ให้เปิดบริการแบบ Bulk Shipment ในราคาและบริการที่แข่งขันได้กับท่าเรือเอกชน เพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์ในการเป็นจุดเชื่อมโยงเส้นทางการค้าไทย-เมียนมาทางตอนใต้ 6.ผลักดันให้มีสำนักงานการท่องเที่ยว(ททท.) ที่จ.ระนองเพื่อรองรับการขยายตัวด้านการท่องเที่ยว และการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวกับประเทศเมียนมาในพื้นที่ทางตอนใต้ 7.ผลักดันให้มีการขยายรันเวย์สนามบินระนอง เพื่อรองรับการเป็นสนามบินนานาชาติในอนาคต

8.พัฒนาสินค้าท้องถิ่นในกลุ่มอาหารให้มีมาตรฐาน เช่นวัตถุดิบ การผลิต บรรจุภัณฑ์ คุณภาพ การตลาด เพื่อส่งเสริมให้เป็นครัวโลก 9.ผลักดันให้มีท่าเรือเฟอรรี่วิ่งเส้นทางระนอง-เกาะสอง เพื่อใช้ในการท่องเที่ยวและขนส่งสินค้าที่ปัจจุบันมีอัตราการขยายตัวอย่างรวดเร็ว 10.ให้มีการใช้ท่าเรือประภาคคารของศุลกากรบริเวณ ต.ปากน้ำ อ.เมืองระนอง เพื่อเป็นจุดการเปิดให้บริการเรือสปี๊ดโบ้ทวิ่งเส้นทางระนอง-เกาะสอง เพื่อรองรับการท่องเที่ยวและการเดินทางของปนะชาชนของ 2 ประเทศ 11.ผลักดันให้มีท่าเรือยอร์ช เพื่อเป็นท่าพัก ซ่อมบำรุงเรือ 12.ให้มีการทำ MOU ระหว่างไทยกับเมียนมาในการตกลง และความร่วมมือต่างๆ

13.อำนวยความสะดวกให้มีการทำ Visa on arrival ที่ด่านระนอง 14.การจัดกิจกรรมเชื่อมความสัมพันธ์ของ 2 แผ่นดินไทย-เมียนมา เพื่อความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันโดยใช้กีฬาเป็นสื่อ

นายธีระพล กล่าวต่อว่าทางจังหวัดระนองได้มีการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดใหม่ให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง และศักยภาพของพื้นที่ จากเดิมที่เน้นการเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางทะเลฝั่งอันดามัน แต่พบว่ายังมีปัจจัยปัญหา และอุปสรรค ในการดำเนินการ ซึ่งจะต้องอาศัยการขับเคลื่อนในระดับชาติ ทางจังหวัดจึงได้ปรับยุทธศาสตร์ใหม่ที่ขีดความสามารถรับจังหวัดขับเคลื่อนได้ โดยกำหนดวิสัยทัศน์ (Vision) เป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่น่าอยู่ ศูนย์กลางการค้าชายแดนฝั่งอันดามัน ส่วนประเด็นยุทธศาสตร์กำหนดเป็น 4 ยุทธศาสตร์หลักประกอบด้วยเมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ,เมืองน่าอยู่,ศูนย์กลางการค้าชายแดนฝั่งอันดามัน และเศรษฐกิจที่มั่นคงกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม

เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้สู่เป้าหมายทางจังหวัดได้กำหนดพันธกิจดังนี้ พัฒนาและยกระดับมาตรฐานการท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดระนองสู่มาตรฐานสากล,สร้างความเชื่อมั่นในความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน,ฟื้นฟู รักษา ทรัพยากรธรรมชาติสู่ความสมดุลของระบบระบบนิเวศน์อย่างยั่งยืน,ส่งเสริมให้จังหวัดระนองเป็นศูนย์กลางการค้าชายแดนฝั่งอันดามัน,การเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีเป้าประสงค์ดังนี้จังหวัดระนองมีชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ สามารถแข่งขันได้ทั้งภายในและต่างประเทศ,ทรัพยากรธรรมชาติมีความสมดุล อุดมสมบูรณ์ และสภาพแวดล้อมน่าอยู่,สังคมเข้มแข็ง มั่นคง ปลอดภัย ประชาชนมีคุณภาพชีวิต และอยู่ร่วมกันอย่างผาสุก,การค้าชายแดนขยายตัวและมีประสิทธิภาพ,เศรษฐกิจที่มั่นคงและกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม,การบริหารจัดการภาครัฐที่มีประสิทธิภาพ

ในส่วนของแผนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดยมีน้ำแร่ร้อนเป็นจุดขายหลักนั้นล่าสุดทางจังหวัดระนองได้ร่วมกับทุกภาคส่วนในจังหวัดระนองทั้งภาครัฐและเอกชนประกอบด้วย องค์การบริหารส่วนจังหวัดระนอง,เทศบาลเมืองระนอง,หอการค้าจังหวัดระนอง,สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยว จ.ระนอง,สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจังหวัดระนอง ร่วมกันวางกรอบ และแนวทางการพัฒนาแหล่งน้ำแร่ร้อนในเขตพื้นที่จังหวัดระนอง ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาของจังหวัดและกลุ่มจังหวัดที่กำหนดให้จังหวัดระนองเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ทั้งยังสานแผนการพัฒนาแหล่งท่อเที่ยวประเภทน้ำแร่ร้อนเพื่อยกระดับให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังระดับโลกในอนาคต