‘การบินไทย’ เทขายเครื่องบินหมด 18 ลำ มั่นใจออกแผนฟื้นฟูปี 2568

‘การบินไทย’ เทขายเครื่องบินหมด 18 ลำ มั่นใจออกแผนฟื้นฟูปี 2568

“การบินไทย” ปิดดีลขายฝูงบินปลดระวางครบ 18 ลำ มั่นใจออกจากแผนฟื้นฟูตามเป้าหมายในปี 2568 หลัง EBITDA เป็นบวกต่อเนื่อง สะสมมากกว่า 2.5 หมื่นล้านบาท ขณะที่ปัจจัยลบปีนี้เฝ้าระวังอัตราแลกเปลี่ยน

นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ณ วันที่ 31 มี.ค. 2567 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีเครื่องบินที่ใช้ทำการบินทั้งสิ้น 73 ลำ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2566 จำนวน 3 ลำ โดยเป็นการรับมอบเครื่องบินเช่ารุ่นแอร์บัส A350-900 ส่งผลให้ในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2567 บริษัทฯ สามารถเพิ่มความถี่ในจุดบินที่มีศักยภาพได้อย่างต่อเนื่อง และสามารถสร้างรายได้จากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น โดยภาพรวมไตรมาสที่ 1 ปี 2556 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีรายได้รวมทั้งสิ้น 45,955 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 4,448 ล้านบาท (10.7%) สาเหตุหลักเกิดจากรายได้จากการขนส่งผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 3,539 ล้านบาท (10.1%) 

อย่างไรก็ดี ในช่วงไตรมาสดังกล่าวบริษัทฯ และบริษัทย่อยมีค่าใช้จ่ายรวม 34,880 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 6,407 ล้านบาท (22.5%) ซึ่งมีค่าใช้จ่ายรวมอยู่ที่ 28,473 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นตามปริมาณการผลิตและ/หรือปริมาณการขนส่ง จำนวนเที่ยวบิน จุดบิน และผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น การอ่อนค่าของเงินบาท รวมทั้งอัตราค่าบริการภาคพื้นและราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้น ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายปรับตัวสูงขึ้นในภาพรวม โดยค่าใช้จ่ายดังกล่าว ได้แก่ ค่าใช้จ่ายการบริการผู้โดยสาร ค่าบริการการบินในต่างประเทศ ค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงเครื่องบินและอุปกรณ์ ส่งผลให้บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงินไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว 11,075 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 1,959 ล้านบาท (15.0%) 

‘การบินไทย’ เทขายเครื่องบินหมด 18 ลำ มั่นใจออกแผนฟื้นฟูปี 2568

นอกจากนี้ บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีต้นทุนทางการเงินซึ่งเป็นการรับรู้ตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 (TFRS 9) จำนวน 4,608 ล้านบาท มีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวสุทธิเป็นค่าใช้จ่าย 4,036 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรายการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ 5,372 ล้านบาท การด้อยค่าของเครื่องบิน และสินทรัพย์สิทธิการใช้ และอุปกรณ์การบินหมุนเวียน 3,338 ล้านบาท แต่มีรายการปรับปรุงรายได้บัตรโดยสารที่หมดอายุ 4,136 ล้านบาท กำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้ 493 ล้านบาท 

ขณะเดียวกันมีส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วม 36 ล้านบาท ส่งผลให้ในไตรมาสที่ 1 ปี 2567 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 2,423 ล้านบาท และมี EBITDA หลักหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามเงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบินรวมค่าเช่าเครื่องบินจากการใช้เครื่องบินที่เกิดขึ้นจริง (Power by the Hours) 14,000 ล้านบาท ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่เป็นเงินจำนวน 14,054 ล้านบาท ดังนั้นในภาพรวม 2 ไตรมาส บริษัทฯ มี EBITDA สะสมอยู่ที่ 25,000 ล้านบาท ซึ่งเพียงพอต่อเงื่อนไขยื่นออกจากแผนฟื้นฟูกิจการที่ระบุว่า EBITDA ย้อนหลัง 12 เดือน เกิน 20,000 ล้านบาท

นายชาย กล่าวด้วยว่า ในงวดไตรมาสที่ 1 ปี 2567 มีการบันทึกด้อยค่าของเครื่องบิน และสินทรัพย์สิทธิการใช้ และอุปกรณ์การบินหมุนเวียน 3,338 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทฯ ได้เจรจาซื้อขายเครื่องบินปลดระวางทั้งหมดจำนวน 18 ลำแล้ว โดยดำเนินการทำสัญญาแล้วเสร็จโบอิ้ง 777-200 จำนวน 6 ลำ และอยู่ระหว่างเจรจาทำสัญญา ประกอบด้วย โบอิ้ง 777-300 จำนวน 6 ลำ และแอร์บัส A380 จำนวน 6 ลำ โดยการบันทึกด้อยค่าครั้งนี้ ถือว่าเป็นการบันทึกด้อยค่าจำนวนสูงสุดของปีนี้แล้ว หลังจากนี้จะเหลือเพียงบันทึกด้อยค่าจากอุปกรณ์การบิน เครื่องยนต์ต่างๆ

ขณะเดียวกันการขายอากาศยานที่ปลดระวางเป็นหนึ่งในการดำเนินงานของแผนฟื้นฟูกิจการ จึงถือว่าบริษัทฯ ได้ดำเนินการแผนฟื้นฟูแล้วเสร็จอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทฯ ยังคงคาดการณ์ว่าจะสามารถยื่นกลับซื้อขายหลักทรัพย์และออกจากแผนฟื้นฟูกิจการได้ตามเป้าหมายในปี 2568 ส่วนในปี 2567 บริษัทฯ ยังคงคาดการณ์ว่าจะสามารถทำรายได้รวมอยู่ 1.8 แสนล้านบาท โดยเป็นรายได้จากการดำเนินงาน 1.6 แสนล้านบาท ส่วนอัตราบรรทุกผู้โดยสาร (เคบิ้นแฟกเตอร์) คาดอยู่ในระดับ 75% ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังคงจับตาดูปัจจัยอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ที่จะเป็นปัจจัยลบส่งผลต่อภาพรวมกำไรของบริษัทฯ