ย้อนเกล็ดลูกหนังมังกร จากอดีตสู่อนาคต

ย้อนเกล็ดลูกหนังมังกร จากอดีตสู่อนาคต

หากไม่นับในภูมิภาคยุโรป ที่ฟุตบอลถือเป็นกระแสหลัก ชาติที่ถือว่าร้อนแรงที่สุด ในการลงทุนด้านฟุตบอลตอนนี้

 คงหนีไม่พ้นมหาอำนาจแห่งเอเชีย อย่างจีน

เปรียบเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ ที่ลงทุนมหาศาลกับกีฬาเช่นกัน ตะวันออกกลาง มองฟุตบอลเป็นเรื่องสันทนาการ ขณะที่ สหรัฐ ต้องการโปรโมทกีฬาที่คนอเมริกันรู้จักในนาม ซอคเกอร์ ให้มากขึ้น

แต่จีนนั้นต่างออกไป เพราะมักมีคำถามคลาสสิกเสมอว่า ทำไม จีน ถึงไม่ประสบความสำเร็จทางฟุตบอลเหมือนกีฬาประเภทอื่นๆ? เป้าหมายจึงหนีไม่พ้นการเป็นหนึ่งในใต้หล้าด้านเกมลูกหนัง 

ความเฟื่องฟูของลีกจีนในปัจจุบันคงไม่ต้องกล่าวให้มากความ เพราะมีการนำเสนอมาอย่างแพร่หลาย แต่น้อยคนนักจะรู้ถึง รากเหง้า และ ที่มา” อันเป็นองค์ประกอบสำคัญ เพราะ ประวัติศาสตร์ มักสะท้อนความเป็นไปของปัจจุบัน รวมถึงอนาคตด้วย 

อ้าแขนรับฟุตบอล

ย้อนกลับไป เมื่อ 1 ต.ค. 1949 เหมา เจ๋อตุง ผู้นำแห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้สถาปนาประเทศ ภายใต้ชื่อ สาธารณรัฐประชาชนจีน และการพัฒนาประเทศภายใต้พรรคคอมมิวนิสต์ ก็ช่วยให้จีนมีเสถียรภาพทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมมากขึ้น และมีเวลาเหลือสำหรับกิจกรรมอื่นๆ 

รัฐบาลจีนมองว่ากีฬาจะสร้างความเป็นเอกภาพในโครงสร้างในสังคมได้มากกว่าเดิม ก่อนถูกบรรจุเข้าไปในแผนพัฒนาประเทศ 5 ปี ของพรรคคอมมิวนิสต์ และนำไปสู่การแข่งขันฟุตบอลระดับชาติในจีนครั้งแรกในปี 1951 ที่เมืองเทียนจิน และนำไปสู่การคัดเลือกนักกีฬาฝีเท้าดีเข้าสู่ทีมชาติในเวลาต่อมา

การพัฒนากีฬาในจีนเติบโตถึงขนาดจัดตั้ง คณะกรรมการกีฬาแห่งชาติ (The National Sports Commission) หรือ เอ็นเอสซี ในปี 1952 เพื่อวางแผนนโยบายกีฬาโดยเฉพาะ อีกทั้งยังได้รับความช่วยเหลือจาก สหภาพโซเวียต ทั้งเรื่องการเงิน หรือ การส่งบุคลากรมาฝึกสอน

กระทั่งปี 1956 ก็มีการจัดตั้งฟุตบอลลีกอย่างเป็นทางการ และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี จนในปี 1958 มีทีมมากถึง 154 ทีม มากกว่ายุคก่อตั้งฟุตบอลถึง 17 เท่าในเวลาเพียง 7 ปี ส่วนในระดับชาติ เฉพาะในปี 1958 ปีเดียว จีน ลงเล่นมากถึง 65 เกม ชนะ 30 เสมอ 16 แพ้ 19 และถือเป็นหนึ่งในมหาอำนาจของเอเชียในทศวรรษที่ 50

ปฏิวัติวัฒนธรรม

ภายใต้การนำของประธานเหมา จีนเดินหน้าพัฒนาประเทศไปสู่เศรษฐกิจอุตสาหกรรมเต็มรูปแบบ เป็นที่มาของนโยบาย ก้าวกระโดดไกล” ให้ทุกหมู่บ้านนำเหล็กที่ได้จากเครื่องมือเครื่องใช้ และเศษเหล็กต่างๆ นำมาถลุงเพื่อนำไปใช้ในอุตสาหกรรมและการก่อสร้าง

เกษตรกรจำนวนมากทิ้งไร่ นา มาถลุงเหล็กตามคำสั่งของภาครัฐ ผลที่ตามมาก็คือความเสียหายใหญ่หลวง เหล็กที่ถลุงนั้นขาดคุณภาพกลายเป็นเศษเหล็กจำนวนนับล้านตัน ขณะเดียวกัน ก็เกิดปัญหาการขาดแคลนผลผลิตทางเกษตร และภาวะอดอยากตามมา กอปรกับความขัดแย้งกับสหภาพโซเวียต ทำให้การพัฒนาฟุตบอลในจีนต้องหยุดชะงักลง

การวางนโยบายที่ผิดพลาด นำไปสู่การถูกแกนนำพรรคส่วนหนึ่งวิพากษ์วิจารณ์ ประธานเหมาที่เริ่มวิตกถึงความมั่นคงในตำแหน่ง จึงเริ่มต้นนโยบาย ปฏิวัติวัฒนธรรมในปี 1966 เพื่อขจัดองค์ประกอบที่เป็นทุนนิยม และกำหนดแนวทางแบบเหมาภายในพรรค แต่ในอีกด้านก็มีขึ้นเพื่อจัดการศัตรูทางการเมืองไปพร้อมกัน โดยใช้ “เรดการ์ด” จับกุมประชาชนที่เห็นต่าง ในจำนวนนี้รวมถึงนักกีฬาและโค้ชฟุตบอลที่ถูกกำจัดเป็นจำนวนมาก และก็ไม่มีการส่งนักกีฬาไปแข่งขันในระดับนานาชาติ

รอยต่อระหว่างทศวรรษที่ 60 ถึงต้น 70 จึงกลายเป็นยุคมืดของวงการกีฬาในจีนโดยปริยาย 

นโยบายทันสมัย

นโยบายปฏิวัติวัฒนธรรมสิ้นสุดลง เมื่อ เหมา เจ๋อ ตุง เสียชีวิตในปี 1976 จีนได้ผู้นำคนใหม่คือ เติ้ง เสี่ยวผิง เจ้าของนโยบาย “สี่ทันสมัย” เพื่อให้จีนเป็นสังคมนิยมที่ทันสมัย เปิดประเทศทำการค้า รับความรู้ใหม่ๆ ทั้งเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ ฟุตบอลจึงได้หวนกลับสู่แดนมังกรอีกครั้ง

กลางทศวรรษที่ 70 แผนพัฒนาฟุตบอลของ เอ็นเอสซี ถูกรื้อกลับมา และได้รับการวางระบบที่จริงจังมากขึ้น โดยเน้นไปที่การสร้างศูนย์ฝึกกีฬาเยาวชน การจัดการแข่งฟุตบอลถ้วยเยาวชน และดึงบุคลากรจากต่างประเทศเข้ามาถ่ายทอดความรู้ และส่งทีมกลับเข้าร่วมในรายการระดับนานาชาติอีกครั้ง

เศรษฐกิจที่กำลังเฟื่องฟูตามนโยบายรัฐในทศวรรษที่ 80 ส่งผลให้ภาคธุรกิจเริ่มเข้ามาลงทุนในฟุตบอล จากเดิมที่มาจากภาครัฐเป็นหลัก กลุ่มธุรกิจด้านยารักษาโรค “ไป๋หยุนซาน” Baiyunshan pharmaceutical Facto) คือเอกชนรายแรกที่จุดกระแสให้ภาคเอกชนเข้ามาลงทุนในเกมลูกหนังอย่างแพร่หลาย ด้วยการเข้ามาสนับสนุนทีมฟุตบอล กว่างโจว ในปี 1984

การใช้ทุนนิยมเข้ามาขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจสังคมนิยม ทำให้ธุรกิจหลายชนิดในจีนเติบโตขึ้น ซึ่งก็รวมถึงการถือกำเนิดของฟุตบอลอาชีพเต็มรูปแบบ “เจีย-เอลีก” (Jia-A League)หรือ ซี-ลีก ในปี 1994  

กลับสู่ยุคมืด 

ซี-ลีก ถูกคาดหวังว่าจะประสบความสำเร็จไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า เจ-ลีก ของญี่ปุ่น เพราะมีข้อได้เปรียบจากฐานผู้ชมจากประชากรระดับพันล้าน 

ในภาพรวม ซี-ลีก จัดได้ว่ามีสีสันไม่น้อย หลายสนามมีผู้ชมระดับหลักหมื่น ส่วนในระดับทวีป ก็เคยมีสโมสรเข้าชิงชนะเลิศถ้วยใหญ่ของเอเชีย 4 ครั้ง และคว้าแชมป์มาได้หนึ่งสมัย ส่วนระดับชาติ ก็ได้อันดับ 3 เอเชียนคัพ 1 ครั้ง รวมถึงเหรียญเงินและทองแดงในเอเชียนเกมส์ ก่อนตอกย้ำความสำเร็จด้วยการผ่านเข้ารอบสุดท้ายฟุตบอลโลกเป็นครั้งแรกในปี 2002

ดูเหมือนว่าฟุตบอลจีนกำลังเฟื่องฟูถึงขีดสุด แต่ปัญหาที่ถูกหมักหมมไว้มานาน อย่าง "ล้มบอล" เกิดขึ้นรวดเร็วและแพร่หลาย นำไปสู่การติดสินบนและว่าจ้างให้ล็อกผลการแข่งขันเกิดขึ้นไปทั่ว กระทั่งสถานีโทรทัศน์ของรัฐบาล หรือ ซีซีทีวี ปฏิเสธที่จะถ่ายทอดสดการแข่งขัน เพราะไม่ต้องการเป็นเครื่องมือให้กลุ่มคนนอกกฎหมายเหล่านี้ ผู้ชมที่เคยแน่นสนามก็ทยอยหายไป เช่นเดียวกับสปอนเซอร์ จนฟุตบอลจีนกลับสู่ยุคมืดอีกครั้ง 

ปรับภาพลักษณ์สู่อนาคต

สืบเนื่องจากนโยบายปราบทุจริตครั้งใหญ่ของรัฐบาลจีน ที่นำไปสู่การจับกุมผู้เกี่ยวข้องมาลงโทษตั้งแต่นักพนัน ผู้บริหารสโมสร ไปจนถึงเจ้าหน้าที่สมาคมฯ ทำให้สมาคมฟุตบอลและภาครัฐ ต้องยกเครื่องฟุตบอลลีกของประเทศครั้งใหญ่ อันเป็นที่มาของ ไชนีส ซูเปอร์ลีก ที่เรารู้จักกันดีในปัจจุบัน 

นอกจากการล้างภาพลักษณ์สีเทา ยังมีการรื้อโครงสร้างใหม่ เพิ่มความเข้มข้นในการประชาสัมพันธ์ ดึงนักลงทุนมาสู่สโมสร ในช่วงเวลาที่สภาพเศรษฐกิจของจีน เติบโตอย่างก้าวกระโดด ส่งผลให้ ไชนีส ซูเปอร์ลีก กลายเป็นลีกที่มีการลงทุนสูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

ขณะที่ยุทธศาสตร์ของฟุตบอลจีนของ สี จิ้นผิง ผู้นำประเทศคนปัจจุบันคือการสร้างโรงเรียนฟุตบอล 20,000 แห่งภายในปี 2020 และเพิ่มเป็น 50,000 แห่งภายใน 2025 เพื่อนำจีนกลับไปเป็นมหาอำนาจฟุตบอลของโลกภายในปี 2050 รวมถึงการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก

จะเห็นได้ว่าการเปลี่ยนแปลงของฟุตบอลจีนแต่ละครั้งล้วนผูกติดกับเศรษฐกิจ การเมือง สังคมของประเทศเสมอ การสนับสนุนของภาครัฐและเอกชนในปัจจุบัน นอกจากจะเพื่อหลอมรวมจิตใจคนในชาติ ยังมีความคาดหวังในเชิงธุรกิจควบคู่กันไป 

กระนั้นก็ยังไม่ใช่หลักประกันว่าวงการฟุตบอลจีนจะประสบความสำเร็จได้ เพราะแต่ฟุตบอลไม่ใช่แค่เรื่องการลงทุน ยังต้องผสมผสานศาสตร์และศิลป์ที่ลงตัวอีกด้วย