ร.ร.ชายขอบ610แห่ง ขอเข้าโครงการไอซียู

ร.ร.ชายขอบ610แห่ง ขอเข้าโครงการไอซียู

สพฐ.เผยตัวเลขล่าสุดขอเข้าร่วมโครงการไอซียู 4.5 พันโรง พบเป็นโรงเรียนชายขอบ 610 โรง 3จังหวัดชายแดนใต้ 368 โรง

นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)ได้มอบหมายให้โรงเรียนที่ไม่เป็นโรงเรียนประชารัฐประเมินสถานภาพปัจจุบันของโรงเรียน ว่า มีสภาพที่ต้องได้รับความช่วยเหลือและพัฒนาอย่างเร่งด่วนหรือไม่ พร้อมเหตุผลและข้อมูลประกอบ เพื่อพิจารณาเข้าร่วมโครงการยกระดับโรงเรียนที่ต้องการความช่วยเหลือและพัฒนาเป็นพิเศษอย่างเร่งด่วน หรือไอซียูนั้น ข้อมูลล่าสุดมีโรงเรียนเสนอชื่อเข้าร่วมโครงการไอซียูแล้ว 4,518 โรง จากโรงเรียนสังกัด สพฐ. ทั้งหมด 30,717 โรง แบ่งเป็น โรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) 4,206 โรง คิดเป็น 93.06% สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) 312 โรง คิดเป็น 6.91% 

ทั้งนี้ เมื่อจำแนกตามที่ตั้งของโรงเรียน พบว่า เป็นโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ชายขอบ 610 โรง  อยู่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ 368 โรง ที่เหลือตั้งอยู่ในพื้นที่ทั่วไป 3,540 โรง นอกจากนี้ เมื่อจำแนกตามสภาพปัญหา พบว่า เป็นโรงเรียนที่มีปัญหาด้านคุณภาพ 679 โรง ด้านกายภาพ คือ งบประมาณ,อาคารสถานที่,วัสดุอุปกรณ์ 2,490 โรง ด้านบุคลากร 1,040 โรง ด้านการบริหารจัดการ 103 โรง ด้านโอกาสทางการศึกษา 155  โรง ด้านปัญหายาเสพติด,มลพิษ 165 โรง และอื่นๆ 57 โรง

นายการุณ กล่าวต่อไปว่า ขั้นตอนต่อจากนี้คณะกรรมทำงานคัดกรองโรงเรียนประสบปัญหาวิกฤต หรือ ไอซียู จะวิเคราะห์ข้อมูลของโรงเรียนแต่ละแห่ง ว่าเป็นโรงเรียนไอซียู ที่มีความจำเป็นเร่งด่วนต้องได้รับการแก้ไข เพื่อเรียงลำดับความสำคัญ เข้าร่วมโครงการฯ ซึ่งคณะทำงาน ที่มาจากทุกกลุ่มจังหวัดหรือ คลัสเตอร์  อาจเสนอข้อมูลเพิ่มเติม สำหรับโรงเรียนที่เห็นว่า ต้องได้รับการช่วยเหลือดูแลเป็นพิเศษอย่างเร่งด่วน แต่ผู้อำนวยการโรงเรียนไม่ได้เสนอชื่อเข้าคัดเลือก จากนั้นจะเสนอข้อมูลให้ ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะประธานคณะทำงานแก้ไขปัญหาโรงเรียนที่ประสบปัญหาวิกฤตทางการศึกษา พิจารณารายเอียด ก่อนสรุปเสนอนพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ  ให้ความเห็นชอบต่อไป 

“โรงเรียนในพื้นที่ 12 จังหวัดภาคใต้ที่ประสบปัญหาน้ำท่วม จะถูกนำมาพิจารณาในครั้งนี้ด้วย ซึ่งเท่าที่ดูตามสภาพปัญหาเบื้องต้น บางแห่งสามารถแก้ไขได้โดยใช้การบริหารจัดการ  ส่วนที่ใดต้องใช้งบประมาณปรับปรุงซ่อมแซม  สพฐ.ก็พร้อม และมีงบประมาณรองรับไว้แล้ว  เนื่องจากโครงการพัฒนาคุณภาพโรงเรียน และการจัดการเรียนการสอนส่วนใหญ่ของสพฐ. ก็จะอยู่ในหลักเกณฑ์การพิจารณาโรงเรียนไอซียูอยู่แล้ว ดังนั้น จึงสามารถโยกงบดังกล่าวมาใช้ในโครงการนี้ได้ทันที หากไม่พอค่อยจะเสนอของงบประมาณกลางต่อไป”นายการุณ กล่าว