วงเสวนา! จวกนโยบายศธ.เหลว เน้นมั่นคงมากกว่าพัฒนาคน

วงเสวนา! จวกนโยบายศธ.เหลว เน้นมั่นคงมากกว่าพัฒนาคน

นักกิจกรรมจวกนโยบายศธ.ล้มเหลว เหตุมุ่งมั่นคงของรัฐ มากกว่าพัฒนาทรัพยากรบุคคล ติงให้แก้ไข ยกระดับการศึกษาเป็นสวัสดิการ

วานนี้ (21ม.ค.) ที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ คณะประชาชนเพื่ออิสรภาพ จัดเวทีเสวนาวิชาการ เรื่อง “สวัสดิการการศึกษาในรัฐธรรมนูญ” โดยมีนักวิชาการ และนักกิจกรรมที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

โดยนางวัชรฤทัย บุญธินันท์ อาจารย์สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยามหิดล และสมาชิกเครือข่ายการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองประชาธิปไตย กล่าวถึงสิทธิและสวัสดิการทางการศึกษาในรัฐธรรมนูญ ว่า สิทธิทางการศึกษาถูกรับรองในกฎหมายระหว่างประเทศ รวมถึงกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ที่กำหนดให้ทุกคนมีสิทธิทางการศึกษาภาคบังคับโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และกำหนดให้การศึกษาระดับอาชีวศึกษา, อุดมศึกษาต้องถูกเข้าถึงได้อย่างเสมอภาคกัน

ทั้งนี้ สิทธิการศึกษาถือเป็นส่วนสำคัญ เพราะมีมิติที่เอื้อต่อการเข้าถึงสิทธิด้านอื่นๆ เช่น สิทธิการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร, สิทธิทางการเมือง ขณะที่ในประเด็นว่าด้วยสวัสดิการทางการศึกษานั้นจะเกี่ยวกับนโยบายทางสังคมของรัฐ โดยประเทศที่เป็นรัฐสวัสดิการ จะกำหนดให้การศึกษาเป็นเครื่องมือของการคุ้มครองประชาชน เพื่อให้เกิดความเป็นพลเมืองที่เสมอภาค เท่าเทียม และมีอำนาจต่อรองกับรัฐ ซึ่งในหลายประเทศมีเนื้อหาของรัฐธรรมนูญที่กำหนดประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา แต่มีรายละเอียดที่แตกต่างออกไป ดังนั้นแม้ในรัฐธรรมนูญจะไม่ได้กำหนดประเด็นการศึกษาที่ชัดเจน แต่รัฐบาลสามารถขับเคลื่อนเรื่องสิทธิและสวัสดิการทางการศึกษาผ่านทางนโยบายได้

ด้านนายธนพงษ์ หมื่นแสน นักกิจกรรมและเคลื่อนไหวด้านสิทธิการศึกษา และสมาชิกกลุ่มกรุ๊ป ออฟ คอน ราดส์ กล่าวว่า นโยบายและคุณภาพของการศึกษาในประเทศไทยสิ่งที่เกิดขึ้น คือ ต้องทำคะแนนโอ-เน็ต ให้ได้คะแนนสูงๆ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรวัดทางการศึกษาของต่างประเทศเท่านั้น แต่ไม่ได้มองในมุมของความมั่นคงทางการศึกษา ทั้งนี้ในความเข้าใจในมุมมองของการศึกษา ยังเป็นในด้านการพัฒนาฝีมือแรงงาน ตอบสนองอุดมการณ์ของรัฐ ความมั่นคงและทางการเมืองเท่านั้น ทั้งนี้ในแนวนโยบายของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง หรือมาจากการลากตั้ง พบว่า เน้นการศึกษาเพื่อความมั่นคงของรัฐ ซึ่งดูแลโดยกองทัพ ไม่ใช่ดูแลโดยกระทรวงศึกษาธิการ

ดังนั้นการศึกษาของไทยที่ผ่านมารอบ 10 ปี สะท้อนให้เห็นถึง ความไม่เสมอภาคด้านการศึกษา คือ เด็กทุกเพศ, ทุกสถานภาพทางเศรษฐกิจมีโอกาสเท่าเทียมที่ได้รับการศึกษาอย่างมีคุณภาพ เพราะเร่งให้เกิดการแข่งขัน ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและขยายความแตกต่างทางชนชั้นให้เลวร้าย เนื่องจากคนจนที่ไม่มีทุนสนับสนุน มีเพียงทุนสนับสนุนจากรัฐ ไม่สามารถย้ายการศึกษาไปยังสิ่งที่มีคุณภาพมากกว่าที่เป็นอยู่

“สิ่งที่แก้ไขในประเด็นด้านการศึกษา ต้องจัดการศึกษาแบบให้เปล่าอย่างมีคุณภาพ ไม่ใช่การเลือกเรียนอะไรก็ได้ตามใจชอบ แต่ต้องมีแกนกลางด้านการศึกษาที่จำเป็นต่อสังคมปัจจุบัน นอกจากนั้นคือการจัดสิ่งแวดล้อมการเรียนรู้ที่ปลอดภัย และมั่นคง อาทิ สภาพโรงเรียน, การเดินทางเข้าถึงโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา ขณะที่ประเด็นการสร้างตลาดเรื่องรองรับการจ้างงานของผู้ที่เรียนจบ ถือเป็นส่วนสำคัญด้วย” นายธนพงษ์ กล่าว

ด้าน น.ส.รุ่งรวิน แสงสิงห์ นักศึกษาวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฐานะนักศึกษาที่กู้ยืมเงินในโครงการกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา (กยศ.) กล่าว่าที่ผ่านมานักเรียนและ นักศึกษาไม่ได้รับการสนับสนุนจากนโยบายรัฐอย่างมีคุณภาพ แม้จะกำหนดโครงการ กยศ. แต่กลับถูกแบ่งแยกคุณสมบัติ โดยกำหนดสิทธิให้เฉพาะผู้ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์เท่านั้น ดังนั้นควรปรับปรุง และกำหนดให้การกู้ยืมเงินเป็นสวัสดิกาของผู้ที่ต้องการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาและสิทธิทางด้านการศึกษาอื่นๆ อย่างเท่าเทียมทุกคนอย่างแท้จริง รวมถึงการเรียนฟรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากกรณีที่สถาบันการศึกษาเรียกเก็บ เช่น ค่าจ้างครูชาวต่างประเทศ, ค่าเรียนคอมพิวเตอร์ เป็นต้น

ขณะที่ น.ส.พัชณีย์ คำหนัก นักกิจกรรมด้านแรงงาน กล่าวว่า นโยบายของรัฐบาลทหาร ด้านการศึกษาไม่สามารถยกระดับคุณภาพการศึกษาในประเทศได้ โดยมีจุดชี้ในกฎหมายว่าด้วยกยศ. อาทิ การหักหนี้ ณ ที่จ่าย คือ การหักเงินเดือนของผู้กู้ยืม กยศ.ผ่านทางบริษัทที่จ้างงาน สะท้อนให้เห็นว่า เป็นลูกหนี้ มากกว่า เป็นประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยและประชาชนทุกคนต้องเข้าถึงสวัสดิการการศึกษาอย่างเท่าเทียม เสมอภาค ส่วนประเด็นสิทธิการศึกษาตามร่างรัฐธรรมนูญที่ระบุให้จัดการศึกษาฟรี 12 ปี

แม้จะวางนโยบายและออกระเบียบเพื่อให้สอดคล้อง แต่ยังขาดสิ่งชี้วัดที่มีคุณภาพในแง่คุณภาพ เพราะที่ผ่านมาหน่วยงานด้านการศึกษายังมีสิ่งชี้วัดเฉพาะตัวเลข หรือเรื่องปริมาณเท่านั้น ดังนั้นเป็นสิ่งชี้วัดว่านโยบายที่ดี ไม่สามารถเกิดได้จากรัฐบาลเผด็จการ ดังนั้นภาคประชาชนต้องร่วมขับเคลื่อนประเด็นของตนเอง เพื่อนำไปสู่สิทธิและสวัสดิการเพื่อประชาชน