แบงก์กรุงเทพกำไรร่วง7%ไทยพาณิชย์กวาด 4.7 หมื่นล้าน

แบงก์กรุงเทพกำไรร่วง7%ไทยพาณิชย์กวาด 4.7 หมื่นล้าน

แบงก์โชว์ผลประกอบการงวดปี 59 แบงก์กรุงเทพกำไรร่วง 7% ขณะที่กรุงไทยเอ็นพีแอลเพิ่มแตะ 3.97% สินเชื่อหดแรง “ไทยพาณิชย์”กำไร 4.7 หมื่นล้าน

ธนาคารพาณิชย์ทยอยแจ้งผลการดำเนินงานงวดปี 2559 มายังตลาดหลักทรัพย์ ปรากฎว่า ธนาคารกรุงเทพมีกำไรสุทธิ 31,815 ล้านบาทลดลง 6.9% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน ขณะที่กรุงไทยมีกำไรเพิ่มขึ้น 13.28% แต่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3.97%ด้านไทยพาณิชย์กำไรทรงตัว

โดยธนาคารกรุงเทพ ระบุว่า  เศรษฐกิจไทยมีการฟื้นตัวอย่างช้าๆ โดยคาดว่าในระยะต่อไปเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในทิศทางขยายตัวตามแรงส่งจากการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐ แต่ยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนจากภาวะเศรษฐกิจโลก ขณะที่การบริโภคและลงทุนภาคเอกชนในประเทศมีแนวโน้มเติบโตในระดับต่ำ ธนาคารจึงยังคงยึดหลักความระมัดระวัง

ในปี 2599 สินเชื่อมีจำนวน 1,941,093 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.9 % จากสิ้นปี 2558 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อลูกค้าธุรกิจรายใหญ่และรายกลาง สินเชื่อลูกค้าบุคคล และสินเชื่อกิจการต่างประเทศ ขณะที่มีเอ็นพีแอล 3.2% ของเงินให้สินเชื่อรวม 

ด้านนายอาทิตย์ นันทวิทยา กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์งวดปี 259 มีกำไรสุทธิ 47,612 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.9% จากปี 2558 ซึ่งเป็นผลมาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ และรายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิที่เพิ่มขึ้น โดยที่สินเชื่อด้อยคุณภาพปรับตัวดีขึ้น ขณะที่สินเชื่อโต 5.8%

ส่วน อััตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมในปี 2559 อยู่ที่ 2.67% ลดลงจาก 2.89% ณ สิ้นปี 2558 มาจากการปรับตัวที่ดีขึ้นของคุณภาพสินเชื่อกลุ่มลูกค้าขนาดใหญ่ ในขณะที่ เอสเอ็มอีและลูกค้าบุคคล สินเชื่อด้อยคุณภาพยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 

ปีที่ผ่านมาตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญจำนวน 22,528 ล้านบาท หรือ 1.19% ของสินเชื่อรวม ลดลง 24.2% จากปี 2558

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าว่า ธนาคารตั้งเป้าจะมุ่งการเป็นที่ 1 ด้านสินเชื่อภาครัฐ ทั้งทางตรงและทางอ้อม จากเดิมสินเชื่อภาครัฐ หรือกลุ่มข้าราชการเคยเป็นเซ็คเม้นท์หลักของธนาคารแต่ที่ผ่านมาปรับลดลงจากการแข่งขันกันเองในกลุ่มสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ(SFI) ทำให้สัดส่วนสินเชื่อภาครัฐของธนาคารลดลงเหลือประมาณ 10 % ของสินเชื่อรวม

ธนาคารไม่ได้คาดหวังเฉพาะสินเชื่อที่ให้กับหน่วยงานภาครัฐโดยตรงเท่านั้น แต่เป็นการให้สินเชื่อในกลุ่มเอกชนที่รับงานหรือเกี่ยวข้องกับโครงการภาครัฐด้วย โดยตั้งเป้าจะมีส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณ 20-30% ในสินเชื่อที่เกี่ยวข้องกับโครงการภาครัฐทั้งหมดซึ่งคาดว่าจะมีประมาณ 4-5 แสนล้านบาท โดยจะเป็นการทยอยออกมา

ในปีนี้ตั้งเป้าสินเชื่อเติบโต 5% หลักๆ ก็จะมาจากการเติบโตของสินเชื่อภาครัฐ และกลุ่มสินเชื่อรายย่อย หรือเอสเอ็มอีที่น่าจะเติบโตได้มากกว่า 5% ทำให้สัดส่วนสินเชื่อภาครัฐขยับขึ้นจาก 10% เป็น 12% ของสินเชื่อรวม ขณะที่สินเชื่อผู้ประกอบการรายใหญ่ จะเติบโตได้ในระดับประมาณ 4%

“แนวโน้มผลการดำเนินงานในปีนี้ธนาคารจะพยายามรักษาระดับกำไรไม่ให้ต่ำกว่าปีที่ผ่านมา โดยแนวโน้มรายได้ค่าธรรมเนียมจะเติบโตสูงกว่ารายได้จากอัตราดอกเบี้ย แม้ว่าในปีนี้รายได้ค่าธรรมเนียมจะถูกกระทบจากการเปิดบริการพร๊อมเพย์ ที่คาดว่าจะกดปุ่มเริ่มในเร็วๆนี้ก็ตาม โดยในส่วนของการเตรียมพร้อมนั้น ธนาคารได้พร้อมเกิน100%”

นอกจากนี้ธนาคารยังมีแผนจะปรับแผนงานการบริหารหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือเอ็นพีแอล และสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีเอ) ใหม่ จากเดิมที่การบริหารจัดการจะมุ่งเน้นเฉพาะการปรับโครงสร้างหนี้เท่านั้น ขณะที่แห่งอื่นมีแนวทางการบริหารจัดการหลายอย่าง ทั้งการตัดขายเอ็นพีแอล และการขายทอดตลาด ทำให้สัดส่วนเอ็นพีแอลของธนาคารในช่วงที่ผ่านมาสูงกว่าคู่เทียบมาโดยตลาด ต่อไปก็จะปรับ เช่นก่อนจะขายเอ็นพีเอ อาจจะมีการปรับปรุงสินทรัพย์ก่อนเพื่อให้สามารถขายให้ได้ราคาดีขึ้น เป็นต้น โดยคาดว่าเอ็นพีแอลยังปรับเพิ่มขึ้นอยู่ ไปจนถึงปลายไตรมาส 1 ถึงต้นไตรมาส 2 แต่เป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง