'หอการค้า'คาดน้ำท่วมใต้ ธุรกิจสูญ1.89หมื่นล.

'หอการค้า'คาดน้ำท่วมใต้ ธุรกิจสูญ1.89หมื่นล.

"หอการค้า" ประเมินน้ำท่วมใต้ธุรกิจเสียหาย 1.89 หมื่นล. กระทบจีอาร์พีภาคใต้ 1.2% การเกษตรเสียหายสูงสุด 9.9 แสนไร่ "คปภ." ออก 6 มาตรการเยียวยา

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า จากการประเมินผลกระทบจากเหตุน้ำท่วมภาคใต้ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.ที่ผ่านมา พบว่า ความเสียหายในพื้นที่รวม 12 จังหวัด มีมูลค่าราว 2.23 หมื่นล้านบาท แบ่งออกเป็นความเสียหาย 2 ส่วน คือ ความเสียหายที่ไม่กระทบต่อการขยายตัวเศรษฐกิจ(จีดีพี) ได้แก่ ความเสียหายโครงสร้างพื้นฐาน บ้าน ถนน รวมประมาณ 3,400 ล้านบาท และความเสียหายที่กระทบจีดีพีของภาคธุรกิจ การเกษตร อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยวรวม 1.89 หมื่นล้านบาท

คาด“จีอาร์พี”ภาคใต้หด 1.2%

โดยผลกระทบที่เกิดขึ้นจะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมรายภาค (Gross Regional Product : GRP) ในพื้นที่ภาคใต้ปีนี้ หายไปประมาณ 1.2%จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวอยู่ที่ราว 3.2% เหลือเพียง 2% ขณะเดียวกันจะกระทบต่อภาพรวมของผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี) ปีนี้ในสัดส่วนเล็กน้อยประมาณ 0.1% จึงคาดว่าภาพรวมจีดีพีไทยปี 2560 จะยังคงขยายตัวอยู่ในกรอบ 3.6% อานิสงส์จากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล ประกอบกับภาคส่งออกของไทยเริ่มฟื้นตัวดี และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวยังคงขยายตัว

ท่วมใต้กระทบ“เกษตร”มากสุด

“เมื่อพิจารณาจากความเสียหายทั้งหมดแล้วต้องยอมรับว่าน้ำท่วมภาคใต้ส่วนใหญ่กระทบภาคการเกษตรมากที่สุด โดยสร้างความเสียหายเป็นมูลค่าราว 8,100 ล้านบาท ส่วนภาคอุตสาหกรรมเสียหาย 1,330 ล้านบาท ภาคการค้าเสียหาย 3,160 ล้านบาท ภาคท่องเที่ยว 3,960 พันล้านบาทและภาคอื่นๆ อย่างขนส่ง 2,410 ล้านบาท ซึ่งหากพิจารณาจากขนาดธุรกิจเอสเอ็มอีที่ได้รับความเสียหายประเมินเบื้องต้นราว 1.21 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 64.1%ของความเสียหายทั้งหมด ส่วนธุรกิจขนาดใหญ่ได้รับผลกระทบทางอ้อมจากวัตถุดิบผลิตหายากขึ้น”

นายธนวรรธน์ ยังกล่าวอีกว่า จากความเสียหายที่เกิดขึ้นกับพื้นที่ภาคการเกษตรซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ปลูกยางพารา ทำให้คาดว่าจะทำให้ราคายางพาราปรับตัวเพิ่มขึ้นในปีนี้ โดยคาดว่าจากปัจจัยดังกล่าวจะทำให้ราคายางซื้อขายเฉลี่ยอยู่ที่ราวกิโลกรัมละ 60 บาท

เร่งรัฐเยียวยา-ฟื้นฟูเกษตร

ส่วนมาตรการที่รัฐฯ ควรเร่งเข้าช่วยเหลือ คือ การฟื้นฟูภาคเกษตรให้พร้อมไม่ว่าจะเป็นเงินชดเชยช่วยเหลือ สร้างความเชื่อมั่นนักลงทุน รวมไปถึงการกระจายงบ 18 กลุ่มจังหวัดที่รัฐบาลอนุมัติไว้ 1 แสนล้านบาท ตลอดจนการผลักดันให้เกิดการลงทุนในพื้นที่ภาคใต้ จ้างงานและซื้อวัสดุเพื่อจะช่วยให้เศรษฐกิจภาคใต้ขยายตัวได้ ทั้งนี้จากการประเมินสถานการณ์เบื้องต้นคาดว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นจะทำให้ภาคธุรกิจเกิดอาการช็อกบ้างในช่วง 2 -3 เดือนหลังน้ำท่วมและมีการชะลอทั้งผลผลิตเกษตร ท่องเที่ยว และการค้า

นายธนวรรธน์ ยังกล่าวถึงผลสำรวจผู้ประกอบการภาคใต้ โดยพบว่าขณะนี้สัดส่วนธุรกิจที่ไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุน้ำท่วมประมาณ 40.7%และได้รับผลกระทบ 59.3%โดยน้ำท่วมปัจจุบันส่งผลต่อธุรกิจ 1.5 – 2 เดือน และมีผลทำให้ยอดขายลดลงประมาณ 10%เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้มีต้นทุนเพิ่มขึ้น 8.5%มีแหล่งวัตถุดิบลดลง 7.2%สต็อกสินค้าลดลง 3.3%กำไรลดลง 9.1%และยอดคำสั่งซื้อลดลง 7.6%นอกจากนี้ธุรกิจมองว่าน้ำท่วมจะกระทบเศรษฐกิจของจังหวัดในระดับมากถึงมากที่สุด 55.5%

ออมสินขอรัฐชดเชย"ซอฟท์โลน0%

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า เรื่องสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือน้ำท่วมภาคใต้ ธนาคารได้ทำสินเชื่อ0%อยู่แล้วเป็นสินเชื่อซ่อมแซมวงเงิน5หมื่นบาทต่อราย ดอกเบี้ย0%ในปีแรก ปีที่2-5ดอกเบี้ย1% และกำลังจะมีสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีออกไป เป็นดอกเบี้ยพิเศษ แต่อาจจะไม่ถึง0% เพราะธนาคารไม่ได้ขอให้รัฐชดเชยดอกเบี้ย ซึ่งหากให้ทำ0%ก็ต้องขอชดเชย

ด้านนายลือชัย ชัยปริญญา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส สายงานกลยุทธ์และผลิตภัณฑ์รายย่อยธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่าได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ประสบภัยน้ำท่วมในครั้งนี้ด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้กับลูกค้าสินเชื่อที่อยู่อาศัย โดยไม่คิดดอกเบี้ยและให้ชำระเพียงเงินต้นล้านละ 1,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน และปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ต่อปี ในเดือนที่ 4 -12

สำหรับลูกค้าสินเชื่อ Home for Cash ธนาคารปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% เป็นระยะเวลา 1 ปี

คปภ.เพิ่ม 6 มาตรการประกัน

นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ได้มีหนังสือสั่งการไปยังสำนักงาน คปภ.ภาคใต้ให้ดำเนินการช่วยเหลือไปแล้วยังได้เพิ่ม 6 มาตรการด้านประกันภัยเพื่อเร่งบูรณาการเยียวยาผู้ประสบภัยในพื้นที่ภาคใต้

ประกอบด้วย 1. แต่งตั้งคณะทำงานช่วยเหลือผู้เอาประกันภัยและผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม เพื่อประสานความร่วมมือด้านข้อมูลการจัดทำประกันภัยของผู้ประสบภัย ประสานงานการสำรวจภัยและการประเมินความเสียหาย รวมทั้งรวบรวมข้อมูลความเสียหาย ประสานติดตาม เร่งรัด ให้มีการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน รวดเร็ว ถูกต้องและเป็นธรรม

มาตรการที่ 2 สั่งการให้บริษัทประกันภัยสรุปรายงานความเสียหายและการจ่ายค่าสินไหมทดแทนจากสถานการณ์อุทกภัยครั้งนี้ส่งให้สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ สำนักงานคปภ.ทุกวันศุกร์ รวมทั้งผ่อนผันเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยในเขตพื้นที่ประสบอุทกภัยทางภาคใต้

มาตรการที่ 3ขยายเวลาการผ่อนผันการชำระเบี้ยประกันภัยให้กับผู้เอาประกันภัยจากเดิม 31 วัน เป็นไม่เกิน 91 วัน

มาตรการที่ 4ยกเว้นดอกเบี้ยและงดการตรวจสุขภาพในกรณีต่ออายุกรมธรรม์เป็นระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน นับแต่วันที่กรมธรรม์ประกันภัยหมดอายุ

มาตรการที่ 5ในการยกเว้นดอกเบี้ยการชำระคืนเงินกู้ชำระเบี้ยประกันภัยโดยอัตโนมัติภายใน 6 เดือน นับแต่วันที่ครบกำหนดชำระ

ส่วนมาตรการที่ 6 อนุญาตให้ตัวแทนประกันชีวิต ตัวแทนประกันวินาศภัย นายหน้าประกันชีวิต นายหน้าประกันวินาศภัยในพื้นที่ 12 จังหวัดภาคใต้ที่เกิดเหตุอุทกภัยที่ใบอนุญาตสิ้นอายุตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 สามารถขอขยายระยะเวลาพร้อมขอต่ออายุใบอนุญาตได้ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่เหตุการณ์ที่จำเป็นสืบเนื่องจากเหตุอุทกภัยนั้นได้สิ้นสุดลง

สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นกับทรัพย์สินที่ทำประกันภัยไว้ โดยข้อมูล ณ วันที่ 12 ม.ค.60 เบื้องต้นความเสียหายของรถยนต์ที่ทำประกันภัยไว้มีจำนวน 749 คัน ประเมินความเสียหายประมาณ 94.78 ล้านบาท