'สามารถ'ผนึกบ.สหรัฐเปิดไพรเวซีสมาร์ทโฟน

'สามารถ'ผนึกบ.สหรัฐเปิดไพรเวซีสมาร์ทโฟน

“กลุ่มสามารถ” เปิดเกมลุยหนักตลาดซิเคียวริตี้สำหรับลูกค้าคอนซูเมอร์ ผนึก “ไซเลนท์ เซอร์เคิล” เปิดไพรเวซี่สมาร์ทโฟน “แบล็คโฟน 2”

นายวัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.สามารถคอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า บุกเบิกธุรกิจใหม่กลุ่มซิเคียวริตี้สำหรับลูกค้าคอนซูเมอร์
โดยเมื่อ 18 พ.ย.2559 จัดตั้งบริษัท ซีเคียว เอเชีย จำกัด ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการด้านโซลูชั่นด้านความปลอดภัย ทั้งอุปกรณ์และซอฟต์แวร์ ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ยุคดิจิทัล ดูแลตลาดทั้งภูมิภาคอินโดจีน ประเทศไทย ลาว พม่า เวียดนาม และกัมพูชา

ทั้งนี้ มุ่งทำตลาด 3 กลุ่มคือ โมบายแอพพลิเคชั่น ซิเคียวริตี้ ดาต้าซิเคียวริตี้ และไลฟ์ซิเคียวริตี้ จากนี้จะผสานกำลังกับบริษัทภายในเครือเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้ธุรกิจ ทำให้ตอบโจทย์ลูกค้าได้ทั้งเชิงคอนซูเมอร์และเอ็นเตอร์ไพรซ์

"เราไม่ได้มองแค่บนสมาร์ทโฟน แต่รวมไปถึงซิเคียวริตี้ทั้งระบบ ทั้งจะเป็นส่วนหนึ่งที่เข้ามาช่วยสร้างความยั่งยืนให้ธุรกิจ ด้วยแหล่งรายใหม่ๆ กลุ่มบริการซอฟต์แวร์ นอกเหนือไปจากการขายตัวเครื่องเพียงอย่างเดียว”

บริษัทมั่นใจว่า ตลาดซิเคียวริตี้ประเทศไทยมีโอกาสขยายตัวได้อีกมาก รับปัจจัยบวกการมาของฟินเทค พร้อมเพย์ การขยายตัวของภัยไซเบอร์ รวมไปถึงการบังคับใช้พ.ร.บ.คอมพ์ฉบับใหม่

ล่าสุด ร่วมมือกับบริษัท ไซเลนท์ เซอร์เคิล ผู้ให้บริการเทคโนโลยีความปลอดภัยบนสมาร์ทโฟนจากสหรัฐ เปิดตัวไพรเวซี่ สมาร์ทโฟน "แบล็คโฟน 2 (blackphone 2)” ในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ครั้งนี้ยังเป็นความร่วมมือแบบเอ็กซ์คลูซีฟกับบริษัทเพียงรายเดียว เปิดราคาที่ 22,900 บาท พร้อมรับบริการเสริม “ไซเลนท์ เวิล์ด” โทรทางไกลต่างแดนฟรี 100 นาทีต่อเดือน นาน 12 เดือน ล็อตแรกนำเข้ามา 2,000 เครื่อง

สมาร์ทโฟนดังกล่าวมาพร้อม ระบบรักษาความปลอดภัยที่ดีที่สุดซึ่งสามารถเก็บข้อมูลส่วนตัวและข้อมูลสำคัญได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำงานบนไซเลนท์ โอเอส ซึ่งพัฒนาบนพื้นฐานแอนดรอยด์ โดดเด่นทั้งการป้องกันความปลอดภัยการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล แยกบัญชีการใช้งานได้ถึง 4 บัญชี ป้องกันการเชื่อมต่อไวไฟที่มีความเสี่ยง และการสั่งการลบข้อมูลจากระยะไกล

อย่างไรก็ดี วางตำแหน่งทางการตลาดเป็นโทรศัพท์เครื่องที่ 2 โดยมุ่งเจาะกลุ่มเป้าหมายคนที่ต้องการความเป็นส่วนตัวในการติดต่อสื่อสาร มีความลับทางธุรกิจ รวมถึงข้อมูลส่วนบุคคล เช่นนักธุรกิจ นักลงทุน นักการเมือง ข้าราชการ ทหาร ดารา และคนดัง

หลังจากนี้บริษัทจะทำตลาดโดยพิจารณาความต้องการลูกค้าแบบเฉพาะทางภายใต้แบรนด์สินค้าที่ต่างกันไปซึ่งอาจมีมากกว่า 2 แบรนด์ ขณะที่สมาร์ทโฟนแบรนด์ไอโมบายยังคงให้ความสำคัญเหมือนเดิม โดยกลุ่มลูกค้ามุ่งเจาะตลาดระดับกลาง ถึงล่าง

สำหรับช่องทางการจัดจำหน่าย เน้นขายผ่านช่องทางออนไลน์ มีขายที่ไอโมบายช้อป คอลล์เซ็นเตอร์ รวมไปถึงกำลังเข้าไปเจรจากับผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ 3 ราย ด้านการตลาดวางประมาณไว้กว่า 30 ล้านบาท กว่า 60% จะใช้ไปกับดิจิทัลมีเดีย

บริษัทคาดว่าปี 2560 ซีเคียว เอเชียจะมีรายได้ไม่น้อยกว่า 300 ล้านบาท ทำยอดขายแบล็คโฟนได้ราว 1-2 หมื่นเครื่อง

พร้อมระบุว่า กลุ่มสามารถมุ่งเปลี่ยนผ่านธุรกิจรองรับการมาของยุคดิจิทัล เมกะเทรนด์อินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ ปีนี้เตรียมเปิดตัวบริษัทใหม่อีกไม่น้อยกว่า 2 บริษัท เพื่อรองรับงานด้านโมบายแอพพลิเคชั่น รวมถึงที่เกี่ยวข้องกับโทรคมนาคม

นอกจากนี้ อนาคตจะต่อยอดจัดทำโครงการร่วมกันกับไซเลนท์ เซอร์เคิล ทั้งเป็นไปได้ว่าจะนำระบบรักษาความปลอดภัยมาลงในสมาร์ทโฟนแบรนด์ไอโมบายด้วย