ดร.แสงจันทร์ เสนาปิน สานต่อพระราชปณิธาน อภิบาล'ปลานิล'

ดร.แสงจันทร์ เสนาปิน สานต่อพระราชปณิธาน อภิบาล'ปลานิล'

แรงบันดาลใจจากในหลวงรัชกาลที่ 9 สู่งานวิจัยที่ไม่ได้วางอยู่บนหิ้ง

“ก็เลี้ยงมันมาเหมือนลูก แล้วจะกินมันได้อย่างไร”

กระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ถึงสาเหตุที่ไม่โปรดเสวยปลานิล ไม่เพียงบ่งบอกว่า ปลานิล เป็นพันธุ์ปลาพระราชทานจากในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่พระองค์ได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายจากสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ แต่ยังเป็นปลาที่ทรงทดลองเลี้ยงดูฟูมฟักด้วยพระองค์เองในบ่อดิน ณ บริเวณพระตำหนักจิตรลดา ก่อนพระราชทานให้กรมประมงนำไปเพาะขยายพันธุ์เพื่อแจกจ่ายแก่ราษฎร

จาก “ปลานิล” เพียง 50 ตัว ที่ได้รับการถวายในวันนั้น จวบจนถึงวันนี้ ปลานิลได้ถูกนำมาเพาะเลี้ยงอย่างกว้างขวาง จนกลายเป็น “ปลาเศรษฐกิจ” และเป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญของพสกนิกรชาวไทย ทั้งนี้ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พบว่า ประเทศไทยมีการผลิตปลานิลประมาณ 200,000 ตันต่อปี ถือเป็นผู้ผลิตอันดับ 5 ของโลก นับเป็นสัตว์น้ำที่ช่วยสร้างอาชีพและสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรไทยอย่างมาก

หากแต่การจะส่งเสริมให้ปลานิลยังคงเป็นสัตว์เศรษฐกิจและเป็นแหล่งโปรตีนชั้นดีราคาถูกให้ประชาชนได้อย่างยั่งยืนนั้น สิ่งสำคัญคือการวิจัยและพัฒนา ทั้งในเรื่องของพ่อแม่พันธุ์ ระบบการเพาะเลี้ยง โภชนาการ และที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ การติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวังสถานการณ์โรคระบาด หนึ่งในปัญหาที่สร้างความเสียหายให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำในวงกว้าง

ดร.แสงจันทร์ เสนาปิน นักวิจัยอาวุโส หน่วยวิจัยเพื่อความเป็นเลิศเทคโนโลยีชีวภาพกุ้ง หน่วยงานภายใต้ความร่วมมือระหว่างศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. และคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คือหนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ที่ได้มุ่งมั่นนำความรู้ทางด้านอณูชีววิทยาและเทคโนโลยีชีวภาพ (Molecular Biology) มาใช้ศึกษาวิจัยโรคอุบัติใหม่และอุบัติซ้ำในสัตว์น้ำเศรษฐกิจ เช่น ปลานิล และกุ้ง ในระดับโมเลกุลมากว่า 13 ปี 

ผลงานวิจัยที่ผ่าน ไม่เพียงสามารถเฝ้าระวังการเกิดโรค ควบคุม และลดปัญหาความสูญเสียจากโรคระบาดในกุ้งและปลาหลายชนิด หลายชิ้นยังนำไปสู่การพัฒนาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพและจำเพาะต่อเชื้อโรคสายพันธุ์ท้องถิ่น ลดการนำเข้าวัคซีนจากต่างประเทศ และลดการใช้ยาปฏิชีวนะในภาคอุตสาหกรรม

ด้วยผลงานวิจัยที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมมาอย่างต่อเนื่อง ดร.แสงจันทร์ ได้รับเลือกให้เป็นนักวิจัยสตรีรุ่นใหม่ที่ได้รับทุนวิจัยในสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพเมื่อปี 2554 (ทุนลอรีอัล) จากหัวข้องานวิจัยเรื่อง “การศึกษาชีววิทยาโมเลกุลกุ้ง ด้วยเทคนิคยีสต์ทูไฮบริด” และล่าสุดยังคว้ารางวัลวิจัยทะกุจิ ประเภทนักวิจัยดีเด่น ประจำปี 2559 จากสมาคมเทคโนโลยีชีวภาพแห่งประเทศไทย ในผลงานเรื่อง “งานวิจัยโรคอุบัติใหม่และอุบัติซ้ำในกุ้งและปลา: เชื้อโรค กลไกก่อโรค และการตรวจวินิจฉัย” มาครองได้สำเร็จ

 

วิจัยเพื่อรักษา 'ปลาของพระราชา'

ปลานิล แม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นปลาที่เลี้ยงง่าย ขยายพันธุ์เร็ว แต่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงมักต้องประสบปัญหาการตายจากโรคระบาด หรือการติดเชื้อโรคต่างๆ อยู่บ่อยครั้ง ซึ่งหากไม่สามารถจัดการ ควบคุมการระบาดได้ทัน ก็อาจสูญเสียผลผลิตได้มากถึง 100% โดยล่าสุดพวกเขาต้องเผชิญกับปัญหา “ไข่ปลานิลไม่ฟักตัวและเปลี่ยนเป็นสีแดง” และนั่นก็ส่งผลให้ผลผลิตเกิดความเสียหายมากกว่า 50%

จากปัญหาดังกล่าว ดร.แสงจันทร์ และทีมวิจัย ได้ศึกษาวิจัยคัดแยกเชื้อโรคจากไข่ปลานิล และใช้องค์ความรู้ทางด้านอณูชีววิทยาและเทคโนโลยีชีวภาพ ในการตรวจพิสูจน์โรค จนค้นพบว่าโรคที่ทำให้ไข่ปลานิลไม่ฟักตัวนั้น มาจากเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า ฮาเฮลลา เชจูเอ็นซิส (Hahella chejuensis) ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่ในไข่ปลานิลและปลาทับทิมที่ไม่เคยมีรายงานมาก่อน

 “ในงานวิจัย เราแยกเชื้อออกมาเพื่อพิสูจน์โรค ด้วยวิธีที่ชื่อว่า ค็อกช์ โพสทูเลตส์ (Koch's postulates) เป็นการแยกเชื้อออกจากปลาที่ป่วย แล้วนำเอาเชื้อนั้นกลับไปติดในสิ่งมีชีวิตที่ปกติ เพื่อเป็นการยืนยันว่าเป็นเชื้อต้นเหตุจริงๆ ซึ่งตอนที่แยกเชื้อออกจากไข่ปลานิลสีแดง เราพบเชื้อแบคทีเรียสีแดง จึงทดลองนำเชื้อแบคทีเรียนี้ไปทดลองบ่มกับไข่ปลานิลปกติ ปรากฏว่าไข่ปลาปกติก็เปลี่ยนเป็นสีแดงแล้วก็ไม่ฟักเป็นตัว และเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุมที่เราไม่ได้เพาะเชื้อแบคทีเรียสีแดงใส่ลงไป ก็พบว่าไข่ปลาไม่เปลี่ยนเป็นสีแดงแล้วก็ฟักตัวออกมาได้ปกติ 

หลังจากพิสูจน์แน่ชัดว่าสาเหตุที่ไข่ปลานิลไม่ฟักตัวเกิดจากแบคทีเรียสีแดง ทีมวิจัยได้นำเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ไปตรวจยีน จนพบว่าเป็นแบคทีเรียสายพันธุ์ Hahella chejuensis ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่พบว่าแบคทีเรียชนิดนี้เป็นสาเหตุของโรคที่ทำให้ไข่ปลานิลไม่ฟักตัว”

แน่นอนว่าการทราบถึงเชื้อต้นตอของโรคที่แท้จริงย่อมนำไปสู่การจัดการหรือป้องกัน เพื่อลดความเสียหายที่เกิดจากโรคดังกล่าวให้แก่เกษตรกรได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“เราศึกษาเชื้อแบคทีเรีย Hahella chejuensis จนพบว่า เชื้อแบคทีเรียตัวนี้ชอบอยู่ในที่อุณหภูมิเย็นและชอบความเค็มสูง ขณะที่ปลานิลเป็นปลาน้ำจืด แต่เมื่อสอบถามเกษตรกรก็พบว่า ในช่วงของการฟักไข่และเพาะเลี้ยงลูกปลานั้น เกษตรกรจะเพาะฟักไข่ในน้ำเค็มระดับหนึ่ง เพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดอื่นๆ จึงเป็นสาเหตุให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย Hahella chejuensis ที่ก่อโรคในไข่ปลานิล ซึ่งชอบความเค็มแทน โดยเมื่อได้แจ้งข้อมูลให้เกษตรกรทราบ พวกเขาก็พยายามปรับลดความเค็มของน้ำในโรงเพาะฟักที่ใช้เลี้ยงอนุบาลลูกปลานิลลง ส่วนเรื่องความเย็นแก้ปัญหาด้วยการหุ้มพลาสติกล้อมรอบโรงเพาะฟักเพื่อเพิ่มอุณหภูมิในช่วงที่มีอากาศเย็น นอกจากนั้นแล้วยังนำทรายกรองน้ำออกไปตากแดดเพื่อฆ่าแบคทีเรีย ซึ่งล่าสุดพบว่าปัญหาโรคไข่ปลานิลไม่ฟักตัวลดลง ช่วยลดความสูญเสียให้เกษตรกรได้อย่างมากทีเดียว”

นอกจากนี้ ดร.แสงจันทร์ และทีมวิจัย ยังได้ทำงานร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ในการศึกษาโรคอุบัติใหม่ในปลานิลหลายโรค พร้อมทั้งหาแนวทางการใช้โปรตีนจากแบคทีเรีย Aeromonas ในการพัฒนาเป็นวัคซีนด้วย

 

เฝ้าระวังโรคกุ้ง ทวงแชมป์ส่งออก

นอกจากปลานิลที่เป็นแหล่งโปรตีนสำคัญของคนไทยทั้งประเทศแล้ว สัตว์น้ำเศรษฐกิจสำคัญอีกชนิดหนึ่งก็คือ “กุ้ง” เพราะประเทศไทยเคยได้ชื่อว่าเป็นแชมป์ส่งออกกุ้งของโลกมายาวนาน ทว่าในช่วงระยะหลังที่ผ่านมา ประเทศไทยกลับต้องเสียแชมป์ด้วยปัญหาโรคระบาด ที่สร้างความเสียหายแก่อุตสาหกรรมกุ้งของไทยอย่างรุนแรง

ดร.แสงจันทร์ และทีมวิจัยได้ศึกษาเพื่อเฝ้าระวังโรคอุบัติใหม่และโรคอุบัติซ้ำในกุ้งอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดความสูญเสียจากปัญหาการเกิดโรคระบาดในกุ้ง โดยตัวอย่างผลงานวิจัยที่นำไปสู่การเฝ้าระวังการเกิดโรคระบาดได้อย่างมีประสิทธิผล คือการศึกษาโรคอุบัติใหม่ในกุ้งขาว ที่เกิดจากเชื้อไวรัส Infectious myonecrosis virus (IMNV) ซึ่งก่อโรคกล้ามเนื้อตายและทำให้กุ้งตายได้ถึง 70%

 “ตอนนั้นมีข่าวลือเยอะมาก มีคนส่งกุ้งขาวมาให้หน่วยกุ้งตรวจเยอะมาก เรียกว่าทำงานอย่างหนัก กระทั่งมีเครือข่ายเกษตรกรส่งตัวอย่างกุ้งขาวจากประเทศอินโดนีเซียมาให้ตรวจ ปรากฏว่าตัวอย่างกุ้งขาวจากประเทศอินโดนีเซียติดเชื้อ IMNV จริง และได้ทำการศึกษาเปรียบเทียบลำดับเบสในจีโนมของไวรัส IMNV ทำให้ทราบว่าสายพันธุ์ที่พบในอินโดนีเซียมีความเหมือนกับที่พบในบราซิลถึง 99.6% ประกอบกับข้อมูลการนำเข้ากุ้งจากผู้เลี้ยงกุ้งในประเทศอินโดนีเซีย ทำให้สันนิษฐานได้ว่าสาเหตุของการระบาดเกิดจากการลักลอบนำกุ้งจากประเทศบราซิลเข้าไปในประเทศอินโดนีเซีย โดยไม่ผ่านการตรวจโรคตามข้อกำหนด”

เมื่อยืนยันได้ถึงการติดเชื้อดังนี้แล้ว ทีมวิจัยได้รายงานการระบาดไปยัง NACA (Network of Aquaculture Centres in Asia-Pacific) ในปี 2007 เพื่อเผยแพร่ข่าวสารและร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในการรณรงค์การเฝ้าระวังการระบาดของไวรัสชนิดนี้ในประเทศไทย และประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รวมทั้งยังได้พัฒนาชุดตรวจโรคกล้ามเนื้อตายจากการติดเชื้อไวรัส IMNV ได้สำเร็จ ซึ่งนั่นทำให้การระบาดของไวรัส IMNV ยังไม่ลุกลามไปประเทศอื่นจนถึงปัจจุบัน ที่สำคัญการวิจัยในครั้งนั้นยังนำมาสู่การค้นพบการติดเชื้อไวรัส Macrobrachium rosenbergii nodavirus (MrNV) ที่ก่อโรคกล้ามเนื้อตาย ข้ามสายพันธุ์จากกุ้งน้ำจืดมาเป็นกุ้งทะเลด้วย

อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของ ดร.แสงจันทร์ ผลงานวิจัยที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นว่า โรคต่างๆ ที่พบในสัตว์น้ำทั้งกุ้งและปลา ล้วนมีการพัฒนาตัวเองหรือปรับตัวอยู่ตลอด บางชนิดกลายพันธุ์เป็นเชื้อที่รุนแรงกว่าเดิม ขณะที่โรคอุบัติใหม่ หรือโรคอุบัติซ้ำปรากฏขึ้นอย่างต่อเนื่อง

“เราไม่รู้เลยว่าผู้ร้ายรายต่อไปจะเป็นเชื้อโรคตัวใด ฉะนั้นเราจึงไม่สามารถหยุดวิจัยหรือพัฒนาได้ การติดตามอัพเดทสถานการณ์โรคอยู่เสมอๆ จะช่วยให้เราติดตาม เฝ้าระวัง และเตรียมรับมือได้อย่างทันการณ์ นั่นคือหนทางที่จะช่วยลดความสูญเสียให้กับเกษตรกรและประเทศชาติได้ดีที่สุด”

น้อมนำ“คำพ่อ”สอน

เหนือสิ่งอื่นใด ความมุ่งมั่นตั้งใจในการผลักดันงานวิจัยที่ใช้ได้จริงสู่มือเกษตรกร ดร.แสงจันทร์ บอกว่ามีต้นแบบในการดำเนินชีวิตและการทำงานมาจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 พระมหากษัตริย์ผู้ทรงงานเพื่อพสกนิกรมาโดยตลอด

“มีคนเคยถามเราเยอะมากว่าใครคือต้นแบบในการดำเนินชีวิต ตอบได้เลยว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านเป็นต้นแบบในการทำเพื่อผู้อื่นเสมอมา ซึ่งเราในฐานะนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องของโรค หรือในด้าน Molegular Biology ถ้างานวิจัยเราได้ไปช่วยเขา ทำให้เขายังมีอาชีพอยู่ ไม่สูญเสียรายได้ ก็น่าจะเป็นประโยชน์ นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำทั้งโลก 90% มาจากประเทศทางเอเชีย ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย ส่วนการผลิตปลานิล ประเทศไทยก็อยู่อันดับต้นๆ ของโลกมาตลอด ดังนั้นในเมื่อเราเห็นว่าประเทศไทยเป็นผู้นำในการผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ ก็อยากให้งานวิจัยของเราได้มีส่วนช่วยในการเพิ่มศักยภาพการผลิตและการเพาะเลี้ยงของเกษตรกร”

ที่สำคัญ หลังเหตุการณ์การสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ความมุ่งมั่นดังกล่าวได้กลายเป็นปณิธานที่จะสานต่อแนวพระราชดำริ พัฒนางานวิจัยเพื่อส่งเสริมการเพาะเลี้ยงปลานิลให้ดีที่สุด

“เมื่อทราบว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จสู่สวรรคาลัย รู้สึกเสียใจมาก ตอนนั้นเราเห็นจิตอาสาเยอะเลยที่ออกมาทำหลายๆ อย่างเพื่อถวายความอาลัยต่อพระองค์ท่าน เราก็คิดอยู่ อยากชวนเพื่อนมาช่วยกันทำอะไรสักอย่าง แต่นั่นก็กลายเป็นจุดประเด็นขึ้นมาว่า งานวิจัยเรื่องปลานิลนั่นแหละ เพราะในหลวงเคยตรัสว่า ปลานิลเป็นลูกของท่าน พระองค์ท่านไม่เสวยปลานิล และนี่คืองานวิจัยที่เราทำอยู่ ก็เหมือนกับเราดูแลลูกของท่าน ถ้าสมมติปลานิลป่วยขึ้นมา ด้วยสาเหตุอะไร เราจะแก้ปัญหาอะไรได้บ้าง เพื่อสืบสานปณิธานของในหลวงที่อยากให้ปลานิลเป็นแหล่งโปรตีนให้กับพสกนิกรของพระองค์ท่าน"

สำหรับ ดร.แสงจันทร์ การน้อมนำสิ่งที่พระองค์ทรงสอนจึงไม่เพียงเพื่อประโยชน์ของตัวเอง แต่เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ก่อนจะทิ้งท้ายว่า..."จะทำงานวิจัยให้ดีที่สุดเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม ต่อประเทศชาติต่อไป”