นักเดินป่าตัวน้อยแห่งครอบครัวผจญภัย

นักเดินป่าตัวน้อยแห่งครอบครัวผจญภัย

เมื่อพ่อแม่เป็นนักเดินป่าสายลุย ลูกชายตัวน้อยจึงต้องกลายเป็นขาลุยไปด้วย

เมื่อคู่รักนักเดินป่าที่พากันบุกป่าเดินเขาทั้งในและต่างประเทศ มีสมาชิกใหม่มาเป็นโซ่ทองคล้องใจ แผนที่พวกเขาวางไว้ว่ายังอยากจะลุยไปบนภูเขาอีกสารพัดลูกก็มีอันต้องเปลี่ยนแปลง เหมือนกับอีกหลายครอบครัวที่พอมีลูกชีวิตก็ต้องเปลี่ยนไป

แต่ครอบครัวของ ดำเกิง - ธำรง ปิยะนราพร และโบว์ - ปฏิมา ลิขิตธรรมนิตย์ แห่ง PATHWILD ร้านอุปกรณ์เดินป่าและวิ่งเทรล พวกเขาไม่คิดจะเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ตัวเองไปโดยสิ้นเชิง อลัน – อรัญ ปิยะนราพร ลูกชายวัยย่าง 4 ขวบของป๊าเกิงและแม่โบว์จึงต้องเดินทางไปกับพ่อแม่ กลายเป็นหนูน้อยนักผจญภัยตัวจิ๋วที่ท่องโลกมากกว่าผู้ใหญ่บางคนเสียอีก

จากเป้บนหลังพ่อแล้วเดินต่อเอง

ปฏิมาและธำรงพาอลันในวัย 8 เดือน ไปทริปเดินป่าครั้งแรกที่ภูกระดึง ที่เลือกภูกระดึงเป็นแห่งแรกเพราะเป็นป่าที่ง่ายที่สุด มีสิ่งอำนวยความสะดวก มีทุกอย่างขายอยู่บนนั้นพร้อม ไม่ต้องแบกของไปมาก เว้นแต่เป้อุ้มเด็กที่ออกแบบมาเพื่อแบกเด็กเดินป่าโดยเฉพาะ

“เราอยากทดสอบว่าแบกเขาแล้วเป็นอย่างไร เรามีประสบการณ์เดินป่าแบกเป้ 15 - 20 กก. ก็มั่นใจว่าแบกเขาไหวอยู่แล้ว ตอนนั้นเขาหนัก 7- 8 กก. รวมเป้ก็ 10 กว่ากก. แต่อยากรู้ว่าประสบการณ์ร่วมระหว่างกันเป็นอย่างไร”

ทริปนั้นก็ผ่านไปด้วยดี อลันหลับสบายอยู่บนเป้ เพียงแต่ต้องแวะพักบ่อยขึ้น เพื่อให้นมและให้ลงมายืดเส้นยืดสายบ้าง ปฏิมาบอกว่าเป็นความโชคดีที่อลันดื่มนมแม่ จึงไม่ต้องพกอุปกรณ์ชงนมไปมากมาย

หลังจากทริปภูกระดึง ซึ่งอลันอยู่บนเป้แค่ช่วงเดินขึ้นลงเขา ทั้งสองก็ทดลองการอยู่บนเป้ให้นานขึ้นกับทริปญี่ปุ่น ซึ่งเป็นทริปเที่ยวเมือง แต่ต้องเดินเกือบทั้งวัน อลันในวัย 9 เดือนจึงต้องอยู่ในเป้บนหลังพ่อเกือบทั้งวัน ซึ่งเด็กชายก็ไม่มีปัญหาอะไร

เมื่อแน่ใจว่าลูกชายอยู่บนเป้ได้สบายแล้ว พวกเขาก็เพิ่มความระห่ำขึ้นด้วยการพาลูกไปเลห์ เมืองหลวงของแคว้นลาดักห์ แคชเมียร์ ประเทศอินดีย ซึ่งสูงเหนือระดับน้ำทะเลราว 3,500 เมตร ซึ่งหลายคนไม่เห็นด้วย เพราะความสูงระดับนั้นหลายคนก็แพ้ความสูง และกลัวว่าเด็กจะเกิดอาการแพ้ความสูงแล้วไม่สามารถบอกได้ เพราะอลันเพิ่งอายุเพียงขวบกว่าเท่านั้น

“ผมหาข้อมูลก็เจองานวิจัยว่าเด็กไม่ค่อยแพ้ความสูง การปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นความสูงหรือความหนาว เด็กจะปรับตัวได้ดีกว่าผู้ใหญ่ ยิ่งเด็กยิ่งปรับง่าย โดยส่วนตัวพวกเราก็ไม่แพ้ความสูงด้วย แต่เราไม่ประมาท เตรียมข้อมูลไป ไม่ได้เตรียมยา แต่เตรียมวิธีสังเกตอาการ เตรียมเอกสารที่เป็นภาษาอังกฤษเพื่อสื่อสารเรื่องการรักษา ว่าหากเกิดอาการขึ้นมาจะรักษาอย่างไร”

อาการแพ้ความสูงสามารถรับมือได้ด้วยการปรับตัว มนุษย์สามารถดำรงชีวิตได้ที่ความสูงที่สุดราว 5,000 เมตร แต่ต้องมีการปรับตัวก่อน คนแพ้ความสูงเพราะปรับตัวไม่ทัน ซึ่งแต่ละคนจะใช้เวลาในการปรับไม่เท่ากัน ทริปนั้น พวกเขาจึงวางแผนเดินทางแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยเดินทางไปลงที่ศรีนาคา ณ ความสูงราว 2,000 กว่าเมตรเหนือระดับน้ำทะเลก่อน อยู่ที่นั่น 2 คืน แล้วเดินทางต่อมาอีกครึ่งทางเพื่อพักที่เมืองคาร์กิล ก่อนที่จะไปเลห์ ซึ่งใช้เวลารวม 4 วัน ค่อยๆ เพิ่มความสูงให้ร่างกายได้มีเวลาปรับตัว ทริปนั้นอลันจึงไม่มีอาการแพ้ความสูงเลย ร่าเริง กินอิ่ม นอนหลับ ผู้ใหญ่บางคนเสียอีกที่มีอาการ ทริปนี้จึงเป็นการยืนยันว่าข้อมูลที่พวกเขาหามานั้นถูกต้อง

หลังจากนั้นก็มีทริปต่างๆ ก็ตามมา ตั้งแต่เชียงดาว ภูสอยดาว สิกขิม ไม่นับการท่องเที่ยวที่ไม่ใช่เดินป่าก็ไปบ่อยมาก จนอลัน 3 ขวบ ก็ได้ไปเทรคกิ้งที่ญี่ปุ่นบนภูเขายาริกาตาเกะ (Yarigatake) ที่ความสูงราว 3,150 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ซึ่งมีธรรมชาติงดงามและการจัดการที่ดี ทริปนั้นทั้งเดินหนักและแบกของหนัก พ่อแบกลูกที่น้ำหนักเพิ่มขึ้นมาก แม่ที่ต้องแบกของส่วนตัวของทุกคน ต้องแบกของกันคนละ 15 – 16 กก. จึงเป็นทริปที่ธำรงประกาศ “แขวนเป้” ทริปหน้าจะให้ลูกชายเดินเองแล้ว

เด็กแกร่งกว่าที่คิด

ทริปที่ย่าติง (Yading) ประเทศจีน เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา หนูน้อยวัย 3 ขวบครึ่งไม่ใช้บริการ “ขี่หลังป๊าพาทัวร์” แล้ว พ่อแม่ตั้งใจให้เขาเดินเอง โดยไม่ได้กำหนดว่าเขาจะต้องเดินไกลแค่ไหน

“ปรากฏว่าเขาเดินได้ มีเดินหนักๆ 2 วัน วันแรก 4 กม. เขาจะงอแงหน่อย เพราะผมแบกเป้ไปเผื่อ กลายเป็นว่าพอเขาเห็นเราแบกเป้ ซึ่งเขาโตมาในเป้ใบนี้ เขาเลยไม่เข้าใจว่าทำไมเขาไม่ได้ขึ้น เลยงอแงจะขึ้นเป้ ต้องปลอบกันไปตลอดทาง ก็ผ่านมาได้ พอวันที่ 2 ผมเลยไม่เอาเป้ไป เขาไม่เห็นเป้ ก็ไม่งอแง วันนั้นเลยเดินรวมทั้งวัน 8 กม. เจอศาลาก็พักนอน ที่นั่นสูง แต่เป็นทางเรียบปูด้วยไม้ เป็นเส้นทางชมธรรมชาติที่เหมาะกับการที่พาเด็กเดินมาก”

การเดินทางในแต่ละทริปทั้งสองจะมีการหาข้อมูลเส้นทางว่าเป็นอย่างไร ซึ่งมีจุดประสงค์แฝงอยู่พอสมควรว่าพวกเขาได้เรียนรู้อะไรจากสิ่งที่ลูกทำได้ อย่างทริปย่าติงซึ่งสูงแต่เดินไม่ยาก ก็ทำให้ได้รู้ว่าอลันสามารถเดินทางไกลได้แค่ไหน และนั่นจะเป็นเกณฑ์สำหรับวางแผนในทริปต่อไป

หลายคนคิดว่าการพาลูกเที่ยวแบบนี้ค่อนข้างอันตราย ธำรงก็เห็นด้วย แต่เขาคือนักเดินป่าผู้มีประสบการณ์ รู้จักการเดินป่า รู้จักตัวเอง และรู้จักศักยภาพของลูก เขาจึงเตรียมข้อมูล ใช้ความระมัดระวัง และค่อยๆ ทดลองเรียนรู้การเดินทางระหว่างพวกเขาและลูก หากพ่อแม่ที่ไม่เคยเดินป่า เขาก็ไม่กล้าแนะนำเต็มปากเต็มคำว่าควรไป แต่อย่างน้อย การให้เด็กได้สัมผัสกับธรรมชาติ ค้นพบว่าเขาทำอะไรได้บ้างก็เป็นสิ่งสำคัญกับทั้งพัฒนาการของเด็กและตัวพ่อแม่เอง

“เราคุยกันตั้งแต่ลูกยังเล็กๆ ว่า ตอนเดินป่าเราจะเจอชาวเขาเผ่าต่างๆ บ่อย สังเกตได้ว่าเด็กชาวเขาไม่เห็นป่วยเลย แข็งแรง วิ่งตื๋อ ในขณะที่เพื่อนๆ เราในสังคมเมือง ลูกเข้าโรงพยาบาลตลอด ผมเชื่อว่าเด็กเขามีความแข็งแรงตัวเองอยู่แล้วในการที่จะเติบโตขึ้นมา เพียงแต่ว่าเราได้เปิดโอกาสให้ความสามารถนั้นได้พัฒนาตัวเองขึ้นมาหรือเปล่า หรือว่าไม่ให้เขาเจออากาศร้อน ไม่ให้เขาเจออากาศหนาว เรามัวแต่กลัวและปกป้องเขาทุกทาง คือเราเปลี่ยนโลกให้เขา แต่ไม่ได้เปลี่ยนเขาให้เข้ากับโลก เขาเกิดมาโลกไม่ใช่ของเขา เขาต้องปรับตัวและเรียนรู้ว่าโลกมีร้อน มีหนาว มีฝน เขาจะปรับตัวได้เอง เราแค่ไปจี้ให้เขาพัฒนาความสามารถตรงนี้ออกมา มันมีอยู่ในตัวทุกคน ผมเชื่ออย่างนั้นนะ”

และท้ายที่สุดก็เป็นการใช้ชีวิตที่ Win – Win เพราะมีทฤษฎีสนับสนุนว่าพาเด็กเดินทางแล้วดี เมื่อปรับมาเป็นการเดินป่าให้เข้ากับความชอบของพ่อแม่ ก็ทำให้ครอบครัวมีความสุข สามีภรรยาไม่ต้องฝืนตัวเองเพื่อลูกจนเกินไป

“ตอนนี้เขายังต้องอาศัยพ่อกับแม่ เขาก็ไปกับไลฟ์สไตล์ของเรา แต่ถ้าถึงจุดหนึ่งที่เขาโตพอจนเลือกทางของตัวเองได้ ก็เป็นเรื่องของเขาครับ”