BEM 'ดาวเด่น' ช.การช่าง รับ 'ปีทอง' ก่อสร้าง

BEM 'ดาวเด่น' ช.การช่าง รับ 'ปีทอง' ก่อสร้าง

'ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ' กิจการทำเงินนัมเบอร์วันของ 'ช.การช่าง' 'ประเสริฐ มริตตนะพร' คนสนิท 'ปลิว ตรีวิศวเวทย์' ยืนยัน

ก่อนหมดปี 2559 บมจ.ช.การช่าง หรือ CK ผู้ประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้างที่กำลังจะฉลองครบรอบปีที่ 45 ในปี 2560 ได้สร้างรอยยิ้มให้เหล่าแฟนคลับ ด้วยการคว้างานประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม 3 สัญญา ส่งผลให้มูลค่างานในมือขึ้นสู่ระดับ 'แสนล้านบาท' 

หลังตลอดปีที่ผ่านมา งานโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐแทบไม่มีออกสู่ตลาด ส่งผลให้เหล่าผู้รับเหมารายใหญ่ จำต้องปรับยุทธศาสตร์การหาเงินใหม่ ไม่เว้นแม้แต่ CK ที่ออกมาประกาศแผน 'จัดระเบียบบ้านใหม่' เมื่อช่วงต้นปี 2559 ก่อนที่ราคาหุ้น CK จะลงไปต่ำกว่า 22 บาท

ดีลใหญ่แห่งปี คงหนีไม่พ้นการรวมร่าง เพื่อสร้างฐานทางการเงินให้แข็งแกร่งก่อนภาครัฐจะเปิดประมูลโครงการเมกะโปรเจค ระหว่างบมจ.ทางด่วนกรุงเทพ หรือ BECL และ บมจ.รถไฟฟ้ากรุงเทพ หรือ BMCL ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ หรือ BEM (CK ถือหุ้นใหญ่ 30.62%)

ทว่าหลังควบรวมกิจการ ราคาหุ้น CK ค่อยๆ ขยับตัวจากเคยมาไกลสุด 30 บาทในปี 2558 เป็น 34.50 บาท (1 ส.ค.2559) ส่งผลให้มาร์เก็ตแคปปรับขึ้นจาก 49,123 ล้านบาท เป็น 51,663 ล้านบาท ขณะที่หุ้น BEM เจ้าของมาร์เก็ตแคป 113,873 ล้านบาท ไต่ระดับราคาจาก 4.90 บาท มายืนจุดสูงสุด 8.90 บาท ในเดือนส.ค.ที่ผ่านมา

'ประเสริฐ มริตตนะพร' กรรมการบริหาร บมจ.ช.การช่าง มือขวาเจ้าของตัวจริง 'ปลิว ตรีวิศวเวทย์' แจกแจงเรื่องเด่นปีหน้าให้ 'กรุงเทพธุรกิจ Biz Week' ฟังว่า ตลอดปี 2569 BEM จะขึ้นแท่น 'พระเอกทำเงินของกลุ่ม' หลังฐานะการเงินมีความแข็งแกร่งสามารถขยายการลงทุนได้อย่างต่อเนื่อง ฉะนั้นโอกาสที่จะเห็นตัวเลขมาร์เก็ตแคปเพิ่มขึ้นต่อเนื่องไม่ใช่เรื่องยาก

ส่วนตัวเชื่อมั่นว่า BEM จะได้รับอนิสงค์จากโครงการพื้นฐานของภาครัฐ มูลค่า 2 ล้านล้านบาท (ปี 2559-2560) ซึ่งในปีหน้ารัฐอาจเคาะแผนงานก่อสร้างไม่น้อยกว่า 'ห้าแสนล้านบาท' ถือเป็นการลงทุนที่มีมูลค่าสูงที่สุดของประเทศไทย

'รัฐน่าจะผลักดันโครงการใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรม หรือโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะรถไฟทางคู่ รวมมูลค่าเกือบ 340,000 ล้านบาท' 

ปัจจัยบวกมากมายในปี 2560 ล้วนแล้วทำให้ภาพของ BEM ดูดีขึ้นอย่างมาก เพราะธุรกิจรถไฟฟ้าใต้ดินที่มีผลการดำเนินงาน 'ขาดทุน' มาโดยตลอด จะเริ่มพลิกฟื้น แถมยังมีรายได้จากโครงข่ายทางด่วนในมืออีก ด้วยเหตุนี้ทำให้ หุ้น BEM ดูน่าสนใจไม่ใช่น้อยในสายตาของนักลงทุน สะท้อนผ่านราคาหุ้นที่ค่อยขึ้นมาเรื่อยๆ

๐ตลาดรับเหมาปี 60 โต 40%
'ปลิว ตรีวิศวเวทย์' ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ช.การช่าง ฉายภาพอุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้างในปี 2560 ว่า การที่รัฐเคาะโครงการขนาดใหญ่ออกมาจะทำให้ตลาดรับเหมาก่อสร้างในปีหน้าขยายตัวเฉลี่ย 30-40% ฉะนั้น CK คาดหวังจะมีส่วนแบ่งงานรับเหมาก่อสร้างจากโครงการใหม่ๆเฉลี่ย 20-25% จากมูลค่างานทั้งหมด 5 แสนล้านบาท

เมื่อถามถึงความคืบหน้างานในสปป.ลาว นายใหญ่ ตอบว่า ทางรัฐบาลกำลังพิจารณาให้บริษัทเข้าไปดำเนินโครงการที่ 3 ต่อจากโครงการเขื่อนน้ำงึม 2 มูลค่า 30,000 ล้านบาท และโครงการไซยะบุรี มูลค่า 140,000 ล้านบาท กำลังการผลิต 1,285 เมกะวัตต์ ซึ่งโครงการดังกล่าวมีขนาดใหญ่กว่าสองงานแรก หากไม่มีอะไรผิดพลาด อาจมีความชัดเจนในปี2560

'ตลอด 10 ปี CK ได้เป็นผู้ก่อสร้างโครงการน้ำงึม 2 ตามต่อด้วยไซยะบุรีที่มีขนาดใหญ่กว่าโครงการแรก 4-5 เท่า ด้วยความที่มีขนาดใหญ่ ทำให้เราตัดสินใจจะทำไปทีละโครงการ อย่างน้อยเป็นการเช็คสุขภาพว่า สามารถสร้างเงินได้ดีหรือไม่'

ส่วนโอกาสการเข้าไปทำงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในประเทศอื่นๆ เขายอมรับว่า CK มีแผนจะเข้าไปลงทุนในประเทศพม่า คาดว่าจะมีความชัดเจนในปีหน้า วันนี้บริษัทมีความพร้อมทุกด้านที่จะเข้าลงทุนทั้งในและนอกประเทศ ยิ่งงานในประเทศมีความพร้อมทั้งเงิน บุคลากร และเทคโนโลยีการก่อสร้าง

แต่ติดอยู่เพียงเรื่องเดียว นั่นคือ หากต้องใช้เงินลงทุนในงานต่างประเทศค่อนข้างสูงและค่าเงินบวกดอกเบี้ยเกิดความผันผวน บริษัทจะทำอย่างไร ตอนนี้กำลังศึกษาแนวทางที่จะปิดความเสี่ยง

๐ฐานะ CK แกร่งต่อเนื่อง

'ดร.สุภามาส ตรีวิศวเวทย์' กรรมการผู้จัดการใหญ่ CK ตอกย้ำความแข็งแกร่งในการผลักดันฐานะตามเป้าหมายว่า จะพยายามรักษาระดับอัตรากำไรขั้นต้น (gross profit) ที่8-10% เชื่อว่า ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะโครงการต่างๆของบริษัทมีความคืบหน้าไปในทางที่ดี

เช่น โครงการไซยะบุรี คืบหน้าไปแล้ว 70% โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย (สนามไชย-ท่าพระ) และงานโยธาคืบหน้าแล้ว 100% และโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงจิระ-ขอนแก่น คืบหน้า 9%

สำหรับโครงการที่กำลังจะเปิดประมูลในปี 2560 ประกอบด้วย 1.โครงการรถไฟทางคู่ 5 เส้นทาง ล่าสุดบริษัทเข้าไปซื้อซองประมูลหมดแล้ว 2.โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงส่วนต่อขยาย (ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) 3.โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ช่วงตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรม) คาดว่าจะเปิดประมูลเร็วนี้

'หวังว่า ภายใน 10-20 ปีข้างหน้า รัฐจะเคาะงานก่อสร้างทั้งในกรุงเทพ ปริมณฑล และภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง' 

'ประเสริฐ มริตตนะพร' ทิ้งท้ายบทสนทนา ด้วยการแจกแจงเป้าหมายรายได้ในปี 2559 ของ CK ว่า อาจยืนระดับ 42,000-45,000 ล้านบาท หลังได้รับงานจากไซยะบุรีเพิ่มเติมอีก 19,000 ล้านบาท ซึ่งงานดังกล่าวจะแล้วเสร็จในปีนี้ ทำให้รับรู้รายได้เข้ามาทันที

ส่วนเป้าหมายในปี 2560 วางรายได้ระดับไม่ต่ำกว่า 35,000 ล้านบาท อัตรากำไรขั้นต้น 8-10% บนสมมุติฐานที่มีงานในมือ 71,000 ล้านบาท และปีหน้าจะมีงานจากรถไฟฟ้าสายสีส้ม 3 สัญญา เข้ามาเติมงานในมือกว่าอีก 29,901 ล้านบาท ทำให้มียอด Backlog สูงถึงระดับแสนล้านบาท
เมื่อถามถึงแหล่งเงินลงทุน เขาตอบว่า วันนี้ต้นทุนทางการเงินของ CK ยังอยู่ในอัตราต่ำเฉลี่ย 3.8% เพราะมีการระดมทุน ด้วยการออกหุ้นกู้ ปัจจุบันยังคงเหลือวงเงินหุ้นกู้อีก5,000 ล้านบาท จากวงเงินทั้งหมด 35,000 ล้านบาท

สุดท้ายจะออกหุ้นกู้ในปีหน้าหรือไม่ ขอรอดูอัตราดอกเบี้ยก่อน เพราะหากต้องใช้เงินจำนวนมากยังสามารถกู้เงินแบงก์ได้ หลังอัตราหนี้สินต่อทุน หรือ D/E ยังอยู่ระดับต่ำเพียง 1.5 เท่า ฉะนั้นยังสามารถกู้แบงก์ได้อีกกว่า 20,000 ล้านบาท

'ปี 2560 CK จะก้าวเข้าสู่ปีที่ 45 ตลอด 4 ทศวรรษที่ผ่านมา เราพิสูจน์ได้แล้วว่า กลยุทธ์การดำเนินการที่ดีสามารถสร้างการเติบโตได้ทั้งในเมืองไทยและตลาดภูมิภาค'
 
ปีหน้าสรุปเดินรถสีน้ำเงิน

'ปลิวตรีวิศวเวทย์' ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ช.การช่าง(CK) เล่าว่า สำหรับความคืบหน้าการเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย (ช่วงหัวลำโพง-บางแค) และ (ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ) ปัจจุบันมีการเจรจากับคณะกรรมการร่วมฯ ใกล้ได้ข้อยุติแล้ว ซึ่งรัฐบาลต้องการให้การเดินรถสัญญาเดิม และส่วนต่อขยายเป็นวงกลมต่อเนื่อง เพื่อความสะดวกของผู้โดยสารและประหยัดค่าใช้จ่าย

โดยในรายละเอียดข้อตกลงว่า ค่าโดยสารจะเท่าเดิม และเก็บค่าแรกเข้าเพียงครั้งเดียวที่ 15 บาท และเก็บเพิ่มสถานีละ 2 บาท สูงสุดไม่เกิน 42 บาท ซึ่งมีผลที่ทำให้รายได้ส่วนต่อขยายลดลง โดยรัฐจะต้องชดเชยส่วนต่างของรายได้ที่ลดลงให้บริษัทเป็นรายปี

ทั้งนี้ จำเป็นต้องรีบสั่งซื้อรถไฟฟ้าเพื่อให้สามารถเปิดเดินรถได้เร็วที่สุด และมีความเป็นไปได้ ที่จะทยอยเปิดเดินรถปีละสถานีเพื่อให้ประชาชนไม่เสียโอกาสในการใช้บริการ นอกจากนี้ ในส่วนของ 1 สถานี (บางซื่อ-เตาปูน) หากให้บริษัทดำเนินการ จะสามารถเปิดเดินรถได้ภายใน 6 เดือน