แบงก์ชาติ-กสทช.วางกฎเหล็กคุมจ่ายมือถือ

แบงก์ชาติ-กสทช.วางกฎเหล็กคุมจ่ายมือถือ

“แบงก์ชาติ” จับมือ "กสทช." วาง 3 แนวทางดูแลความปลอดภัยผู้ใช้มือถือ ชี้ขอซิมการ์ดใหม่ต้องใช้บัตรปชช.จริง พร้อมเตรียมใช้ระบบสแกนนิ้วมือมาใช้

ภายหลังการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ(เอ็มโอยู) ในการกำกับดูแลบริการชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ ของทั้ง 2 หน่วยงานกำกับดูแล ทั้ง ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) และ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.ที่ผ่านมา

ล่าสุดทั้ง 2 องค์กร ได้ยกระดับการกำกับดูแลด้านความปลอดภัยของบริการชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ ซึ่งการจับมือในครั้งนี้ยังได้รับความร่วมมือจากสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสมาคมธนาคารไทย เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในในการใช้บริการโมบายแบงก์กิ้ง รวมทั้งบริการพร้อมเพย์ที่จะเปิดใช้บริการในไตรมาส 1 ปี 2560

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า แนวทางกำกับดูแลความปลอดภัยของบริการชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ ล่าสุดที่ กสทช. หารือ กับ ธปท. มี 3 เรื่องที่สำคัญ คือ 1.สำนักงาน กสทช. จะทำหนังสือกำชับให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือที่ดำเนินการโอนย้ายเลขหมายให้เป็นไปตามกฎหมายและประกาศ กสทช. อย่างเคร่งครัด

ขอซิมใหม่ต้องใช้บัตรปชช.จริง

โดยการขอออกซิมการ์ดใหม่ หรือการขอเปลี่ยนแปลงเจ้าของซิมการ์ด รวมทั้งการขอเปลี่ยนแปลงข้อมูลส่วนบุคคลต่างๆ นั้น ผู้ใช้บริการจะต้องนำบัตรประชาชนตัวจริงมาใช้ในการติดต่อเพื่อขอเปลี่ยนแปลงหรือโอนย้ายเลขหมายเท่านั้น

สำหรับกรณีการมอบอำนาจให้ผู้อื่นดำเนินการแทน ก็ต้องใช้บัตรประชาชนตัวจริงของผู้มอบและผู้รับมอบอำนาจด้วย โดย กสทช. ได้จัดทำมาตรฐานกระบวนการพิสูจน์ตัวตนเพื่อรองรับการตรวจสอบบัตรประชาชนดังกล่าวแล้ว เพื่อสร้างความปลอดภัยและความมั่นใจในการใช้บริการธุรกรรมทางการเงิน และป้องกันการโอนย้ายเลขหมายที่ไม่ถูกต้อง

สแกนนิ้วมือคาดเริ่มมี.ค.60

ส่วนเรื่องการสแกนลายนิ้วมือเพื่อลงทะเบียนขอใช้ซิมการ์ดโทรศัพท์มือถือนั้น นายฐากร กล่าวว่า น่าจะเริ่มเปิดให้บริการได้ในเดือนมี.ค.2560 ซึ่งการลงทะเบียนดังกล่าวจะใช้สำหรับซิมการ์ดใหม่เท่านั้น ส่วนซิมการ์ดเดิมไม่จำเป็นต้องมาลงทะเบียน ยกเว้นแต่ว่าผู้ใช้บริการในซิมการ์ดเดิมอยากสร้างความปลอดภัยเพิ่มก็สามารถมาลงทะเบียนซ้ำได้ โดยใช้บัตรประจำตัวประชาชนในการลงทะเบียนเท่านั้น เพื่อจะเชื่อมต่อข้อมูลไปยังกรมการศาลปกครอง

“ต้องฝากเรียนว่า การลงทะเบียนโดยใช้ระบบสแกนนิ้วมือ จะใช้สำหรับผู้ขอซิมใหม่เท่านั้น ผู้ใช้ซิมเดิมอยู่ไม่จำเป็นต้องมาลงทะเบียนยกเว้นแต่อยากสร้างความปลอดภัยเพิ่ม โดยเราจะเชื่อมข้อมูลนี้ไปยังกรมการศาลปกครอง ซึ่งคาดว่าจะเริ่มได้ในเดือนมี.ค.ปีหน้า”

ส่วนเรื่องที่สอง คือ กสทช. และ ธปท. ตกลงร่วมกันที่จะดูแลให้เกิดความปลอดภัยและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ใช้บริการโมบายแบงกิ้ง และพร้อมเพย์ว่าจะได้รับการดูแลการใช้บริการทางการเงินผ่านอุปกรณ์โทรศัพท์มือถืออย่างรัดกุม

โดยจะแจ้งให้สถาบันการเงินส่งข้อมูลเฉพาะหมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่เท่านั้น จะไม่ปรากฏชื่อของผู้ใช้บริการในระดับดังกล่าว ซึ่งเป็นข้อมูลที่ได้รับความยินยอมจากผู้ใช้บริการแล้วให้กับผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือดูแลความปลอดภัย

สำหรับผู้ที่ประสงค์จะเปลี่ยนแปลงหมายเลขโทรศัพท์มือถือ มีกลไกการดูแลที่รัดกุมตามข้อ 1 และมีกลไกที่บริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แจ้งการเปลี่ยนแปลงข้อมูลไปยังสถาบันการเงินให้รับทราบและปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน

โดยผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือที่จะขอคำยินยอมจากเจ้าของหมายเลขโทรศัพท์ ในการนำส่งการเปลี่ยนแปลงข้อมูลดังกล่าวให้สถาบันการเงิน และหากเจ้าของหมายเลขโทรศัพท์ มีความประสงค์จะผูกบัญชีกับระบบพร้อมเพย์ก็สามารถดำเนินการได้ที่สถาบันการเงิน

ส่วนเรื่องสุดท้าย ทาง ธปท. และ กสทช. ตกลงร่วมกันว่า เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกในการขอรับคืนเงินค่าบริการโทรศัพท์มือถือแบบเติมเงินกรณียกเลิกการใช้บริการ ซึ่งจากเดิมผู้ใช้บริการจะต้องดำเนินการผ่านการโอนบัญชีธนาคาร หรือคืนเป็นเช็ค หรือโอนไปยังหมายเลขโทรศัพท์อื่น แต่ขณะนี้สามารถขอรับคืนเงินผ่าน อี-วอเล็ท หรือบริการพร้อมเพย์ได้แล้ว

นายฐากร กล่าวด้วยว่า หากผู้ให้บริการไม่สามารถปฏิบัติตามกฎเกณฑ์เหล่านี้ได้ จะมีโทษตั้งแต่การ เตือน ปรับ และ เพิกถอนใบอนุญาต โดยขึ้นอยู่กับความรุนแรงของกรณีปัญหาที่เกิดขึ้น

9เดือนยอดใช้โมบายแบงกิ้งโต 100%

ด้าน นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธปท. กล่าวว่า ระยะหลังประชาชนเริ่มให้ความสนใจกับการใช้บริการทางการเงินหรือการชำระเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์(อีเพย์เมนท์) เพิ่มมากขึ้น สะท้อนผ่านจำนวนบัญชีที่ใช้บริการในระบบโมบายแบงกิ้งในปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 19 ล้านบัญชี ขณะที่ มูลค่าการทำธุรกรรมผ่านโมบายแบงกิ้งช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ ก็เพิ่มขึ้นกว่า 1 เท่าตัว เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนถึงความสนใจในระบบอีเพย์เม้นท์ที่มีมากขึ้น

“คนเริ่มหันมาใช้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น ขณะที่ช่องทางการให้บริการด้านอื่นๆ เริ่มลดลงตามลำดับ โดยจะเห็นว่าการใช้โมบายแบงกิ้ง และอินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้ง เพิ่มขึ้นมาก แต่เวลาเดียวกันการถอนเงินจากหรือการโอนเงินผ่านตู้เอทีเอ็มเริ่มโตช้าลง หรือลดลงด้วย อันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้แบงก์เริ่มปรับลดสาขาลง”

นายวิรไท กล่าวด้วยว่า แม้การเข้ามาของอีเพย์เม้นท์จะทำให้ธนาคารพาณิชย์ปรับรูปแบบการให้บริการ โดยบางแห่งเริ่มลดสาขาลง แต่ในส่วนของพนักงานไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะถ้าดูธุรกรรมโดยรวมของธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้น ธนาคารจึงมีการโอนย้ายพนักงานบางส่วนไปยังส่วนงานที่ต้องให้บริการเพิ่มขึ้น

คาดใช้พร้อมเพย์ใช้ไตรมาสแรกปีหน้า

สำหรับความคืบหน้าการให้บริการในระบบพร้อมเพย์นั้น นายวิรไท กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นของการเตรียมความพร้อม ซึ่งระบบพร้อมเพย์จะแบ่งเป็น 3 ส่วน โดยส่วนแรกคือ การโอนเงินจากภาครัฐไปสู่ประชาชน ซึ่งส่วนนี้เริ่มดำเนินการไปแล้วและไม่พบปัญหาใดๆ

ส่วนการโอนเงินระหว่างประชาชนกับประชาชน ซึ่งเป็นเรื่องที่คนสนใจกันมากนั้น เพราะเวลานี้มีผู้มาผูกบัญชีรวมแล้ว 19 ล้านบัญชี ขณะนี้อยู่ในขั้นการเตรียมความพร้อม โดยต้นปีหน้าจะกำหนดระยะเวลาการเปิดให้บริการที่ชัดเจนอีกครั้ง ซึ่งมั่นใจว่าจะสามารถให้บริการได้ภายในไตรมาสแรกของปีหน้าอย่างแน่นอน สำหรับเฟสสุดท้าย คือ การโอนเงินระหว่างประชาชนกับภาคธุรกิจ หรือ ธุรกิจกับภาคธุรกิจ ก็จะเปิดให้บริการถัดจากนั้นไป