จี้รัฐปฏิรูปภาคบริการ เปิดต่างชาติเข้าลงทุน

จี้รัฐปฏิรูปภาคบริการ เปิดต่างชาติเข้าลงทุน

“เวิลด์แบงก์” แนะรัฐปฏิรูปภาคบริการเปิดทางต่างชาติเข้าลงทุน เชื่อหนุนเศรษฐกิจไทยเติบโตเต็มศักยภาพ ดันหลุดพ้นประเทศรายได้ปานกลาง

ความเสี่ยงที่มีต่อเศรษฐกิจไทยในปีหน้า ส่วนใหญ่มาจากปัจจัยภายนอก ทั้งผลกระทบจากนโยบายของ นายโดนัลด์ ทรัปม์ ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐ รวมไปถึงผลกระทบจาก เบร็กซิท ซึ่งน่าจะมีความชัดเจนมากขึ้น ทั้งหมดนี้ทำให้ประเทศไทยต้องหันมามุ่งเน้นการเติบโตจากภายในประเทศแทน

ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์มองว่า “ภาคบริการ” จะเป็นกำลังสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยได้ในอนาคต โดยวานนี้ (19ธ.ค.) สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ ธนาคารโลก(เวิลด์แบงก์) จัดสัมมนาเรื่อง เศรษฐกิจไทยในอนาคต “ภาคบริการ:ตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจตัวใหม่”

นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก ประจำประเทศไทย เปิดเผยรายงานตามติดเศรษฐกิจไทยว่า ธนาคารโลกคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปีนี้เติบโต 3.1% และขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 3.2% ในปี 2560 โดยได้รับแรงหนุนจากการส่งออกที่คาดว่า ในปีหน้าจะฟื้นตัวขึ้นจากเดิมที่มองไว้ 0.5% เป็น 1.0% ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐเป็นหลัก

อย่างไรก็ตามยังต้องระวังความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากความไม่ชัดเจนในสหภาพยุโรป โดยเฉพาะกรณีที่สหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป หรือ Brexit นโยบายการค้าของประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ รวมทั้งแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด ที่ปรับเร็วขึ้น

นอกจากนี้การเติบโตของภาคการท่องเที่ยวที่เป็นไปอย่างเข้มแข็งในปีนี้ จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นถึง 13.1% ยังเป็นแรงส่งต่อในปี2560 ขณะที่ภาคการเกษตรฟื้นตัวหลังผ่านสถานการณ์ภัยแล้งที่รุนแรงยาวนาน

ส่วนกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและเลื่อนออกไปในช่วงการถวายความอาลัยนั้นได้รับการชดเชยจากมาตรการลดหย่อนภาษีจากการซื้อสินค้าและบริการท่องเที่ยวในประเทศในช่วงสิ้นปี

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยแม้จะเติบโตในระดับ 3% แต่ยังถือว่าโตต่ำกว่าศักยภาพที่ควรจะเป็น เนื่องจากเศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตได้สูงกว่า 4% ซึ่งจากการศึกษาของเวิลด์แบงก์พบว่าภาคบริการของไทยยังมีสัดส่วนต่อจีดีพีในระดับ 50% เทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วอยู่ที่ระดับ 70% และมีการจ้างงานสูงถึง 40% ของจำนวนแรงงานทั้งหมด ดังนั้นหากภาครัฐบาลสามารถปฏิรูปภาคบริการให้มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นก็จะเป็นอีกเครื่องยนต์หลักให้เศรษฐกิจไทยสามารถขับเคลื่อนได้เต็มศักยภาพและมีโอกาสหลุดพ้นจากประเทศที่มีรายได้ปานกลาง

ทั้งนี้ หากเทียบกับภาคการผลิตที่มีสัดส่วนการจ้างงาน 15% แต่สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ถึง 35% ของจีดีพีซึ่งผลิตภาพของภาคบริการที่ยังไม่เปิดกว้างมากนักเทียบกับภาคผลิตที่เปิดมากว่า 20 ปี ดังนั้นประเทศไทยควรปรับปรุงกฎหมาย ข้อบังคับต่างๆ การออกใบอนุญาตเปิดให้ต่างประเทศเข้ามาเพื่อส่งเสริมให้มีการแข่งขันและเปิดกว้างให้ผู้เชี่ยวชาญสาขาบริการต่างๆจากต่างประเทศเข้ามาประกอบธุรกิจในไทยเกิดความร่วมมือด้านการค้ามากขึ้น

นายเกียรติพงศ์ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยยังโตช้ากว่าเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียและฟิลิปปินส์ ทั้งที่ศักยภาพไทยโตได้มากกว่า4% ส่วนหนึ่งเพราะที่ผ่านมา มาเลเซียและฟิลิปปินส์ มีการปรับปรุงภาคบริการมาอย่างต่อเนื่อง มาเลเซียชูจุดเด่นเป็นศูนย์กลางการศึกษา ส่วนฟิลิปปินส์เป็นศูนย์กลางไอที ส่วนประเทศไทยสามารถเป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์ได้ แต่ต้องมีการปรับปรุงเรื่องกฎระเบียบให้เปิดกว้างมากขึ้น

“ข้อตกลงของเออีซีที่เปิดให้มีการแลกเปลี่ยนแรงงานเสรีเช่นทันตแพทย์ แต่ยังมีข้อกำหนดว่าทันตแพทย์จากฟิลิปปินส์ที่จะเข้ามาทำงานในประเทศไทยต้องสอบข้อเขียนให้ได้ถึงจะผ่านคุณสมบัติ ซึ่งเป็นอีกด่านที่ต้องแก้”

ด้านนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จีดีพีปีนี้คาดว่าจะขยายตัว3-3.5% และปีหน้ามีแนวโน้มที่ดีขึ้นจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน แม้จะมีความท้าทายจากเศรษฐกิจโลก

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาประเทศไทยไม่มีการเปลี่ยนแพลตฟอร์มการลงทุนมานานสิบปี เพราะเสียเวลาทะเลาะกันมานาน ทำให้เศรษฐกิจไทยยังเติบโตด้วยแพลตฟอร์มเดิมๆ จำเป็นต้องเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานได้ ซึ่งระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก(อีอีซี) ถือเป็น อีสเทิร์นซีบอร์ดยุคที่สอง ที่จะเปิดศักยภาพของไทยที่ไม่เติบโตมานาน

ส่วนภาคบริการที่มีสัดส่วนใหญ่ในประเทศพัฒนาแล้ว หากย้อนดูอดีต ภาคที่ใหญ่สุดในระบบเศรษฐกิจ คือ ภาคเกษตร ก่อนขยับมาภาคผลิต สิ่งที่น่าคิดคือการบริการที่โตเยอะ แต่กลับไม่ได้มีผลิตภาพมากที่สุด จะเห็นได้ว่า การผลิตไอโฟน 1 เครื่อง แอปเปิลคิด และดีไซน์ที่สหรัฐอเมริกาแต่กลับมาผลิตที่จีนเพราะต้นทุนต่ำ ประเทศที่พัฒนาแล้วส่งการผลิตไปประเทศอื่น แต่มูลค่าเพิ่มยังอยู่กับสหรัฐ ดังนั้นประเทศที่พัฒนาแล้วจะทำภาคบริการให้เป็นสำคัญดังนั้นประเทศไทยต้องสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการสร้างนวัตกรรม

"เราจะมีรายได้ดีต้องผลิตสินค้าของตัวเองให้มีนวัตกรรมโดยเฉพาะการใช้ภาคบริการและภาคผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่าให้สินค้าด้วยนวัตกรรม เราจะก้าวไปไทยแลนด์4.0ต้องก้าวไปเป็นประเทศที่ทำนวัตกรรม ที่ผ่านมาประเทศไทยมีบริษัทที่ทำนวัตกรรมได้พอควร เช่น ทียูเอฟทำให้ไทยเป็นเบอร์หนึ่งด้านปลาทูน่าทั้งที่ทะเลไม่มีทูน่าอยู่แล้ว และยังมีการลงทุนให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากปลาทูน่า แต่แค่นี้ยังไม่ชัดแต่อนาคตไทยจะก้าวไปสู่ความเป็นเจ้าของนวัตกรรมได้

นอกจากนี้ประเทศไทยต้องมีการปฏิรูปภาครัฐ หากปลดล็อกได้จะทำให้ประเทศไปได้อีกระดับเพราะอดีต 30 ปีก่อนไทยมีเทคโนแคร็ทที่ดี มีความเข้มแข็งของข้าราชการ โดยเฉพาะสภาพัฒน์ที่เป็นสมองของไทยในการคิดอนาคตให้ประเทศไทย

สำหรับธุรกิจที่ไปได้เช่นโรงแรม อาหาร แต่ภาครัฐอยากสนับสนุน5อุตสาหกรรม สำคัญเช่น อะกริเทค และไบโอเทค อีกด้าน เมกะทรอนิก อีก 3 ด้านคือ เฮลท์เทค และครีเอทีฟอีโคโนมี เช่นเกมส์ การตลาด ซึ่งคนไทยเก่งด้านนี้ อีกกลุ่มคือดิจิทัล IOTหรืออื่นๆที่ภาคบริการสามารถเป็นดาวเด่น