เตรียมใช้กล้องโซน่า เร่งค้นหาผู้สูญหายอาคารถล่ม

เตรียมใช้กล้องโซน่า เร่งค้นหาผู้สูญหายอาคารถล่ม

เตรียมใช้กล้องโซน่าจากทางทหาร เข้าค้นหาผู้สูญหายอีก 2 รายจากเหตุอาคารถล่มวานนี้ ด้านเลขาฯสภาวิศวกร ชี้การค้ำยันรื้อถอนไม่ถูกต้อง

จากกรณีเหตุอาคารทรุดตัว ภายในซอยสุขุมวิท 87 ถนนสุขุมวิท แขวงบางจาก เขตพระโขนง กทม. โดยจากการตรวจสอบพบว่าเป็นอาคารเก่าของบริษัท ไทยยานตร์ มิตซู จำกัด สาขาสุขุมวิท 87 ที่อยู่ระหว่างทำการรื้อถอน จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน 2 ราย และสูญหายอีก 2 รายนั้น

ล่าสุด เมื่อเวลา 10.00 น วันที่ 17 ธันวาคม ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศอาคารถล่มภายในซอยสุขุมวิท 87 โดยเจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างการประชุมวางแผนเจาะพื้นอาคารที่พังถล่มเพื่อหาผู้สูญหายอีกสองรายที่ยังติดอยู่ภายใน โดยมี พ.ต.ท.บัณฑิต ประดับสุข อุปนายกวิศวกรรมสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ศจ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ศจ.ดร.อมร พิมานมาศ เลขาธิการสภาวิศวกร เข้าร่วมตรวจสอบในครั้งนี้ พร้อมกับหารือแนวทางค้นหาผู้สูญหายอีก 2 รายคือ นายไพร คะนุนรัมย์ อายุ 38 ปี และนายบุญแจ้ง เลศละออง อายุ 46 ปี

ศจ.ดร.อมร เผยว่า อาคารดังกล่าวมีความสูงกว่า 3 ชั้น เรียกว่าวิศกรรมควบคุม กล่าวคือต้องมีวิศวกรและผู้เชี่ยวชาญควบคุมการรื้อถอน และอาคารดังกล่าวเป็นโครงสร้างแบบพื้นไร้คาน โดยใช้หลักการคานมากกว่าเสา ในการก่อสร้างต้องใช้สลิงเป็นตัวยึดและรับน้ำหนักของตัวอาคาร หากไม่มีการศึกษาระบบโครงสร้างให้ถี่ถ้วน จะส่งผลเสียต่อการรื้อถอนได้ ซึ่งขั้นตอนการรื้อถอนต้องมีการค้ำยันพื้นดินเพื่อป้องกันการถล่ม แต่จากการตรวจสอบพบว่า มีการค้ำยันไม่ถูกต้อง ทั้งนี้จากเหตุการณ์ดังกล่าว ต้องตรวจสอบในเรื่องของขั้นตอนการรื้อถอน อุปกรณ์เครื่องมือในการรื้อถอน ว่ามีความพร้อมมากน้อยเพียงใด และบุคคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่ในครั้งนี้จะมีการสอบสวนในเรื่องจรรยาบรรณ ก่อนดำเนินการตามกระบวนการต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ทางเจ้าหน้าที่จะใช้กล้องในการตรวจสอบผู้ที่สูญหายสองราย คือนายบุญแจ้ง เลิศละออง และนายไพร คะนุนรัมย์ ว่าอยู่จุดใด พร้อมประสานกล้องโซน่าจากทางเจ้าหน้าที่ทหารเพื่อตรวจสอบอีกทางหนึ่งด้วย ท่ามกลางการเฝ้ารอของญาติทั้งสองราย

ด้าน นายภัทรุฒิ ทรรทรานนท์ ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ภารกิจเร่งด่วนในขณะนี้ต้องค้นหาผู้สูญหายอีก 2 ราย ที่ยังไม่พบ แต่ก็ต้องใช้ความระมัดระวังต่อผู้ปฎิบัติงานด้วย เพราะยังมีอาคารด้านข้างที่อาจจะได้รับผลกระทบและพังลงมาได้อีก จึงได้ใช้ลวดสลิงในการขึงเพื่อยึดอาคารให้เกิดความปลอดภัยในขณะปฎิบัติงาน โดยอุปสรรคของการค้นหาก็คือซากวัสดุอาคารที่กองทับถมกันอยู่หลายชั้น รวมถึงเศษวัสดุแผ่นพื้นที่ห้อยค้างอยู่บนตัวอาคารอาจจะหบุดร่วมลงมาให้เกิดอันตรายระหว่างปฎิบัติงานได้. เบื้องต้นเปลี่ยนจากการใช้รถเครนยกแผ่นปูนออก มาเป็นการเจาะแผ่นปูนทีละแผ่นไปถึงพื้นด้านล่างเพื่อที่จะสอดกล้องเพื่อดูว่าจุดดังกล่าวมีผู้สูญหายตรงกับตำแหน่งที่สุนัขตำรวจได้ทำสัญญาณไว้หรือไม่ ก่อนจะมีการรื้อแผ่นปูนขึ้นอีกครั้ง

“จากนี้ทางกรุงเทพมหานคร ก็จะเข้าไปดูแลในสมาคมวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับบริษัทรื้อถอนอาคารมากขึ้น เพราะพบว่าปัญหาที่ผ่านมักจะเกิดเหตุการณ์อันน่าสลดที่อาจจะเกิดจากความไม่ชำนาญ หรือความไม่เข้าใจของผู้ประกอบวิชาชีพ” นายภัทรุฒิ ระบุ

ขณะที่นายธเนศ วีระศิริ ว่าที่นายกสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือ วสท. กล่าวว่า จากนี้จัดตั้งหน่วยวิศวกรอาสาขึ้นมาเพื่อเข้าไปสนับสนุนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องของการให้ความรู้เจ้าหน้าที่ที่จะเข้าไปช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บ หรือผู้ที่ติดอยู่ในอาคารที่ถล่ม เพื่อที่จะได้ชี้จุดได้ว่าจุดไหนปลอดภัยหรือมีความเสี่ยงกับผู้ปฏิบัติงาน เพราะทุกขั้นตอนจะต้องใช้ความระมัดระวังเนื่องจากทุกเหตุการณ์มีความคาดหวังว่าจะมีผู้รอดชีวิต