คลังเล็งแก้เงินนำส่งเข้ากบช.

 คลังเล็งแก้เงินนำส่งเข้ากบช.

"คลัง"เตรียมเสนอแก้เงินนำส่งเข้า"กองทุนกบช." เพื่อกำหนดเป็นเพดานเงินนำส่งไม่เกิน 10% ของเงินเดือนลูกจ้างและนายจ้าง ส่วนจะนำส่งในอัตราใดขึ้น

กับความเหมาะสมภาวะเศรษฐกิจ เดิมกำหนดให้นำส่งขั้นต่ำ 3% และขั้นสูงไม่เกิน 15%

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังจะเสนอแก้ไขร่างกฎหมายกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) โดยกำหนดเฉพาะเพดานอัตราการนำส่งเงินเข้ากองทุนที่ไม่เกิน 10% ของเงินเดือนของลูกจ้าง ส่วนจะนำส่งเข้ากองทุนในอัตราเท่าใด ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของภาวะเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ ตามร่างกฎหมายดังกล่าว ซึ่งผ่านการอนุมัติของคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว และอยู่ขั้นตอนการพิจารณาร่างกฎหมายโดยคณะกรรมการกฤษฎีกานั้น โดย กำหนดให้นายจ้าง และลูกจ้างมีหน้าที่ต้องนำส่งเงินเข้ากองทุนนี้ ในอัตราขั้นต่่ำ 3% และขั้นสูงไม่เกิน 15%

นอกจากนี้ ในร่างกฎหมายนี้ ที่ผ่านครม.ได้กำหนดอัตราใช้จริงไม่เกิน 10% แต่ให้ทยอยปรับขึ้นเป็นขั้นบันได กล่าวคือ ในระยะ 3 ปีแรกของการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ กำหนดให้นายจ้าง และลูกจ้างนำส่งเงินเข้ากองทุนนี้ 3% ปีที่ 4-ปีที่ 6 ของการบังคับใช้กฎหมายกำหนดไว้ที่ 5% ปีที่ 7-ปีที่ 9 กำหนดไว้ 7% และตั้งแต่ปีที่ 10 ของการบังคับใช้กฎหมายเป็นต้นไปกำหนดในอัตราที่ 10%

ดังนั้นเพื่อลดผลกระทบ ที่จะมีต่อผู้ประกอบการภาคเอกชน ที่ต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยเวลานี้ กระทรวงการคลัง จึงจะเสนอขอแก้ไขร่างกฎหมายนี้ในรายละเอียด ในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ก่อนที่จะเสนอให้ ครม.อนุมัติอีกครั้ง

โดยการแก้ไขครั้งนี้ จะไม่กำหนดอัตราที่จะนำมาใช้ เป็นการกำหนดเพียงเพดานไม่เกิน 10% ส่วนการกำหนดอัตราบังคับใช้ ขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจในแต่ละช่วง โดยออกเป็นกฎกระทรวง เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นของการกำหนดอัตราตามภาวะเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ รัฐบาล ตั้งเป้าหมายว่า คนไทยหลังเกษียณ จะมีรายได้เมื่อรวมกับเงินใน กบช.และเงินบำนาญจากกองทุนประกันสังคม ไม่ต่ำกว่า 50 % เงินเดือนหลังเกษียณ (ซึ่งกำหนดค่าเฉลี่ยไว้ไม่เกิน 6 หมื่นบาท)

แหล่งข่าวกล่าวว่า การทำให้อัตราการนำส่งเงินเข้ากองทุน ยึดหยุ่นตามภาวะเศรษฐกิจ อาจกระทบต่อเป้าหมายรายได้ของลูกจ้างหลังเกษียณ แต่สำนักงานกองทุนประกันสังคม ก็เตรียมที่จะปรับเพิ่มอัตราการนำส่งเงินเข้ากองทุนประกันสังคมในกรณีชราภาพ ในส่วนของฝ่ายนายจ้าง และลูกจ้างให้สูงขึ้นกว่าปัจจุบัน เพื่อให้รายได้หลังเกษียณของลูกจ้างอยู่ในเกณฑ์ที่กระทรวงการคลังกำหนด ซึ่งในปัจจุบัน ลูกจ้างและนายจ้าง นำส่งเงินเข้ากองทุนประกันสังคมในกรณีสงเคราะห์บุตรและชราภาพ ฝ่ายละ 3% และรัฐบาลสมทบให้อีก 1% รวมเป็น 7%

กระทรวงการคลัง คาดว่า กฎหมายฉบับนี้ ที่ออกมาเพื่อสร้างระบบเงินออมหลังเกษียณให้แก่ลูกจ้างภาคเอกชน จะสามารถบังคับใช้ได้ภายในปี 2561กฎหมายนี้บังคับใช้กับแรงงานในระบบที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปี จนถึง 60 ปี

ทั้งนี้ เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านจากการมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคสมัครใจ ไปสู่ภาคบังคับราบรื่น การดำเนินการบังคับจะค่อยเป็นค่อยไป กล่าวคือ ในปีที่ 1-ปีที่4 ของการบังคับใช้กฎหมายนี้ กิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป จะต้องมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับ ปีที่ 4-ปีที่ 6กิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ต้องมีกองทุนนี้ และตั้งแต่ปีที่ 7 เป็นต้นไป กิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป ต้องมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ