เปิดพ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ ใครได้-ไม่ได้อภัยโทษ

เปิดพ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ ใครได้-ไม่ได้อภัยโทษ

จับประเด็นร้อน! เปิดพ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ ใครได้-ไม่ได้อภัยโทษ

“เนื่องในโอกาสแรกนับแต่ขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์ เพื่อเป็นการแสดงพระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมควรพระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องราชทัณฑ์เพื่อให้โอกาสแก่บุคคลเหล่านั้นกลับประพฤติตนเป็นพลเมืองดี อันจะเป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติสืบไป” คือข้อความที่ระบุถึงเหตุผลในการตราพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษเนื่องในโอกาสแรกนับแต่ขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. 2559 ของ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร

พระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ฉบับนี้ มีทั้งหมด 17 มาตรา และมีบัญชีลักษณะความผิดแนบท้าย โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เป็นผู้รับสนองพระราชโองการ เผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม ที่ผ่านมา โดยให้มีผลบังคับใช้ถัดจากวันที่ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ทั้งนี้เนื้อหาและบัญชีลักษณะความผิดแนบท้ายของพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ เหมือนกับพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2559 เนื่องในโอกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี 9 มิถุนายน 2559 และในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 12 สิงหาคม 2559 ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ที่ผ่านมา

ประเภทของการอภัยโทษ
ตาม พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษฯ นี้ ได้กำหนดประเภทการพระราชทานอภัยโทษไว้ 2 อย่าง คือ การปล่อยตัว และ การลดโทษ โดยกำหนดเงื่อนไขในการปล่อยตัวและการลดโทษไว้ตามประเภทของความผิด และลำดับชั้นของนักโทษ

ใครอยู่ในเงื่อนไขได้รับพระราชทานอภัยโทษ?
เงื่อนไขแรกของผู้ที่จะได้รับพระราชทานอภัยโทษคือ "ต้องมีตัวอยู่ในความควบคุมของทางราชการ หรือถูกกักขังไว้ในสถานที่หรือที่อาศัยที่ศาลหรือทางราชการกําหนดในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ ไปจนถึงวันที่ศาลออกหมายสั่งปล่อยหรือลดโทษ"

กรณี “ปล่อยตัว”
ในมาตรา 6 ได้กำหนดลักษณะของผู้ที่จะได้รับพระราชทานอภัยโทษ “ปล่อยตัว” ไว้ทั้งหมด 7 กรณี คือ
1. ผู้ต้องโทษจำคุกที่เหลือโทษอีกไม่เกิน 1 ปี และรับโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน 3
กรณี “ชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์” ผู้ต้องขังคดีรื้อบาร์เบียร์ ที่ต้องโทษจำคุก 2 ปี จะเข้าเงื่อนไขได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวตามข้อนี้ โดยนายชูวิทย์ เริ่มรับโทษตามคำพิพากษาศาลฎีกาเมื่อวันที่ 29 มกราคม ที่ผ่านมา และได้รับพระราชทานอภัยโทษด้วยการ “ลดโทษ” ตาม พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2559 เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ครั้งนั้นนายชูวิทย์ได้รับการลดโทษ 1 ใน 4 ของโทษทั้งหมดเพราะเป็นนักโทษชั้นดี นั่นคือลดโทษไป 6 เดือน ดังนั้นโทษกักขังของนายชูวิทย์ในตอนนี้จึงเหลือไม่เกิน 1 ปี เข้าตามเงื่อนไขนี้

2. เป็นคนพิการโดยตาบอดทั้งสองข้าง มือหรือเท้าด้วนทั้งสองข้าง หรือเป็นคนทุพพลภาพ
3. เป็นคนเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อน โรคไตวายเรื้อรัง โรคมะเร็ง โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง(โรคเอดส์) หรือโรคจิต ซึ่งทางราชการได้ทําการรักษามาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือน และแพทย์ของทางราชการไม่น้อยกว่า 2 คนได้ตรวจรับรองเป็นเอกฉันท์ว่าไม่สามารถจะรักษาในเรือนจําให้หายได้ และได้รับโทษจําคุกมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี หรือไม่น้อยกว่า 1 ใน 2 ของโทษ เว้นแต่เป็นคนเจ็บป่วยด้วยโรคมะเร็งระยะสุดท้าย และโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (โรคเอดส์) ระยะสุดท้ายซึ่งแพทย์ของทางราชการไม่น้อยกว่า 2 คนได้ตรวจรับรองเป็นเอกฉันท์ว่าไม่สามารถจะรักษาในเรือนจําให้หายได้
4.เป็นหญิงซึ่งต้องโทษจําคุกเป็นครั้งแรก และได้รับโทษจําคุกมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน 2 ของโทษ
5.อายุไม่ต่ำกว่า 60 ปีบริบูรณ์ และต้องได้รับโทษจําคุกมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี หรือไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของโทษ และมีโทษจําคุกเหลืออยู่ไม่เกิน 3 ปี
6.เป็นผู้ต้องโทษจําคุกเป็นครั้งแรก และมีอายุยังไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์ และได้รับโทษจําคุกมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน 2 ของโทษ
7. เป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นเยี่ยม และเหลือโทษจำคุกอยู่ไม่เกิน 2 ปี

กรณี “ลดโทษ”
สำหรับนักโทษที่ไม่เข้าเกณฑ์ได้รับพระราชทานอภัยโทษโดยปล่อยตัว จะได้รับการลดโทษ ซึ่งประกอบไปด้วยนักโทษในคดีทั่วไป นักโทษตามบัญชีลักษณะความผิดท้ายพระราชกฤษฎีกา และนักโทษในคดียาเสพติดทั้งที่ต้องโทษจำคุกไม่เกิน 8 ปี และเกิน 8 ปี โดยในส่วนโทษประหารชีวิตจะลดลงเหลือจำคุกตลอดชีวิต และโทษจำคุกตลอดชีวิตจะลดลงเหลือจำคุก 50 ปี เหมือนกัน นอกจากนั้นจะเป็นการลดโทษตามลำดับชั้นนักโทษคือ นักโทษชั้นเยี่ยม ชั้นดีมาก และ ชั้นดี ซึ่งเงื่อนไขการลดโทษจะแตกต่างกันไปตามประเภทนักโทษและประเภทความผิด

ใครไม่อยู่ในข่ายได้รับพระราชทานอภัยโทษ?
ผู้ไม่อยู่ในข่ายได้รับพระราชทานอภัยโทษ กำหนดไว้ใน มาตรา 12 และ มาตรา 14 มี 5 กรณีคือ
1.ผู้ต้องโทษให้จำคุกเกิน 8 ปีในคดียาเสพติดซึ่งศาลพิพากษาภายหลังจากพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ใช้บังคับ
2.นักโทษที่ทำความผิดซ้ำและไม่ใช่นักโทษชั้นเยี่ยม
3.นักโทษชั้นกลาง ชั้นเลว หรือชั้นเลวมาก
4.นักโทษความผิดเกี่ยวกับเพศ กรณีข่มขืนกระทำชำเรา ข่มขืนฆ่า
5.นักโทษในคดีฉ้อโกงประชาชน

ขั้นตอนการปล่อยตัว-ลดโทษ
ให้มีคณะกรรมการ 3 คน ประกอบด้วย ผู้ว่าฯ ผู้พิพากษาในท้องที่ และ พนักงานอัยการในท้องที่ ทำหน้าที่ตรวจสอบผู้ที่จะได้รับพระราชทานอภัยโทษและส่งรายชื่อต่อศาลท้องที่ ภายใน 120 วันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ เพื่อให้ศาลสั่งปล่อยตัวหรือลดโทษ หรือสั่งยกเลิกการทำงานบริการสังคมหรือสาธารณะแทนค่าปรับ
นอกจากนี้ในกรณีผู้ถูกลงโทษจำคุกตามคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย (คำสั่งอื่นที่ไม่ใช่คำสั่งศาล) ให้คณะกรรมการตรวจสอบและส่งรายชื่อให้นายกฯภายใน 120 วันเช่นกัน เพื่อให้นายกฯพิจารณาสั่งปล่อยหรือลดโทษ
กรณีนักโทษตามกฎหมายว่าด้วยเรือนจำทหาร ให้รัฐมนตรีว่าการรกระทรวงกลาโหมแต่งตั้งคณะกรรมการมาตรวจสอบและส่งรายชื่อผู้ผู้ซึ่งจะได้รับพระราชทานอภัยโทษให้ศาลทหารที่รับผิดชอบภายใน 120 วันเช่นกัน

บัญชีลักษณะความผิดแนบท้ายพระราชกฤษฎีกา ได้แค่ลดโทษ
เป็นบัญชีลักษณะความผิดซึ่งโยงมาจากข้อกำหนดในมาตรา 5 คือความผิดที่ไม่ได้รับพระราชทานอภัยโทษด้วยการ “ปล่อยตัว” แต่จะอยู่ในกรณีที่จะได้รับการ “ลดโทษ” ตามมาตรา 8 โดยกำหนดลักษณะความผิดไว้ทั้งหมด 9 ข้อ คือ
1.ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มีทั้งหมด 9 ลักษณะ คือ
1.1 ความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย
1.2 ความผิดเกี่ยวกับการปกครอง ทั้งส่วนที่เป็นความผิดต่อเจ้าพนักงาน และความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่
1.3 ความผิดเกี่ยวกับการยุติธรรม ทั้งความผิดต่อเจ้าพนักงานและความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่
1.4 ความผิดฐานอั้งยี่ ซ่องโจร
1.5 ความผิดคดีวางเพลิง ระเบิด ก่อปัญหาต่อระบบคมนาคมขนส่ง พลังงาน ระบบการสื่อสาร การปล่อยสารพิษ การปลอมปนอาหารและยา
1.6 ความผิดเกี่ยวกับเพศ
1.7 คดีฆ่า ทำร้ายผู้อื่นจนสาหัส
1.8 คดีกักขังหน่วงเหนี่ยว จับตัวเรียกค่าไถ่
1.9 ความผิดฐานกรรโชกทรัพย์ รีดทรัพย์ ชิงทรัพย์ และปล้นทรัพย์

2. ความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. ๒๔๙๐ ในข้อหา “ทำ ประกอบ ค้า” ฯลฯ
3. ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ กฎหมายว่าด้วยป่าสงวนแห่งชาติและกฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติ
4. ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
5. ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ
6. ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน
7. ความผิดเกี่ยวกับการยักยอกหรือฉ้อโกงหรือประทุษร้ายต่อทรัพย์หรือกระทําโดยทุจริตตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ กฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุนธุรกจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ กฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน หรือกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งกระทําโดยกรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใด ซึ่งรับผิดชอบหรือมีประโยชน์เกี่ยวข้องในการดําเนินงานของสถาบันการเงินนั้น
8. ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐหรือความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น
9. ความผิดเกี่ยวกับการลักลอบหนีศุลกากรตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร

ผู้มีเข้าข่ายได้รับพระราชทานอภัยโทษมากน้อยแค่ไหน?
นายกอบเกียรติ กสิวิวัฒน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ คาดว่าจะมีผู้ต้องโทษที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษและได้รับการปล่อยตัวประมาณ 30,000 คนเศษ โดยคาดว่าจะสามารถปล่อยตัวผู้ต้องขังที่ได้รับการอภัยโทษล็อตแรกได้ภายใน 3 วันนี้