“ภูมิใจโปรเจค” แบ่งเวลาก่อเรื่อง ‘ภูมิใจ’

“ภูมิใจโปรเจค” แบ่งเวลาก่อเรื่อง ‘ภูมิใจ’

“ภูมิใจโปรเจค” กิจกรรมแห่งความภูมิใจของเหล่ามนุษย์เงินเดือน ผู้ไม่ได้มีแต่งาน ทว่ายังมีหัวใจแบ่งปันเพื่อสังคมด้วย

ตุ๊กตาหน้าเก๋ อวดโฉมความน่ารักน่าชัง อยู่ในบูธ Folio” (ฟอลิโอ) แบรนด์เครื่องหนังและอุปกรณ์เครื่องเขียนสุดชิค ที่มาออกงาน BIG+BIH 2016 เมื่อเดือนก่อน  

                นี่ไม่ใช่ผลงานซีรีส์ใหม่ของFolio แต่เป็นผลิตผลจากโครงการ “ภูมิใจโปรเจค” กิจกรรมเพื่อสังคม ที่เหล่าพนักงาน Folio ลงไปทำร่วมกับเด็กๆ ใน “สถานสงเคราะห์เด็กพิการและทุพพลภาพปากเกร็ด” หรือ “บ้านนนทภูมิ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี เมื่อหลายเดือนก่อน

จุดเริ่มต้นของโครงการ มาจากวันที่ “ศุภดนัย ศุภผลศิริ” ผู้บริหาร บริษัท อโพสโทรฟี แอล จำกัด เจ้าของแบรนด์ Folio มีนโยบายอยากให้พนักงานได้ลงไปทำกิจกรรมช่วยเหลือสังคม เพื่อเรียนรู้ การให้ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และมีหัวใจจิตอาสา เติมเต็มชีวิตคนทำงานที่ผ่านพ้นไปอย่างเหี่ยวเฉา

จากเรื่องที่ดูเหมือนไกลตัว ถูกทำให้เข้าใกล้ชาว Folio มากขึ้น ด้วยการเลือกเอาเศษหนังที่เหลือจากกระบวนการผลิตในบริษัท ไปทำกิจกรรมสนุกๆ ร่วมกับเด็กๆ โดยเริ่มจากพัฒนากิจกรรมสอนทักษะให้กับน้องๆ ที่บ้านนนทภูมิ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้พิการซ้ำซ้อน ไม่ได้เรียนหนังสือ และกำลังฝึกอาชีวะบำบัดอยู่ ซึ่งทุกกิจกรรมการสอน มาจากพนักงานช่วยกันคิด และหมุนเวียนกันลงไปทำทุกอาทิตย์

พวกเขาเริ่มจากนำเศษหนังมาตัดเป็นชิ้นสามเหลี่ยมและสี่เหลี่ยมเล็กๆ แล้วให้น้องๆ นำมาจัดเรียงเพื่อฝึกสมาธิ จากนั้นก็เพิ่มความสนุกขึ้นอีกขั้น ด้วยการให้ทำงานศิลปะจากความชอบ อย่าง การวาดตุ๊กตาในจินตนาการของน้องๆ

“ตุ๊กตาตัวนี้ วาดโดยน้องที่ไม่มีแขน น้องเขาใช้เท้าวาดขึ้นมาทั้งหมด”

คำบอกเล่าสุดเซอร์ไพรส์ จาก “สิริภรณ์ จะปิ่นครบุรี” นักการตลาด ตัวแทนจาก “ภูมิใจโปรเจค” ระหว่างแนะนำตุ๊กตาน่ารักน่าชังในมือเธอ แม้ไม่ใช่ผลงานที่เพอร์เฟค แต่ก็ยากจะเชื่อว่าจะถูกวาดขึ้นมาด้วยเท้า อวัยวะที่คงใช้วาดเขียนได้ไม่ถนัดนัก

“น้องบอกว่า เพิ่งรู้ตัวเองว่าเขาก็วาดรูปได้ เพราะคิดมาตลอดว่าคนที่จะวาดได้ต้องมีมือเท่านั้น ในเมื่อน้องไม่มีมือก็คงทำอย่างคนอื่นเขาไม่ได้ แต่วันนี้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า น้องเขาก็ทำได้”

หนึ่งภาพประทับใจที่เกิดขึ้นระหว่างลงพื้นที่ ร่วมกับเพื่อนๆ อีกประมาณ 20 ชีวิต ที่หมุนเวียนเปลี่ยนหน้ากันลงไปทำเรื่องภูมิใจ  ซึ่งเพิ่มพลังใจให้กับคนทำงานด้านการตลาดอย่างเธอมาก

“มีครั้งหนึ่งไม่สบาย เลยไม่อยากไปสอน คิดว่าจะไปแค่ช่วงเช้า บ่ายก็จะกลับ ปรากฏวันนั้นฝนตกหนักมาก แต่เห็นน้องๆ ยังนั่งรอกันทุกคน บางคนไม่สบาย น้ำมูกไหล ก็ยังอยู่รอพวกเรา พอเห็นแค่นั้นเหมือนได้พลังกลับมาเลย น้องๆ คงเห็นว่า สิ่งที่พวกเราทำมีคุณค่ากับเขามาก”

ผลงานหลังทำกิจกรรมของนักสร้างสรรค์ตัวน้อย มีความน่ารักน่าชัง จนคนทำงานครีเอทีฟอย่างพวกเขาไม่อยากปล่อยพ้นไป จึงเกิดไอเดียนำผลงานเหล่านั้นมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์แห่งความภูมิใจ อย่าง เศษหนังชิ้นสี่เหลี่ยม สามเหลี่ยมแปะต่อกันเป็นผืน ก็ลองนำมาตัดเย็บเป็นกระเป๋าที่ดูสวยแปลกตาไปอีกแบบ

ส่วนตุ๊กตาที่น้องวาด ก็นำมาตัดเย็บ แล้วยัดนุ่น เป็นตัวตุ๊กตาขึ้นมาจริงๆ ดีไซเนอร์มือสมัครเล่นเลยมีผลงานวางอวดโฉมอยู่ที่งาน BIG+BIH ในปีนี้

ผลงานต้นแบบยังไม่ได้ถูกทำออกมาจำหน่าย แต่พวกเขาแย้มให้ฟังว่า มีแนวคิดที่จะนำแรงบันดาลใจจากน้องๆ มาพัฒนาเป็นตัวสินค้าจริง ซึ่งหากผลงานชิ้นไหนขายได้ ก็จะหักเงินให้กับเจ้าของไอเดีย ส่วนที่เหลือก็มอบคืนให้กับบ้านนนทภูมิอีกด้วย

“น้องๆ ไม่สามารถขายงานเองได้อยู่แล้ว เพราะเขาไม่ใช่แรงงาน แต่เขาถนัดที่จะทำอย่างสร้างสรรค์ หน้าที่ของพวกเราซึ่งเป็นคนครีเอทีฟ คือการนำไอเดียเหล่านั้นมาพัฒนาต่อยอดให้เป็นสินค้าที่น่าสนใจ และไปทำตลาดให้” เธอบอก

นั่นเองที่ทำให้ภูมิใจกลายเป็นโปรเจคที่ยิ่งสนุกไปกันใหญ่ โดยในอนาคตเพื่อให้โครงการยังทำหน้าที่ต่อไปได้ ก็มองที่จะพัฒนาเป็น “กิจการเพื่อสังคม” (Social Enterprise: SE) ที่หารายได้จากการจำหน่ายสินค้า ซึ่งมาจากไอเดียของน้องๆ 

“มองว่า กิจการเพื่อสังคม ใกล้เคียงกับสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ ประเด็นคือ เราอยากให้โครงการนี้ทำกำไรด้วยตัวเอง และยืนด้วยตัวเองได้ เพื่อที่จะช่วยเหลือน้องๆ ต่อไปเรื่อยๆ” เธอบอกเหตุผลที่เลือกใช้โมเดล กิจการเพื่อสังคม กิจการที่มีเป้าหมายทางสังคม และอยู่รอดได้ด้วยโมเดลธุรกิจ

ทุกครั้งที่ลงพื้นที่ จะมีเรื่องเล่าสนุกๆ กลับมาแบ่งปันให้เพื่อนในบริษัทอยู่เสมอ ค่อยๆ ก่อแรงจูงใจทางอ้อมชักชวนใครอีกหลายคนให้อยากลงพื้นที่กับพวกเขา เปลี่ยนการ “ให้” เป็น “ได้” ไม่มีใครเสียเปรียบใคร ใน ภูมิใจโปรเจค

“ตอนแรกทุกคนคิดเหมือนกันหมดว่า เรามีสถานะเป็นผู้ให้ แต่พอได้ลงไปทำจริงๆ กลับพบว่า เราต่างหากที่เป็นผู้รับจากพวกเขา”

เช่นเดียวกับ สิริภรณ์ ที่บอกเราว่า การแบ่งเวลาจากงานประจำ ลงไปทำกิจกรรมเพื่อสังคมทำให้เธอกลับมาเป็นคนใหม่ ที่เลิกตัดสินคนอื่น ด้วยมุมมองแคบๆ ของตัวเองเสียที

“ที่ผ่านมาชอบตัดสินคนอื่นว่า ทำไม่ได้หรอก ไม่มีความสามารถหรอก น้องคนนี้ทำงานนี้ไม่ได้หรอก ไม่ไว้ใจเขา สุดท้ายก็เอางานกลับมาทำเอง แต่พอได้มาเห็นน้องๆ ที่บ้านนนทภูมิ ทำให้กลับมามีมุมมองใหม่ว่า คนทุกคนอาจมีศักยภาพที่ทำอะไรได้มากกว่าที่เราคิดก็ได้” เธอบอกจุดเปลี่ยนในความคิด

“ภูมิใจโปรเจค” เป็นโปรเจคแห่งความภูมิใจ ของคนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่ง ที่ยืนหยัดจะสร้างความภูมิใจ และส่งต่อความรู้สึกนี้ไปยังผู้คนมากมายในสังคม เพื่อพิสูจน์ความเชื่อใหม่ว่า การจะทำดีเพื่อใครสักคน ไม่จำเป็นต้องรอให้รวยหรือว่าพร้อม ขอแค่ใจมุ่งมั่นที่จะทำ ก็เริ่มให้ได้ตั้งแต่วันนี้

“คนเรามักจะคิดว่า ถ้ายังช่วยตัวเองไม่ได้ คงช่วยใครไม่ได้หรอก คิดแต่ว่า ต้องรอรวยก่อน สบายก่อน ถึงจะให้ได้ แต่พอมาทำตรงนี้ถึงได้คำตอบว่า เราไม่จำเป็นต้องไปถึงจุดที่พร้อม แต่สามารถเป็นผู้ให้ได้ตั้งแต่วันนี้”

เหมือนที่ “ภูมิใจโปรเจค” ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้ว