ถอดรหัสนโยบาย‘ทรัมป์’ ลดความตึงเครียดเอเซีย

ถอดรหัสนโยบาย‘ทรัมป์’ ลดความตึงเครียดเอเซีย

ภายหลังชัยชนะของ นายโดนัล ทรัมป์ ตัวแทนจากพรรครีพับลิกัน ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา

หลายฝ่ายได้ออกมาแสดงความกังวลต่อท่าทีและนโยบาย“สุดโต่ง”ของว่าที่ผู้นำคนใหม่ ที่ถูกนำเสนอออกมาตลอดระยะเวลาของการหาเสียง ขณะที่ในภูมิภาคอาเซียน ก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะมีผลดี-ผลเสียอย่างไร เพราะดูเหมือนแทบจะไม่ถูกเอ่ยถึงตลอดระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา

0 ลดความตึงเครียดในเอเซีย

นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรี และประธานคณะมนตรีเพื่อสันติภาพและการปรองดองแห่งเอเชีย (APRC) มองว่าด้วยนโยบายของ ทรัมป์ จะทำให้การเผชิญหน้ากันระหว่างสหรัฐ จีน รัสเซียลดลง และน่าจะเป็นประโยชน์กับภูมิภาคเอเซีย เพราะจะทำให้ความตึงเครียดต่างๆ เช่น ปัญหาข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ตลอด 4-5 ปีที่ผ่านมาเบาบางลงไป 

รวมทั้งการที่แต่ละฝ่ายไม่ว่าจะเป็นจีน หรือสหรัฐ เคยแข่งขันกันในด้านความใกล้ชิดกับประเทศไทย และประเทศ อื่นๆ ในอาเซียน ก็เป็นการสร้างความกระอักกระอ่วนใจพอสมควรเพราะเราก็อยากสนิทกับทุกประเทศ ซึ่งเป็นนโยบายหลักด้านการต่างประเทศที่เราดำเนินมาตลอดกว่าร้อยปี

นโยบาย“อเมริกาเฟิร์ส” จึงน่าจะมีข้อดีอยู่บ้าง เพราะมุ่งไปที่การแก้ปัญหาอเมริกา ก่อนที่จะไปยุ่งกับใคร และคงยังไม่ถึงขึ้นถอนกำลังทหาร ออกจากฐานทัพในญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เพียงแต่อาจให้ภูมิภาคอาเซียนดูแลตัวเองมากขึ้น และจะไม่แสดงบทบาทด้านการทหารและการเมืองมากเหมือนเช่นที่ผ่านมา

"ความเป็นจริงแล้วประเทศในภาคพื้นเอเชียรวมถึงประเทศไทย ต้องการให้อเมริกาเข้ามามีบทบาทในทางเศรษฐกิจ แต่รัฐบาลอเมริกาปัจจุบัน อาจเรียกได้ว่าทำไม่เป็น การเข้ามาจึงกลับกลายเป็นการแสดงบทบาทด้านการทหารและการเมือง ทั้งๆ ที่เราไม่ต้องการเช่นนั้นเลย" 

ดังนั้นเมื่อ ทรัมป์ ลดบทบาทการทหารและการเมืองในภูมิภาคเอเชียลง ก็จะทำให้การเผชิญหน้าและความตึงเครียดระหว่างจีนกับอเมริกา รวมทั้งประเทศในเอเชีย ทั้งกลุ่มที่เข้าข้างจีนกับอีกกลุ่มที่เข้าข้างอเมริกา มีความตึงเครียดน้อยลงไปด้วย และอาจส่งผลให้บรรยากาศการทำธุรกิจดีขึ้น 

0 กระทบเศรษฐกิจไทยน้อย

นายสุรเกียรติ์ ยังมองถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศว่าประเทศไทยมีความสัมพันธ์กับสหรัฐ ผ่านประธานาธิบดีจากพรรครีพลับรีกัน และพรรคเดโมเครต มาหลายครั้ง และสามารถปรับตัวเข้าหากันได้เพราะพื้นฐานความเป็นมิตรกับสหรัฐ ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง การค้า การลงทุน ที่มีมาอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ผลกระทบด้านเศรษฐกิจจากนโยบายใหม่ของอเมริกา ประการแรกในภาพรวมของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงฮ่องกง น่าจะมีประเทศอื่น เขตเศรษฐกิจอื่นที่จะมีผลกระทบมากกว่า เพราะบางประเทศพึ่งพาตลาดของอเมริกามากกว่าไทย เช่น ฮ่องกง สิงคโปร์ เวียดนาม ดังนั้น หากเรามีการปรับนโยบาย ที่เน้นกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ตามที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศไว้ ก็เชื่อว่าเราจะได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อย 

ประการที่สอง ผลกระทบที่อาจเกิดจากการตอบโต้ด้านการค้า ซึ่งหลายคนหวั่นเกรงว่าสหรัฐจะมีนโยบายกีดกันทางการค้ามากขึ้น จากสิ่งที่ ทรัมป์ พูดไว้ว่าจะมีการติดตามค่าเงินของบางประทศ และการนำเข้าสินค้าโดยไม่ถูกหลักเกณฑ์ โอกาสที่ไทยจะถูกตอบโต้ทางการค้า เชื่อว่าอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าประเทศอื่น เพราะ บริษัทของไทยคงมีไม่มากนักที่จะมีการทุ่มตลาด ถึงขั้นก่อให้เกิดความเสียหายแก่สหรัฐ

0 ทรัมป์อาจไม่สานต่อ“ทีพีพี”

อีกนโยบายหนึ่งที่ถูกจับตามาก คือเรื่องความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership Agreement หรือ TPP) นายสุรเกียรติ์ มองว่านโยบายของทั้งนางฮิลลารี และทรัมป์ ไม่แตกต่างกัน และเชื่อว่าคงถูกชะลอไว้ก่อน เพราะทีพีพี คือการเปิดการค้าให้เสรีมากขึ้น แต่ถ้าอเมริกาต้องการคุ้มครองอุตสาหกรรมภายในประเทศก่อน การเดินหน้าเปิดเสรีให้สินค้าจากประเทศต่างๆ โดยเฉพาะจีน เข้าไปตีตลาดสินค้าในประเทศ น่าจะเป็นสิ่งที่สหรัฐไม่อยากทำ 

นายสุรเกียรติ์ อธิบายว่าแนวคิดเรื่อง ทีพีพี เกิดขึ้นมาด้วย 2 เหตุผลใหญ่ๆ ประการแรกจากนโยบายหลักของอเมริกาที่สนับสนุนการค้าเสรีอยู่แล้ว แม้จะไม่เคยเสรีได้จริงตามที่ประกาศไว้ก็ตาม ส่วนประการที่สอง เป็นเพราะอเมริกาต้องการดึงประเทศในเอเชียแปซิฟิค เข้าไปร่วมอยู่กับเขาให้มากที่สุด ซึ่งเป็นจุดยืนทางการเมืองเพื่อต้านจีน เพราะรู้ดีว่า จีนไม่สามารถเข้าร่วมได้ในช่วงเริ่มต้น จากข้อกำหนดว่าประเทศสมาชิกต้องมีนโยบายให้มีการแข่งขันภายในประเทศ (Competition Law) และต้องไม่มีปัญหาเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐบาล ในขณะที่จีนเป็น Central Plan Economy จึงเข้าร่วม ทีพีพี ไม่ได้ 

ขณะเดียวกันอเมริกายังเห็นเป็นโอกาสที่จะดึงประเทศต่างๆ ที่เป็นเพื่อนของจีนเข้ามาร่วมกับสหรัฐ และเป็นทางในการต้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียน หรืออาเซบ (RCEP: Regional Comprehensive Economic Partnership) ที่อาเซียนร่วมกับ จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ซึ่งสหรัฐเองก็ติดเงื่อนไขที่เข้าร่วมไม่ได้

"ทั้ง 2 กรณีเป็น สันกำแพงที่ยันแต่ละฝ่ายไว้ ทั้งทีพีพี ที่สหรัฐริเริ่มแต่จีนเข้าไม่ได้ และอาเซบที่จีนกับอาเซียนริเริ่ม แต่สหรัฐเข้าไม่ได้"

หาก ทรัมป์ ไม่สานต่อทีพีพี เอเชียก็ต้องมาคิดกันว่าเราจะให้อเมริกาเข้ามาพูดคุยกันในเรื่องความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวกับเขตการค้าเสรีกับเราหรือไม่อย่างไร และต้องรอว่าสหรัฐจะเอาด้วยหรือไม่ ซึ่งสุดท้ายสหรัฐอาจจะไม่พร้อมที่จะเปิดการค้าเสรีเลยก็เป็นได้ จากนโยยบายที่จะเน้นการค้าตลาดในอเมริกา เพื่อคุ้มครองผู้ผลิตภายในประเทศ

0 นโยบายในอดีตน่ากลัวกว่านี้

ด้านนโยบายต่างประเทศสุดโต่งของ ทรัมป์ นายสุรเกียรติ์ มองว่าเป็นเพียงการหาเสียง โดยเหตุผลที่เขาเติบโตมาจากความเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ ย่อมเข้าใจดีในเรื่องของโลกแห่งความเป็นจริง เมื่อมาเป็นประธานาธิบดี ก็ย่อมเข้าใจถึงข้อจำกัดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นข้อจำกัดจากทีมที่ปรึกษา จากหน่วยงานกระทรวง ทบวง กรม ที่อาจจะไม่ได้เห็นสอดคล้องกันหมด 

"ประธานาธิบดีสหรัฐ มีอำนาจมากก็จริง แต่ก็มีข้อจำกัดในการใช้อำนาจ นโยบายที่สุดโต่งของเขาอาจทำไม่ได้ รวมถึงการใช้อำนาจในประเทศเอง ก็ต้องถูกคานอำนาจจากสภาคองเกรส และวุฒิสภา แม้สมาชิกสภาคองเกรสหลังการเลือกตั้งที่ผ่านมาส่วนใหญ่เป็นเสียงจากพรรครีพลับรีกัน แม้การคานอำนาจในสภาจะอ่อนแอ แต่ยังมีศาล หรือจากความเห็นสาธารณะ(Public Opinion) ที่ยังคานอำนาจได้"

สำหรับกิจการที่เกี่ยวกับการต่างประเทศ เราก็เคยเห็นกรณีที่คนทั้งโลกไม่พอใจสหรัฐที่เอาแต่ใจตัวเอง แต่ไม่มีใครกล้าค้าน ขณะเดียวกันก็มีหลายเรื่องที่สหรัฐทำไม่สำเร็จ จากการที่ประเทศต่างๆ ไม่เอาด้วย อย่างกรณีที่มหาอำนาจทั้ง 5 ประกอบด้วยอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส จีน รัสเซีย แตกคอในเรื่องสงครามอิรัก 

ดังนั้น แม้สหรัฐจะเป็นมหาอำนาจ และสิ่งที่ ทรัมป์พูดจะดูน่ากลัว แต่เขาไม่สามารถทำได้หมดทุกอย่าง  และที่ผ่านมานโยบายต่างประเทศของอเมริกา มีอะไรที่น่ากลัวกว่านี้ด้วยซ้ำไป

นอกจากนี้สิ่งที่น่าสนใจจากการการเลือกตั้งของประเทศประชาธิปไตยแถวหน้า อย่างสหรัฐ ที่เกิดการประท้วงและจราจล ไม่ยอมรับผลคะแนน เป็นเรื่องที่ประเทศไทยน่าจะนำมาศึกษาว่าเขาจะแก้ปัญหาความขัดแย้ง ความเห็นต่างครั้งนี้ได้หรือไม่ อย่างไร?