การเลือกตั้งสหรัฐฯ: มองริชาร์ด นิกสันแล้วมองฮิลลารี คลินตัน

การเลือกตั้งสหรัฐฯ: มองริชาร์ด นิกสันแล้วมองฮิลลารี คลินตัน

ในเดือนพฤศจิกายน 1972 ริชาร์ด นิกสันกำหนดจะลงสนามแข่งขันชิงชัยเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯเป็นสมัยที่ 2 แบบมีผลงานเป็นประจักษ์อย่างชัดเจน

แต่ในกลางเดือนมิถุนายนปีเดียวกันนั้น ก็เกิดเหตุการณ์ที่รู้จักกันในเวลาต่อมาในชื่อคดีWatergate ที่เรียกว่าอื้อฉาวโด่งดังที่สุดในวงการการเมืองสหรัฐฯอย่างที่ไม่มีเรื่องราวไหนมาบดบังได้ทั้งก่อนหน้านั้นและหลังจากนั้นต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันนี้

                เรื่องราวของคดีที่เกิดขึ้นภายหลังมีการจับกุมชาย 5 คนในข้อหาลักลอบเข้าไปภายในอาคาร Watergate Complex ซึ่งเป็นที่ทำการใหญ่ของคณะกรรมการพรรคเดโมแครตในกรุงวอชิงตัน ดีซี ก่อนเรื่องจะแดงในเวลาต่อมาว่ากลายเป็นการลักลอบจารกรรมข้อมูลเพื่อมุ่งผลทางการเมืองสำหรับการเลือกตั้งในปลายปีนั้น โดยเฉพาะการหาข้อมูลว่า พรรคเดโมแครตได้รับการสนับสนุนด้านการเงินจากคอมมิวนิสต์คิวบา ศัตรูหมายเลขหนึ่งในลาตินอเมริกาสำหรับทำเนียบขาว ณ เวลานั้น    ซึ่งทีมงานพรรคริพับลิกันของประธานาธิบดีนิกสันหวังใช้เป็นไม้เด็ดพิชิตคู่แข่งต่างพรรค

                ทั้งนี้ ในช่วงระยะเวลา 4-5 เดือนข้างหน้าก่อนถึงวันเลือกตั้ง เป็นช่วงเริ่มต้นของการสอบสวนของ FBI และการขุดคุ้ยของสื่อต่างๆ คดี Watergate ย่อมส่งผลกระทบต่อประธานาธิบดีนิกสันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เหมือนเช่นที่ฮิลลารี คลินตันเผชิญกับข้อกล่าวหาเรื่อง "อีเมล์" ณ เวลานี้

                ข้อแตกต่างสำคัญก็คือ ช่วงระยะเวลานับตั้งแต่เกิดเหตุจนถึงวันเลือกตั้ง ยังไม่ปรากฏมีหลักฐานชี้ชัดว่าริชาร์ด นิกสันรับรู้ รู้เห็นหรือไฟเขียวให้มีการจารกรรมข้อมูลตั้งแต่ต้นหรือไม่ หรือเป็นเพียงแค่ระดับทีมงานที่วางแผนทำกันเองโดยตัวประธานาธิบดีไม่รู้เรื่องราว   ในขณะที่ฮิลลารี คลินตันถูกกล่าวหาโดยตรงว่าใช้อีเมล์ส่วนตัวในการติดต่อราชการ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดกฏหมาย เพราะทำให้ความมั่นคงของประเทศอยู่ตกอยู่ในความเสี่ยงมากๆ

                สอง ริชาร์ด นิกสันมั่นอกมั่นใจตั้งแต่แรกๆว่า ชนะเลือกตั้งตั้งแต่ยังไม่ถึงวันลงคะแนนเสียง เพราะคู่แข่งจากพรรคเดโมแครตนั้นอ่อนปวกเปียกเกินไป ไม่ใช่โดนัลด์ ทรัมป์ในวันนี้ที่สร้างแรงกดดันให้กับฮิลลารี คลินตันแบบหยุดหายใจไม่ได้เลย

                ในขณะเดียวกัน ก็ต้องถือเป็นความโชคดีบวกฝีมือในระหว่างทำหน้าที่ผู้นำประเทศสมัยแรกที่ทำให้ชาวอเมริกันเชื่อมั่นในตัวริชาร์ด นิกสันมากๆ เพราะผลงานความสำเร็จในนโยบายต่างประเทศเป็นสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การถอนทหารสหรัฐฯออกจากสงครามสงครามเวียดนาม และการเดินทางไปเยือนปักกิ่งครั้งประวัติศาสตร์ (เมื่อต้นปี 1972) เพื่อปลูกเมล็ดพันธุ์แห่งความเข้าใจอันดีระหว่างสหรัฐฯและจีน เป็นก้าวแรกของการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างสองมหาอำนาจ ถือเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงที่สังคมอเมริกันยอมรับ (จนเรียกว่าบดบังคดี Watergate ไปเลย) และเมื่อถึงวันเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน จึงพากันโหวตเลือกนิกสันให้ทำหน้าที่ต่อเป็นสมัยที่ 2 แบบแบบถล่มทลายเหมือนพายุทอร์นาโด กวาดคะแนนเสียงเรียบเกือบทุกรัฐ เหลือเพียงรัฐเดียวให้คู่แข่ง ชนะด้วยคะแนน 520 ต่อ 17 เสียงจนเป็นประวัติศาสตร์

                ในขณะเดียวกัน ปฏิเสธไม่ได้ว่าความอื้อฉาวของเรื่อง "อีเมล์" มีผลกระทบต่อเครดิตและความหวังของคลินตันอย่างมาก นับตั้งแต่วันที่ผู้อำนวยการใหญ่ของ FBI เปิดเผยเมื่อปลายเดือนที่แล้ว (ไม่ถึงสองอาทิตย์ก่อนถึงวันเลือกตั้ง) ว่าพบข้อมูลใหม่(โดยบังเอิญ) จนทำให้สถานการณ์ของคลินตันสวิงเปลี่ยนแปลงจากค่อนข้าง "นอนมา" กลายเป็น "หายใจรดต้นคอ" สูสีกับคู่แข่ง ก่อนที่บอสใหญ่ FBI จะกลับลำประกาศไม่ดำเนินการสอบสวนใดๆต่อเพราะไม่พบความผิด แต่แน่นอนที่สุดว่า ความเสียหายได้เกิดขึ้นต่อเครดิตของฮิลลารี คลินตันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

                ถึงแม้ว่า ฮิลลารี คลินตันจะเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศในยุคสมัยแรกของประธานาธิบดีบารัก โอบามา แต่ผลงานในด้านต่างประเทศตลอดระยะเวลาสี่ปีนั้น ถูกมองว่า หนักไปทาง "โบว์ดำ" มากกว่า "โบว์แดง" เทียบไม่ได้เลยกับริชาร์ด นิกสัน เรียกว่า ไม่มีผลงานด้านต่างประเทศที่โดดเด่นชัดเจนประทับใจชาวอเมริกันจนสามารถหักล้างความอื้อฉาวและคลุมเครือของเรื่อง "อีเมล์" ได้เลย

                สำหรับการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในวันนี้ แน่นอนที่สุดว่า ฮิลลารี คลินตันคงไม่อาจหาญกล้าพอที่จะวาดหวังว่า จะชนะอย่างถล่มทลายเหมือนที่ริชาร์ด นิกสันเคยทำได้เมื่อ 44 ปีที่แล้ว ขอเพียงให้ชนะได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ก็เพียงพอแล้ว

                หลังจากนั้น จะมีชะตากรรมเหมือนริชาร์ด นิกสันที่สุดท้ายจำใจต้องลาออกจากตำแหน่งในอีกสองปีต่อมา (ปี 1974) เพราะคดี Watergate หรือไม่นั้น ค่อยไปว่ากันอีกทีหนึ่ง